(เพิ่มเติม1) "บี.กริม เพาเวอร์"กำหนดช่วงราคา IPO ที่ 15.0-16.5 บาท/หุ้น ระดมทุนขยายงาน,คาดปีนี้ PPA เพิ่มราว 500 MW

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday June 20, 2017 17:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.บี.กริม เพาเวอร์ แจ้งเพิ่มเติมข้อมูลในแบบแสดงรายการข้อมูล (ไฟลิ่ง) ที่ยื่นต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กำหนดช่วงราคาเสนอขายหุ้นให้กับประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 716.9 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 15.0-16.50 บาท คิดเป็นมูลค่าการเสนอขายราว 10,753.50-11,828.85 ล้านบาท หวังนำเงินมาระดมทุนรองรับการขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ที่มีอยู่ในมือแล้ว ขณะที่คาดว่าปีนี้จะมี PPA เพิ่มอีกราว 500 เมกะวัตต์ (MW)

ทั้งนี้ บริษัทจะเสนอขายหุ้น IPO สำหรับบุคคลทั่วไป กรรมการ และผู้บริหารของบริษัท และผู้มีอุปการคุณ ในวันที่ 3-6 ก.ค.60 และเสนอขายสำหรับนักลงทุนสถาบัน รวมถึงผู้ลงทุนในต่างประเทศ และนักลงทุนสถาบันที่เป็น Cornerstone Investors ผ่านผู้ซื้อหุ้นเบื้องต้นในต่างประเทศ (Initial Purchasers) วันที่ 11-13 ก.ค.60 ซึ่งผู้จองซื้อหุ้นจะต้องจองซื้อในราคาเสนอขายสูงสุดที่หุ้นละ 16.50 บาท ขณะที่คาดว่าจะประกาศราคาเสนอขายสุดท้ายได้ในวันที่ 7 ก.ค.60 ก่อนจะนำหุ้นเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ในราววันที่ 19 ก.ค.60 ซึ่งคาดวาจะใช้ชื่อย่อ "BGRIM"

สำหรับหุ้น IPO จำนวนไม่เกิน 716.9 ล้านหุ้น จะแบ่งเป็นการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุน ไม่เกิน 651.8 ล้านหุ้น และหุ้นจัดสรรหุ้นส่วนเกินไม่เกิน 65.1 ล้านหุ้น โดยจะเสนอขายหุ้นให้กับผู้ลงทุนในประเทศ 55.1%, ผู้ลงทุนต่างประเทศ 44.5% และ กรรมการและผู้บริหารของบริษัท 0.4%

ผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่ายหุ้น IPO ประกอบด้วย บล.กสิกรไทย บล.บัวหลวง และ บล.ภัทร

นางปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บี.กริม เพาเวอร์ กล่าวว่า หุ้นที่เสนอขาย IPO ของบริษัทนับว่าได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุนเป็นอย่างมาก ทั้งกลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศและต่างประเทศ โดยบริษัทได้ลงนามสัญญาลงทุนในหุ้นกับนักลงทุนสถาบันที่เป็น Cornerstone Investors แล้ว 3 ราย ได้แก่ สถาบันการเงินที่มีชื่อเสียงระดับสากลอย่าง Asian Development Bank (ADB) , บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต และบมจ.ไทยประกันชีวิต ซึ่งได้ตกลงจองซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนที่เสนอขายเป็นจำนวนรวม 201 ล้านหุ้น หรือคิดเป็นราว 30% ของจำนวนหุ้น IPO หรือราว 7-8% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดของบริษัท

บริษัทเตรียมที่จะนำเสนอข้อมูลให้กับนักลงทุน (โรดโชว์) ในประเทศในวันที่ 26 มิ.ย.นี้ หลังจากนั้นระหว่างวันที่ 27 มิ.ย.-6 ก.ค.จะเดินสายโรดโชว์ต่างประเทศ ใน 4 ประเทศ ได้แก่ ฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซีย และกรุงลอนดอน ของอังกฤษ

"เราเป็นตัวจริงในธุรกิจนี้ นี่คือข้อแตกต่างจากรายอื่น...การทำ IPO ครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญที่จะสนับสนุนการดำเนินงานของ บี.กริม เพาเวอร์ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการมีกำลังการผลิตไฟฟ้าจำนวน 5,000 เมกะวัตต์ เพื่อป้อนเข้าสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ"นางปรียนาถ กล่าว

ปัจจุบัน บี.กริม เพาเวอร์ ลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าจำนวนทั้งสิ้น 43 โครงการ ได้แก่ โรงไฟฟ้าที่เปิดให้ดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้ว 28 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้งรวม 1,626 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 5 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้งรวม 419.1 เมกะวัตต์ และโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนาอีก 10 โครงการ กำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งรวม 338.5 เมกะวัตต์ รวมเป็นทั้งสิ้น 2,357 เมกะวัตต์ ภายในปี 64 ขณะที่มีแผนจะขยายเข้าสู่เป้าหมายมีกำลังผลิตไฟฟ้าในมือ 5,000 เมกะวัตต์ในระยะ 4-5 ปีข้างหน้า

นางปรียนาถ กล่าวว่า สำหรับในช่วง 5 ปี (ปี 60-64) มีโรงไฟฟ้าทยอยเปิดให้ดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) 15 โครงการ ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังน้ำ เซน้ำน้อย 2-เซกะตำ 1 ในลาว ขนาดรวม 20 เมกะวัตต์ คาดว่าจะ COD ภายในสิ้นเดือน ก.ค. 60 ขณะที่จะมีโรงไฟฟ้าที่ COD ในปี 61 รวม 414 เมกะวัตต์ ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม ABPR3 ABPR4 และ ABPR5 ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ กำลังการผลิตรวม 399 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังน้ำ น้ำแจ 1 ในลาว กำลังการผลิต 15 เมกะวัตต์

โรงไฟฟ้าที่จะ COD ในปี 62 ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังน้ำ น้ำคาว 1-5 ใน สปป.ลาว กำลังการผลิตรวม 68 เมกะวัตต์ ,ปี 63 ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังงานลม บ่อทอง 1 และ 2 กำลังการผลิตรวม 16 เมกะวัตต์ และปี 64 ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม BGPR1 และ BGPR2 ในนิคมอุตสาหกรรม วี.อาร์.เอ็ม. กำลังการผลิตรวม 240 เมกะวัตต์

นอกจากนี้ บริษัทยังมีโครงการผลิตไฟฟ้าที่อยู่ในแผนแต่ยังไม่ได้รับสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังน้ำเซกอง 4 ในลาว ขนาดประมาณ 350 เมกะวัตต์ ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการเจรจาเสนอขายไฟฟ้าแล้ว รวมถึงแผนที่จะเข้าลงทุนในโครงการ SPP Hybrid Firm และธุรกิจติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป บนหลังคาโรงงานลูกค้าของบริษัท พร้อมเทคโนโลยี Energy Storage เพื่อช่วยลดความต้องการใช้ไฟฟ้าในช่วงความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (peak) รวมถึงโครงการโซลาร์ฟาร์มสำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร ระยะที่ 2

ตลอดจนยังเตรียมความพร้อมที่จะพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้า SPP ซึ่งมีกำลังการผลิตไฟฟ้าโรงละ 140 เมกะวัตต์ เพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าเดิมอีก 3 โครงการที่จะหมดอายุ ตลอดจนศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศมาเลเซีย และการผลิตไฟฟ้าในประเทศกัมพูชา รวมถึงประเทศอื่น ๆ ในอาเซียนอีกด้วย

ด้านนายสมเกียรติ พงศ์ปิยะไพบูลย์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ พัฒนาธุรกิจและการพาณิชย์ ของ บี.กริม เพาเวอร์ คาดว่าปีนี้บริษัทจะได้รับสัญญา PPA เข้ามาเพิ่มเติมอีกราว 500 MW โดยโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเซกอง 4 ขนาด 350 เมกะวัตต์ ซึ่งจะขายไฟฟ้ากลับมายังไทยจะสามารถเซ็นสัญญา PPA ได้ใน 1-2 เดือนนี้ ,โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำทัดสะกอย ในลาว ขนาด 30 เมกะวัตต์ ขณะนี้ได้ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ EDL ในลาวแล้ว และอยู่ระหว่างการเจรจาสัญญาสัมปทานกับรัฐบาลลาว คาดว่าจะสรุปได้ใน 1-2 เดือนเช่นกัน ,โครงการโซลาร์ฟาร์มสำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร ระยะที่ 2 ซึ่งเบื้องต้นได้เข้าร่วมกับองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก จำนวน 8 โครงการ รวม 37.6 เมกะวัตต์ โดยในส่วนนี้คาดว่าจะได้สัญญาแน่นอน 24 เมกะวัตต์ ขณะเดียวกันยังมีโอกาสที่จะได้ร่วมสนับสนุนกลุ่มสหกรณ์เข้าร่วมเป็นเจ้าของโครงการอีก 75 โครงการ เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมองโอกาสการเข้าลงทุนในโครงการโซลาร์รูฟท็อปเสรีที่รัฐบาลจะเปิดรับซื้อในอนาคต ตลอดจนโครงการโซลาร์รูฟท็อปบนหลังคาโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม รวมถึงโครงการโซลาร์มฟาร์มในมาเลเซีย โครงการผลิตไฟฟ้าในเมียนมา และเวียดนาม เป็นต้น ทำให้คาดว่าเป้าหมายกำลังการผลิตไฟฟ้าในมือที่ตั้งไว้ 5,000 เมกะวัตต์จะทำได้ในเวลาไม่นาน

ส่วนโครงการพัฒนาโรงไฟฟ้า SPP จำนวน 3 โรง ขนาดกำลังการผลิตราว 140-150 เมกะวัตต์/โรง ซึ่งจะเข้ามาทดแทนโรงไฟฟ้าเดิมที่จะหมดอายุในช่วงปี 62-65 นั้น บริษัทคาดว่าจะเซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้าใหม่กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ภายใน 1-2 เดือนข้างหน้า โดยในส่วนนี้จะเสนอขายให้ กฟผ. 30 เมกะวัตต์ ส่วนที่เหลือจะเสนอขายให้กับลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งปัจจุบันมีลูกค้าอยู่จำนวนหนึ่งแล้ว โดยขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการประมูลหาผู้รับเหมาก่อสร้างในโครงการ SPP ทดแทน 3 โรง พร้อมกับโครงการ SPP ใหม่อีก 2 โรง ซึ่งมีกลุ่มจีอี และซีเมนส์ เสนอราคาเข้ามาด้วยต้นทุนที่ลดลงกว่าที่บริษัทเคยพัฒนาโครงการ SPP ในรุ่นแรก ๆ ขณะที่เครื่องกำเนิดไฟฟ้ามีประสิทธิภาพมากกว่าเดิมค่อนข้างมาก

ทั้งนี้ ปัจจุบันบริษัทมีโครงการ SPP ในมือทั้งสิ้น 18 โรง และเชื่อว่าในอนาคตเมื่อโครงการหมดสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ.ก็เชื่อว่ารัฐบาลจะให้มีการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้า SPP ทดแทนต่อไป แม้ปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าอาจจะลดลงจากเดิม แต่บริษัทก็มีกลุ่มลูกค้าในนิคมฯซึ่งมีการขยายงานต่อเนื่องรองรับอยู่แล้ว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ