BJC คาดกระบวนการเพิกถอนหุ้น BIGC ออกจากตลาดแล้วเสร็จก.ย.,ตั้งเป้าหมายระยะกลางให้"มินิบิ๊กซี" ขึ้นอันดับ 2

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday June 2, 2017 18:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายรามี ปีไรเนน ผู้อำนวยการฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์ บมจ.เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC) คาดว่ากระบวนการเพิกถอน บมจ.บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ (BIGC) ออกจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) จะแล้วเสร็จภายในเดือนก.ย.นี้ ซึ่งบริษัทจะมีการจัดประชุมผู้ถือหุ้นในวันที่ 16 มิ.ย. 60 เพื่อขออนุมัติผู้ถือหุ้นในการทำคำเสนอซื้อหุ้น BIGC ในสัดส่วนที่เหลืออีก 2.0608% หรือคิดเป็นจำนวน 17 ล้านหุ้น ที่ราคา 225 บาทต่อหุ้น คาดว่าจะต้องใช้เงินจำนวน 3.8 พันล้านบาท ซึ่งมีแหล่งเงินทุนมาจากกระแสเงินสดในมือและเงินกู้ยืมจาสถาบันทางการเงิน

สำหรับวัตถุประสงค์การเพิกถอนหลักทรัพย์ BIGC ออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ เพราะปัจจุบันหุ้น BIGC มีสัดส่วนการถือหุ้นของผู้ถือหุ้นรายย่อย (Free Float) เพียง 2% ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯกำหนด ทำให้บริษัทต้องชำระค่าธรรมเนียมรายปีส่วนเพิ่มเมื่อมี Free Float ไม่ครบถ้วน จนกว่าบริษัทจดทะเบียนจะแก้ไขเหตุดังกล่าวได้ ซึ่งบริษัทมองว่าการเพิกถอนหลักทรัพย์ BIGC ออกจากตลาดหุ้นทำให้บริษัทไม่ต้องชำระค่าธรรมเนียมดังกล่าว

นายรามี กล่าวถึงแนวโน้มผลการดำเนินงานในปี 60 คาดว่ารายได้รวมจะสูงกว่าปีก่อนที่ 1.37 แสนล้านบาท จากการเติบโตของธุรกิจ BJC ทั้งในส่วนของธุรกิจบรรจุภัณฑ์ที่ตั้งเป้าเติบโต 5% ธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภคที่คาดว่าเติบโตในระดับตัวเลขสองหลัก และธุรกิจเวชภัณฑ์ที่คาดว่าจะเติบโตในระดับตัวเลขสองหลักเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ยังมีการรับรู้รายได้จากยอดขายของ BIGC ที่ปัจุบันมีสาขารวมกว่า 665 สาขาเข้ามาเต็มปี

ส่วนการลงทุนของธุรกิจ BIGC ในปีนี้ บริษัทวางแผนขยายสาขาบิ๊กซีในรูปแบบไฮเปอร์มาร์เก็ต เพิ่มอีก 9 สาขา ขยายสาขามาร์เก็ตเพิ่มอีก 2 สาขา และจะขยายสาขามินิบิ๊กซีเพิ่มอีก 200 สาขา โดยคาดว่าจะใช้เงินลงทุนทั้งสิ้น 7-8 พันล้านบาท สำหรับการขยายสาขาของบิ๊กซี

ขณะที่แนวโน้มอัตราการเติบโตของยอดขายสาขาเดิม (SSSG) คาดว่าทั้งปี 60 อาจจะยังติดลบ เนื่องจากในช่วงครึ่งปีแรกมีแนวโน้มติดลบจากภาวะกำลังซื้อในภาพรวมที่ยังคงชะลอตัว แต่มีการขยายตัวได้ในบางเดือนที่มีวันหยุดและเทศกาลเยอะ เช่นเดือนเม.ย. และพ.ค.แต่ในครึ่งปีหลังมองว่ามีโอกาสพลิกกลับมาเป็นบวกได้ 1-2% จากภาวะกำลังซื้อที่ค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้นตามการเติบโตของเศรษฐกิจไทย อีกทั้งในช่วงไตรมาส 4 จะเป็นช่วงไฮซีซั่นของธุรกิจที่ประชาชนมีการจับจ่ายใช้สอยกันมาก คาดว่าจะเห็นการเติบโตของยอดขายในช่วงดังกล่าวอย่างมีนัยสำคัญ

“ตอนนี้ภาพรวมของกำลังซื้อยังเห็นไม่ชัดว่าเจนว่าจะฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว แต่เป็นการค่อย ๆ ฟื้นตัวมากกว่า ซึ่งเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งเราก็คาดหวังในมุมองที่ดีว่าถ้ากำลังซื้อกลับมาดีขึ้นแล้ว ยอดขายของสาขาเดิมของ BIGC ควรที่จะเป็นไปตามภาวะของกำลังซื้อ แต่ยังคงต้องใช้เวลา"นายรามี กล่าว

ด้านแผนงานของการขยายมินิบิ๊กซี ได้ตั้งเป้าหมายที่จะขยายสาขาไม่ต่ำกว่าปีละ 200 สาขา โดยใช้เงินลงทุนเฉลี่ยต่อสาขาอยู่ที่ 4.5 ล้านบาท พร้อมกับวางเป้าหมายในระยะกลางจะผลักดันให้มินิบิ๊กซี มีส่วนแบ่งตลาดในธุรกิจร้านสะดวกซื้อเป็นอับดับสองของประเทศไทย โดยคาดว่าจะมีจำนวนสาขาไม่ต่ำกว่า 1 พันสาขา จากปัจจุบันมีจำนวนสาขาทั้งสิ้น 465 สาขา โดยสิ้นปีจะเพิ่มเป็น 665 สาขา

“ศูนย์กระจายสินค้าของ BIGC ตอนนี้สามารถรองรับสาขาทั้งหมดได้แล้ว 1,600-1,700 สาขา ซึ่งปัจจุบันเรามีสาขาของมินิบิ๊กซีเพียง 465 สาขาเท่านั้น เป้าหมายระยะกลางของเราก็อยากผลักดันให้ BIGC เป็น Strong Number 2 ของ Convenience Store ในไทย แต่คงยากที่จะไปเทียบเท่าเบอร์ 1 เพราะเขามีจำนวนสาขาที่มาก แต่หากเทียบกับ Family Mart ที่มีจำนวนสาขา 1,500 สาขา ก็มองว่าเราสามารถแข่งขันได้ในอนาคต"นายรามี กล่าว

ด้านการขยายสาขาในต่างประเทศของ BIGC ปัจุบันเตรียมที่จะเปิดสาขาไฮเปอร์มาเก็ตของบิ๊กซีในประเทศกัมพูชา ซึ่งมีกำหนดเปิดดำเนินการได้ภายในปี 61 และอยู่ระหว่างเตรียมเปิดสาขาไฮเปอร์มาเก็ตอีก 1 แห่ง ในประเทศลาว พร้อมกับจะเปลี่ยนชื่อร้านเอ็มพ้อยท์ ในประเทศลาวเป็นมินิบิ๊กซี เพื่อขยายฐานร้านสะดวกซื้อในประเทศเพื่อนบ้าน

ส่วนการลงทุนของ BJC นั้นคาดว่าการลงทุนเตาหลอมแก้วแห่งที่ 4 ในจังหวัดสระบุรี ขนาดกำลังผลิตราว 300 ตัน/วัน คาดว่าจะสามารถดำเนินการผลิตได้ในช่วงไตรมาส 4/60 และยังเตรียมก่อสร้างเตาหลอมแห่งที่ 5 กำลังการผลิต 400 ตัน/วัน ซึ่งคาดว่าจะเริ่มดำเนินการผลิตได้ในช่วงไตรมาส 2/61 โดยใช้เงินลงทุนกว่า 4 พันล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ