PTTEP รุกแผนผลิตน้ำมันดิบ-คอนเดนเสท-ขายก๊าซฯเมียนมาเพิ่ม หวังรักษาเป้าปีนี้ 3.0-3.1 แสนบาร์เรล/วัน

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday May 22, 2017 11:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมพร ว่องวุฒิพรชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) กล่าวว่า บริษัทมั่นใจว่าจะสามารถรักษาเป้าปริมาณขายปิโตรเลียมในปีนี้ที่ระดับ 3.0-3.1 แสนบาร์เรล/วัน แม้จะได้รับผลกระทบจากความไม่แน่นอนของปริมาณการเรียกก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยของบมจ.ปตท. (PTT) ซึ่งเป็นผู้ซื้อก็ตาม โดยจะเพิ่มแผนการผลิตน้ำมันดิบบนบกในแหล่ง S1 และการผลิตคอนเดนเสทให้มากขึ้น ตลอดจนการเจรจาขายก๊าซฯจากแหล่งซอติก้า และยาดานา เข้าสู่ตลาดเมียนมาเพิ่ม เพื่อชดเชยผลกระทบจากปริมาณการขายก๊าซฯและรายได้จากก๊าซฯที่อาจจะลดลงในปีนี้ด้วย

สำหรับเป้าหมายปริมาณขายปิโตรเลียมที่ระดับ 3.0-3.1 แสนบาร์เรล/วันนี้ เป็นเป้าหมายที่ปรับใหม่จากเดิมเมื่อต้นปีคาดว่าปริมาณขายปีนี้จะอยู่ที่ 3.12 แสนบาร์เรล/วันทรงตัวเท่ากับปีที่แล้ว เนื่องจากไม่มีการผลิตจากแหล่งใหม่เพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม ช่วงสิ้นไตรมาส 1/60 บริษัทได้ปรับเป้าปริมาณขายลงเหลือระดับดังกล่าว เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการที่ผู้ซื้อเรียกรับก๊าซฯในอ่าวไทยลดลง

ในปีนี้วางเป้าหมายรักษาการผลิตน้ำมันดิบจากแหล่ง S1 ที่ระดับ 27,000 บาร์เรล/วันเท่ากับปีที่แล้ว แม้จะเป็นแหล่งผลิตเก่าที่มีอายุมากกว่า 30 ปี แต่บริษัทนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้เพิ่มประสิทธิภาพเพื่อเพิ่มการผลิตให้มากขึ้น จากช่วงก่อนที่จะเข้าซื้อแหล่งดังกล่าวเมื่อปี 47 มีการผลิตน้ำมันดิบ 17,600 บาร์เรล/วันเท่านั้น

ในอนาคตบริษัทยังมองศักยภาพที่จะสามารถเจาะหลุมสำรวจและผลิตน้ำมันดิบแหล่ง S1 เพิ่มขึ้นด้วย โดยอยู่ระหว่างเจรจากับกระทรวงพลังงานเพื่อให้ช่วยผลักดันการหาข้อยุติในการเข้าใช้พื้นที่ของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เนื่องจากพื้นที่ของแหล่ง S1 มีบางส่วนอยู่ในเขตพื้นที่ ส.ป.ก.

"ณ วันนี้ถ้าเราสามารถทำได้ให้อยู่ในระดับ 27,000-28,000 ต่อวันในแต่ละปีก็เป็นสิ่งที่ดี นับวันแหล่งน้ำมัน ซึ่งมีอายุผลิตมาตั้งแต่ปี 1983 ผลิตมานานมาก โดยทั่วไปแหล่งพวกนี้จะต้องลดลง วันนี้ที่เราโชว์ข้อมูลมาถ้าเราไม่ทำอะไรปล่อยให้ผลิตอย่างเดียวก็จะลดลง นั่นคือสิ่งที่เราจะต้องลงทุนเพิ่มเจาะหลุมใหม่...ตอนนี้การใช้ก๊าซฯจากอ่าวไทยมีผลกระทบจากราคา LNG spot ที่ถูก วิธีที่เราจะ compensate รายได้ของเราคือการผลิต liquid พวกคอนเดนเสท น้ำมัน เพราะพวกนี้มีเท่าไหร่ตลาดก็รับได้หมด การผลิตแหล่งน้ำมัน S1 ถ้าผลิตได้มากก็จะชดเชยรายได้ การผลิตก๊าซฯเราก็จะเลือกหลุมที่มีคอนเดนเสทมากเพื่อชดเชยที่รายได้ ก็เป็นการปรับตัว"นายสมพร กล่าว

สำหรับแหล่งน้ำมันนางนวลในอ่าวไทยนั้น อยู่ระหว่างศึกษาศักยภาพอย่างถี่ถ้วนในการดึงน้ำมันดิบออกมาใช้อีกครั้งหลังจากหยุดการพัฒนาไปก่อนหน้านี้ คาดว่าปีหน้าน่าจะมีความชัดเจนว่าจะเดินหน้าต่อหรือจะหยุดการลงทุน ซึ่งปัจจุบันก็ได้เตรียมเรื่องการศึกษาสิ่งแวดล้อมไปด้วย ขณะที่เบื้องต้นมองว่าราคาน้ำมันดิบที่กลับมายืน 50-60 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลก็น่าจะยังมีศักยภาพคุ้มค่าการลงทุน

นอกเหนือจากแหล่งน้ำมันและการผลิตคอนเดนเสทแล้ว บริษัทยังได้ศึกษาเพิ่มการผลิตก๊าซฯในแหล่งซอติก้าและยาดานาเพื่อนำออกมาขายในตลาดเมียนมาให้มากขึ้น จากปัจจุบันแหล่งซอติก้ามีปริมาณขายในเมียนมาราว 70-80 ล้านลูกบาศก์ฟุต (ลบ.ฟ.)/วัน และแหล่งยาดานา ขายในเมียนมา 145 ล้าน ลบ.ฟ./วัน โดยความต้องการในเมียนมาเพิ่มขึ้นก็พร้อมจะส่งก๊าซฯเพิ่มได้ทันที ซึ่งจะช่วยผลักดันให้ปริมาณขายรวมในปีนี้เป็นไปตามเป้าหมายของบริษัท เนื่องจากปริมาณขายปิโตรเลียมของบริษัทราว 90% มาจากแหล่งในเมียนมาและไทย

นายสมพร กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการ Cash Maple ซึ่งเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ในออสเตรลียว่า แหล่งดังกล่าวมีปริมาณสำรอง 3-4 ล้านล้าน ลบ.ฟ.(TCF) บริษัทได้เคยศึกษาการพัฒนาในรูปแบบเรือผลิตก๊าซฯ (FLNG) ซึ่งมีต้นทุนที่สูง ขณะที่ปัจจุบันเทคโนโลยี FLNG เพิ่มขึ้นเอื้ออำนวยที่จะกลับเข้าไปศึกษาเพื่อพัฒนาโครงการอีกครั้ง และยังมีความเป็นไปได้ที่จะหารือกับบริษัทน้ำมันในพื้นที่ที่มีสาธารณูปพื้นฐาน ที่อาจจะทำให้ผลิตป้อนให้กับบริษัทเหล่านั้นได้ ก็จะสามารถทำให้มีการประหยัดต่อขนาด (economy of scale)

"เราเริ่มคุยกับ oil company ที่อยู่ในพื้นที่ เพื่อหาความเป็นไปได้ในการพัฒนาแหล่ง Cash Maple และผลิตเป็น LNG ตอนนี้เราถือ 100% ก็ดูความเป็นไปได้ในการหาพันธมิตร เงินลงทุนก็เป็นระดับพันล้านเหรียญฯ แต่ตอนนี้ก็ยังเร็วเกินไปที่จะบอกว่า FID เมื่อไหร่"นายสมพร กล่าว

นายสมพร กล่าวว่า สำหรับโครงการที่อยู่ระหว่างการตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย (Final Investment Decision :FID) นั้น ปัจจุบันมีอยู่ 2-3 โครงการ ได้แก่ โครงการโมซัมบิก โรวูมา ออฟชอร์ แอเรีย วัน ซึ่งมีสัดส่วนถือหุ้น 8.5% เป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ ตั้งอยู่นอกชายฝั่งทะเลของโมซัมบิก คาดว่าน่าจะตัดสินใจ FID ได้ภายในปีนี้

ส่วนอีก 2 โครงการ คาดว่าจะ FID ภายใน 2 ปีนี้ คือ แหล่งอุบลในโครงการคอนแทร็ค 4 ซึ่งเป็นแหล่งน้ำมันที่บริษัทถือหุ้นอยู่ 60% และโครงการแอลจีเรีย ฮาสสิ เบอร์ ราเคซ มีสัดส่วนถือหุ้น 24.5% ซึ่งเป็นแหล่งน้ำมัน ตั้งอยู่บนบกทางทิศตะวันออกของแอลจีเรีย วางเป้าหมายกำลังการผลิตเต็มที่ราว 50,000 บาร์เรล/วัน แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่จะเริ่มผลิตในสัดส่วนที่น้อยก่อน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ