(เพิ่มเติม) รมว.พลังงาน เล็งเสนอหัวหน้า คสช.ใช้ ม.44 แก้ปมใช้พื้นที่ ส.ป.ก.ผลิตปิโตรเลียม หลังรัฐสูญรายได้กว่า 26 ลบ./วัน

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday June 7, 2017 15:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงาน กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหากรณีการใช้พื้นที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ในการประกอบกิจการปิโตรเลียมที่ต้องหยุดดำเนินการตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด โดยหากไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยกฎหมายปกติที่มีอยู่ก็จะพิจารณาว่ามีความจำเป็นต้องเสนอนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกคำสั่งตามมาตรา 44 เพื่อรองรับการใช้พื้นที่ ส.ป.ก.ดังกล่าวหรือไม่ โดยจะต้องเร่งหาข้อสรุปเรื่องดังกล่าวให้ได้ภายใน 1-2 วันนี้

รมว.พลังงาน กล่าวว่า การหยุดผลิตปิโตรเลียมของผู้ประกอบการที่ใช้พื้นที่ ส.ป.ก.ดังกล่าว กระทบต่อรายได้จากการผลิตปิโตรเลียมที่ต้องนำส่งภาครัฐ ซึ่งการหยุดผลิตปิโตรเลียมในแหล่ง S1 ของบมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) และแหล่งปิโตรเลียมอื่นที่ใช้พื้นที่ส.ป.ก. ทำให้ปริมาณการผลิตปิโตรเลียมหายไปรวมประมาณ 1.6 หมื่นบาร์เรล/วัน

เมื่อเร็ว ๆ นี้ PTTEP ได้หยุดผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่ส.ป.ก. ของโครงการ S1 เป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 3 มิ.ย.ที่ผ่านมา หลังกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้แจ้งให้ผู้รับสัมปทานบนบกทุกรายหยุดกิจกรรมการผลิตปิโตรเลียมที่มีการดำเนินการอยู่ในพื้นที่ส.ป.ก.เป็นการชั่วคราว เนื่องจากศาลปกครองปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 1 มิ.ย.60 ให้เพิกถอนระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เรื่องการให้ความยินยอมในการนำทรัพยากรธรรมชาติในเขตปฏิรูปที่ดินไปใช้ประโยชน์ตามกฎหมายอื่น

อนึ่ง โครงการ S1 ตั้งอยู่ในพื้นที่จ.สุโขทัย ,พิษณุโลก และกำแพงเพชร โดย PTTEP และบริษัท ปตท.สผ.สยาม จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ถือสัดส่วนโครงการ S1 จำนวน 100% มีปริมาณขายน้ำมันดิบเฉลี่ยปี 59 ที่ 27,351 บาร์เรล/วัน ,LPG ประมาณ 264 ตัน/วัน และก๊าซธรรมชาติประมาณ 21 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน

นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันมีบริษัทผู้รับสัมปทานปิโตรเลียมที่เข้าไปดำเนินการในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการขออนุญาตเข้าใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตพื้นที่ ส.ป.ก.และพื้นที่ป่าไม้ มีจำนวนทั้งสิ้น 7 บริษัท ซึ่งครอบคลุมพื้นที่การดำเนินงาน ดังนี้ 1. บริษัท ปตท.สผ.สยาม จำกัด แปลงสัมปทานในพื้นที่ จ.กำแพงเพชร จ.พิษณุโลก จ.สุโขทัย จ.อุตรดิตถ์ จ.พิจิตร 2.บริษัท ซีเอ็นพีซีเอชเค (ไทยแลนด์) จำกัด แปลงสัมปทานในพื้นที่ จ.กำแพงเพชร จ.สุโขทัย

3.บริษัท อีโค่ โอเรียนท์ รีซอสเซส (ประเทศไทย) จำกัด แปลงสัมปทานพื้นที่ จ.เพชรบูรณ์ 4. บริษัท พีทีทีอีพี เอสพี ลิมิเต็ด แปลงสัมปทานพื้นที่ จ.ขอนแก่น จ.อุดรธานี 5.บริษัท อพิโก้ (โคราช) จำกัด แปลงสัมปทานพื้นที่ จ.ขอนแก่น จ.อุดรธานี จ.กาฬสินธุ์ 6.บริษัท ทวินซ่า ออยล์ ลิมิเต็ต แปลงสัมปทานพื้นที่ จ.พิษณุโลก และ 7.บริษัท ย่านฉาง ปิโตรเลียม (ไทยแลนด์) จำกัด แปลงสัมปทานพื้นที่ จ.บุรีรัมย์

จากการหยุดการผลิตของบริษัทผู้รับสัมปทานดังกล่าว ส่งผลกระทบโดยตรงต่อปริมาณปิโตรเลียมที่ผลิตได้ในประเทศ ประเมินความเสียหายเบื้องต้น คือ น้ำมันดิบลดลง 16,000 บาร์เรล/วัน ก๊าซธรรมชาติลดลง 110 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ก๊าซธรรมชาติเหลวลดลง 100 บาร์เรล/วัน คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 47 ล้านบาท/วัน ทำให้รัฐสูญเสียรายได้ในรูปแบบค่าภาคหลวงและภาษีเงินได้ปิโตรเลียม กว่า 26 ล้านบาท/วัน และค่าภาคหลวงที่จะกระจายสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นลดลงไปกว่า 3.55 ล้านบาท/วัน

อย่างไรก็ตาม กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ มีความพยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยขณะนี้ได้ประชุมร่วมกับคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เพื่อหาแนวทางที่เหมาะสม โดยคำนึงถึงความจำเป็นเพื่อรักษาความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศเป็นหลักสำคัญโดยเร็วที่สุด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ