(เพิ่มเติม) CHO ทยอยรับรู้ฯ E-Ticket ขสมก.ช่วงปี 61-65, ยันเข้าประมูลรถเมล์ NGV หากใช้ราคากลางเดิม

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday June 15, 2017 16:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุรเดช ทวีแสงสกุลไทย กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ช ทวี (CHO) คาดว่า จะสามารถทยอยรับรู้รายได้โครงการระบบบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์พร้อมอุปกรณ์ (E-Ticket) จากองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ได้ตั้งแต่ปี 61-65 หลังจากวันนี้ บริษัทได้ลงนามในสัญญาเช่าระบบ E-Ticket จำนวน 2,600 คัน กับ ขสมก.มูลค่าโครงการ 1,665,000,000 บาท ระยะสัมปทาน 5 ปี

"จะเริ่มรับรู้รายได้ในปี 61-65 จากเดิมที่คาดว่าจะเริ่มรับรู้รายได้ตั้งแต่ปีนี้ เนื่องจาก ขสมก.ขอปรับเปลี่ยนเงื่อนไขในสัญญา จากเดิมจะรับเงินหลังติดตั้งระบบบนรถเมล์ 200 คันแรก แต่เปลี่ยนเป็นชำระเงินให้หลังติดตั้งระบบเสร็จครบ 2,600 คันหรือหลังจากนี้ 330 วัน โดยจะได้รับเป็นค่าเช่ารายเดือน"

ในการประมูลงานในครั้งนี้บริษัทร่วมกับพันธมิตรอีก 4 ราย ได้แก่ บริษัท จัมป์ อัพ จำกัด, บริษัท เอเซนเทค(ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท เอ็มโอแอล เพย์เมนท์ จำกัด และ Tmoney จากประเทศเกาหลี ซึ่งแต่ละองค์กรมีความเชี่ยวชาญ ความสามารถเฉพาะทาง และมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการร่วมกันทำงานโครงการเช่าระบบบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์พร้อมอุปกรณ์ (E-Ticket) ประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ทุกประการ

“โครงการนี้จะมีการติดตั้งระบบ e-Ticket และเครื่องเก็บค่าโดยสาร หรือ Cash box ในรถโดยสารประจำทางของ ขสมก. จำนวน 2,600 คัน ตามมาตรฐานบัตรร่วมของกระทรวงคมนาคม ระยะเวลาสัมปทานเช่า 5 ปี ซึ่งทางกลุ่มฯ ได้คิดค้นเทคโนโลยีต่างๆ ให้เหมาะสมกับการใช้งานของคนกรุงเทพฯ เพื่อทำให้เกิดความสะดวกรวดเร็ว และประโยชน์สูงสุดแก่ทุกฝ่ายด้วย โดยภายในระยะเวลา 120 วัน นับถัดจากวันลงนามในสัญญา ต้องมีการติดตั้งระบบ e-ticket สำหรับรถโดยสารประจำทาง จำนวนไม่น้อยกว่า 100 คัน และ ภายใน 180 วัน ต้องติดตั้งรวม 800 คัน รวมถึงระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อให้ระบบ e-ticket สามารถใช้งานได้ตั้งแต่อุปกรณ์บนรถโดยสารประจำทาง ระบบสารสนเทศที่เขตการเดินรถที่ส่วนกลางของ ขสมก. และกระทรวงคมนาคม" นายสุรเดช กล่าว

นายสุรเดช กล่าวว่า บริษัทจะเข้าร่วมประมูลรถเมล์ NGV จำนวน 489 คันที่ราคากลางเดิม 4,021 ล้านบาท แต่หากมีการปรับราคากลางไปเป็นราคาที่บริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด เคยประมูลได้ที่ 3,389 ล้านบาท หรือต่ำลง 600 กว่าล้านบาทจากราคากลาง บริษัทคงไม่สามารถยื่นประมูลได้ เพราะมองว่าเป็นราคาที่ไม่มีใครทำได้ หรือหากจะทำได้ก็คงเป็นการขายตัวรถให้อย่างเดียวไม่สามารถดูแลซ่อมบำรุงได้ ซึ่งก็จะผิดเงื่อนไขสัญญา

"บริษัทอยู่ในตลาดหลักทรัพย์คงทำไม่ได้ และเป็นการทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนด้วยเพราะรถจะไปเสียกลางทางแล้วไม่มีคนดูแล"นายสุรเดช กล่าว

ขณะที่บริษัทจะเข้าร่วมประมูลโครงการรถเมล์ไฟฟ้า 200 คันด้วยเช่นกัน โดยขณะนี้มีซัพพลายเออร์จากประเทศจีนมาหารือด้วย ซึ่งรถเมล์ไฟฟ้าราคาเฉลี่ย 12-15 ล้านบาท/คัน สาเหตุที่มีราคาแพงเนื่องจากราคาแบตเตอรี่ค่อนข้างสูง

นายสุรเดช กล่าวว่า ในปีนี้บริษัทจะมีกำไรจากการที่ขาดทุนสะสมจะหมดไปและคาดว่าจะสามารถจ่ายปันผลได้ในปีหน้า โดยกำไรจากการผลิตจะอยู่ที่ประมาณ 20% ส่วนการซื้อมาขายไปจะมีกำไรอยู่ที่ประมาณ 3-5% ซึ่งตอนนี้งานซื้อมาขายไปค่อนข้างมาก

ขณะที่ทั้งปีคาดว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 5-6% จากปีก่อน โดยเริ่มเห็นรายได้เข้าในช่วงครึ่งปีหลังจากที่มีการส่งมอบงาน เช่น ตะวันออกกลาง เวียดนาม และงานในประเทศส่วนหนึ่ง และยังมีงานที่รอประมูลของ บมจ.การบินไทย (THAI) มูลค่า 140 ล้านบาท, งานตะวันออกกลางประมาณ 300 ล้านบาท, รถเมล์ NGV ขสมก.และงานกองทัพด้านยุทโธปกรณ์ประมาณ 200 ล้านบาท ซึ่งจะเห็นผลในช่วงครึ่งปีหลัง ปัจจุบันมีมูลค่างานในมือ (Backlog) ประมาณ 600 ล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ