BCP หาพันธมิตรต่อยอดสินค้าเกษตรผลิตวัตถุดิบอุตฯเครื่องสำอาง-ยา-อาหารเสริม ปักธงตั้งใน EEC

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday June 15, 2017 15:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพ บมจ.บางจากคอร์ปอเรชั่น (BCP) กล่าวว่า บริษัทเตรียมหาพันธมิตรต่างประเทศเพื่อร่วมลงทุนผลิตภัณฑ์ที่ใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติต่อยอดจากสินค้าเกษตรทั้งมันสำปะหลัง อ้อย และปาล์มน้ำมัน โดยให้ความสนใจลงทุนผลิตวัตถุดิบเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง , ยา ,อาหารเสริม เป็นต้น เบื้องต้นคาดว่าจะดำเนินการสร้างโรงงานในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างของกลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพให้อยู่ภายใต้ บริษัท บีบีพี โฮลดิ้ง จำกัด (BBH) ที่เตรียมจะระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ในช่วงปี 61 รองรับการขยายลงทุนดังกล่าวที่คาดว่าจะต้องใช้เงินลงทุนหลายพันล้านบาท โดยคาดว่าการปรับโครงสร้างของธุรกิจจะแล้วเสร็จภายในไตรมาส 3/60

"เราอยากจะไปเป็นพวกสินค้าราคาสูงต่าง ๆ ที่เป็นการนำเข้าจากตลาดต่างประเทศ เราไม่ได้เรียกตัวเองว่า Biofuel เป็น Bio product เราพยายามจะต่อยอดทุกตัว ต่อยอดมัน ต่อยอดอ้อย ต่อยอดปาล์ม แล้วก็สนใจเรื่องเครื่องสำอาง เรื่องยา เรื่องอาหารเสริม food ingredient ที่ดี ๆ เราคงไม่อยากทำ local brand เราอยากทำ brand ดี ๆ เลย"นายเกียรติชัย กล่าว

นายเกียรติชัย กล่าวว่า บริษัทอยู่ระหว่างการพิจารณาเพื่อดำเนินโครงการซึ่งจะเริ่มต้นตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง เบื้องต้นจะเป็นการต่อยอดจากผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่แล้ว คือ ไบโอดีเซล และเอทานอล เพื่อให้ได้สินค้าที่จะใช้เป็นวัตถุดิบ (raw material) ก่อนจะนำไปผลิตเป็นสินค้าที่มีมูลค่าสูงขึ้นโดยผ่านนวัตกรรมใหม่ ๆ โดยเห็นว่าสินค้าจากกลุ่มปาล์มน่าจะเกิดขึ้นได้เร็วกว่ากลุ่มอื่น ขณะที่จำเป็นต้องหาพันธมิตรเพื่อเข้าร่วมในแต่ละโครงการ โดยมี BHH เป็นโฮลดิ้งที่จะเข้าไปร่วมดำเนิน

"จำเป็นต้องมี partner ที่เป็นอินเตอร์ เพราะเป็นนวัตกรรม ตรงกับไทยแลนด์ 4.0 ที่จะเอาพวก high value โรงงานพวกนี้มักอยู่ในเกาหลีและญี่ปุ่น และเราก็จะส่ง raw material ไปให้เขา เอาไปแยกแล้วเขาก็เอามาผสม ทำ packaging ดีๆแล้วก็กลับมาขายเราแพง ๆ คล้ายแบบนี้ เราก็จะยกโรงงานพวกนั้นมาไว้ในเมืองไทย โรงงานเราจะเป็นโรงงานที่ clean, packing โรงงานที่เป็น mix แบบนี้คือสิ่งที่กำลังจะเกิด ปาล์มอาจจะไปได้เร็วหน่อย หรือพวกมัน ก็จะไปได้ เพราะมันขายถูก เราก็เอามาต่อยอดดีกว่า value added พวกนี้มีเยอะ โรงงานอยู่ในต่างประเทศ ซื้อของเราไป เราก็คิดว่าทำไมแบบนี้คนไทยทำไม่ได้ คนไทยไม่รู้เทคโนโลยีจริง แต่ถ้าเราไปร่วมมือกับเขา สุดท้ายเราก็น่าจะทำได้ เราก็จะทำไปจนถึงจุดสุดท้าย ก็คิดว่าต้องมีหลายโรงงาน"นายเกียรติชัย กล่าว

นายเกียรติชัย กล่าวว่า การตั้งโรงงานในพื้นที่ EEC ซึ่งจะเป็นจุดที่ส่งออกได้ อีกทั้งยังได้สิทธิประโยชน์จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ตลอดจนสามารถตั้งโรงงานได้เร็วเพื่อรองรับนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ