KTBST มอง SET สัปดาห์นี้ขึ้นเหนือ 1,550 จุดหลังรับข่าวลบไปมาก แนะหุ้นมีปัจจัยเด่น

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday May 22, 2017 09:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิน อุดมรัชตวนิชย์ ประธานกรรมการบริหาร บล.เคทีบี (ประเทศไทย) (KTBST) ประเมินทิศทางมองตลาดหุ้นไทยสัปดาห์นี้ (22-26 พ.ค. 60) ว่า ทิศทางมองตลาดอยู่ในช่วงของการรีบาวด์ เพราะตอบรับข่าวลบไปมาก และเห็นได้ว่าตลาดหุ้นไทยมีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นในช่วงปลายสัปดาห์ โดยหุ้นขนาดใหญ่ที่รายได้และกำไรยังดูดีอยู่ เป็น defensive หรือกลุ่มที่กำไรสวนทางกับภาวะเศรษฐกิจน่าจะยังดีต่อ ขณะที่หุ้นที่ราคาปรับตัวลงไปมากในช่วงสัปดาห์ก่อนจะเป็นเป้าของการเข้ามาเก็งกำไร ส่วนใหญ่จะเป็นหุ้นขนาดกลาง-เล็ก

ทั้งนี้ การตอบรับต่อข่าวเชิงลบต่อผลประกอบการและปัจจัยในต่างประเทศที่มีไปค่อนข้างมาก หากไม่ได้มีปัจจัยเชิงลบใหม่ๆเข้ามา กอรปกับดัชนีฯปรับตัวลงมามาก คาดว่าดัชนีฯ จะเริ่มทรงตัวหรือดีดตัวกลับขึ้นไปยืนเหนือระดับ 1,550 จุดได้อีกครั้ง และสัปดาห์ถัดไปทิศทางตลาดจะดีขึ้น แต่จะมีลักษณะเป็น sideway มากกว่า โดย event สำคัญจะเป็นตัวเลขส่งออกของไทย และตัวเลขการจ้างงานของสหรัฐฯ

ดังนั้น การรีบาวด์ของ SET Index เมื่อแตะ 1,531 จุด เป็นสัญญาณว่าตลาดยังมีแรงซื้อกลับ คาดกรอบดัชนีฯสัปดาห์นี้ 1,541-1,566 จุด ในการลงทุนแนะนำให้เปลี่ยนเป็น “ถือ"

สำหรับปัจจัยตัวแปรที่ตลาดให้ความสนใจในสัปดาห์นี้คือ โอกาสในการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ในการประชุม 14-15 มิ.ย.กลับมาสูงขึ้นอีกครั้ง (97% ; Bloomberg) รายงานประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟด (FOMC) 4 พ.ค. 60 ที่จะเปิดเผย 25 พ.ค. 60 จะเพิ่ม/ลดโอกาสในการปรับขึ้นดอกเบี้ย นอกจากนี้ ตลาดจะจับตาดูตัวเลขการจ้างงานที่จะรายงานในวันศุกร์หน้า (2 มิ.ย. 60) อีกด้วย ส่วนการทดลองขีปาวุธของเกาหลีเหนือเมื่อวันอาทิตย์ (21 พ.ค. 60) ไม่น่ามีผลต่อตลาด สินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำยังน่าจะเป็นตัวดึงดูดนักลงทุน แต่ในแง่ของตลาดหุ้นแล้ว เรามองว่าน่าจะเริ่มฟื้นตัวจากสัปดาห์

ขณะที่ทิศทางเศรษฐกิจไทยยังไม่ชัดเจนนักหลังจากภาพรวมเศรษฐกิจไตรมาส 1/60 รายงานที่ 3.3% แต่การลงทุนของภาครัฐฯ ในโครงการใหญ่ๆ ชะลอไปจากกำหนดเดิมอย่างน้อยราว 1 ไตรมาสและการที่รัฐฯไม่มีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ๆออกมา ขณะที่ตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ของระบบธนาคารพาณิชย์สูงขึ้นและการทยอยปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารต่างๆดูเป็นลบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจในไตรมาสต่อๆไป

ส่วนการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 24 พ.ค. 60 คาดว่าจะคงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 1.5% รวมถึงค่าเงินบาท 34.3 บาท/ดอลล่าร์ ค่าเงินบาทที่กลับมาแข็งค่าอีกครั้ง และจะแข็งต่อถ้า มีเงินไหลเข้ามาเก็งก่าไรในตลาด พันธบัตรจะเป็นลบต่อหุ้นที่มีรายได้เป็นเงินดอลล่าร์ สำหรับหุ้นที่เราคาดว่าอาจได้รับความสนใจจากนักลงทุนในวันนี้ (22 พ.ค. 60) เช่น BBL , BANPU , GFPT , BLA , KCAR , TACC , TICON


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ