KTBST คาดหุ้นไทยสัปดาห์นี้ยังทรงตัวให้กรอบ 1,573-1,596 จุด แรงซื้อต่างชาติแผ่ว

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday June 26, 2017 09:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิน อุดมรัชตวนิชย์ ประธานกรรมการบริหาร บล.เคทีบี (ประเทศไทย) (KTBST) ทิศทางตลาดหุ้นสัปดาห์สุดท้าย (26-30 มิ.ย.) ของไตรมาสที่สองแรงซื้อขายของนักลงทุนสถาบันในประเทศจะเป็นตัวแปรสำคัญของตลาด เพราะแรงซื้อของนักลงทุนต่างประเทศดูจะแผ่วลงไปเงินที่ไหลเข้าในประเทศ ส่วนใหญ่ไปอยู่ในตลาดพันธบัตร และส่งผลตามมาคือ เงินบาทแข็งค่าขึ้นมาอีกระลอกหนึ่ง ดัชนีฯจะแกว่งตัวในลักษณะของ sideway ตลาดมีปัจจัยที่รอคอยหลายตัว อาทิ ตัวเลขเศรษฐกิจ และความคืบหน้ากฎหมายด้านสุขภาพของสหรัฐฯ ขณะที่ราคาน้ำมัน แม้จะมี rebound แต่มีความผันผวนสูง

ปัจจัยในประเทศ ตัวแปรด้านเศรษฐกิจดีขึ้น แต่มีความพะวงต่อผลประกอบการอยู่บ้าง การเข้าซื้อหุ้นของนักลงทุนจึงเลือกเล่นเพียงบางตัวและการซื้อขายจะเบาบางลงในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา คาดว่าจากนักลงทุนสถาบันผ่อนแรงซื้อ-ขายลง แม้ว่าดัชนีฯ ยังมีแนวโน้มสูงขึ้นได้ แต่ด้วยกรอบแนวต้านด้านบน ที่ยังเหลืออีกไม่มากนัก การเข้าลงทุนยังต้องเป็น “selective buy" หรือรอขายเมื่อดัชนีฯเคลื่อนตัวขึ้นเหนือ 1,590 จุดเป็นต้นไป เพราะตลาดขยับตัวน้อยและเปลี่ยนตัวเล่นอยู่ตลอดเวลา

นอกจากนี้ ควรให้ความสนใจกับค่าดอลลาร์และผลตอบแทนพันธบัตร (Bond Yield) เนื่องจากเป็นตัวชี้นำการโยกย้ายเงินลงทุน สัปดาห์นี้ยังแนะนำคงเงินสดในพอร์ตไว้ 30% เน้นหุ้นเสี่ยงต่ำ, หุ้นอิงรายได้จากการลงทุนภาครัฐฯ และหุ้นที่มีปัจจัยบวกเฉพาะตัว นอกจากนี้ นักวิเคราะห์น่าจะประเมินกำไรของหุ้นบางกลุ่มได้แล้วว่าผลประกอบการไตรมาส 2/60 จะออกมาแนวไหน อาทิ กลุ่มธนาคาร และกลุ่มน้ำมัน-ปิโตรเคมี เป็นต้น

สำหรับหุ้นแนะนำเชิงกลยุทธ์ ได้แก่ BCH , JWD , PTTGC, BEM, GPSC, WICE, WHA, ATP30 หุ้นแนะนำเชิงเทคนิคได้แก่ FSMART , COM7 ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวที่ 1,573-1,596 จุด

ปัจจัยที่ควรติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ปัจจัยเรื่องตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ และนโยบายนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ได้แก่ การรายงานคำสั่งซื้อสินค้าคงทน (28 มิ.ย.) ตัวเลขการค้าระหว่างประเทศ (28 มิ.ย.) และตัวเลขเศรษฐกิจ (GDP) ไตรมาส 1/6 (29 มิ.ย.) คาดว่าจะออกมาที่ 1.2% QoQ และนโยบายด้านสุขภาพของทรัมป์ เริ่มส่งสัญญาณการผลักดันนโยบาย affordable care อีกครั้ง โดยความชัดเจนจะเกิดขึ้นในอาทิตย์หน้า หากนโยบายดังกล่าวสามารถผ่านสภาฯได้ ขั้นตอนถัดไปคือการผลักดันนโยบายปฏิรูปภาษี ซึ่งจะส่งผลให้ตลาดสหรัฐกลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้ง

ขณะเดียวกัน เรื่องที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะลดขนาดสินทรัพย์สร้างความหวั่นไหวให้กับตลาด KTBST ประเมินว่า นักลงทุนกำลังรอดูว่า Fed จะเริ่มดำเนินการจริงเมื่อใด คืนวันศุกร์ที่ผ่านมา ประธานเฟดสาขาเซนต์หลุยส์ เปรยว่าน่าจะมีความชัดเจนในเรื่องดังกล่าว ในการประชุม FOMC วันที่ 19-20 ก.ย. เชื่อว่าในระหว่างที่รอคอย ทำให้นักลงทุนยังไม่มีการขยับตัวมาก คือ ไม่ซื้อ-ไม่ขาย ดังนั้นสัปดาห์นี้ อาจต้องรอฟังความเห็นของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเฟดที่จะมีการขึ้นกล่าวสุนทรพจน์หลายงาน สำคัญที่สุดจะเป็น นางเจเน็ต เยลเลน ประธานเฟด (27) ที่กรุงลอนดอน

ด้านราคาน้ำมันดิบ ด้วยความกังวลต่อภาวะ oversupply ประเมินว่าราคาน้ำมันดิบ WTI สัปดาห์นี้ ว่ามีโอกาสรีบาวน์ ขึ้นไปถึง $45 เหรียญ หุ้นกลุ่มน้ำมัน-โรงกลั่นน้ำมัน จะยังมีกรอบการเคลื่อนไหวที่จำกัด แต่จะเป็นบวกต่อผู้ใช้น้ำมัน อย่างเช่น สายการบิน ปิโตรเคมี หรือผู้ผลิตที่ราคาวัตถุดิบอิงกับราคาน้ำมัน

ส่วนปัจจัยในประเทศ ตัวเลขส่งออกไทยที่ออกมาดี และได้แรงกระตุ้นภาครัฐฯ การที่ตัวเลขส่งออกของไทย เดือน พ.ค. ขยายตัวถึง 13.2% และงวด 5 เดือนขยายตัว 7.2% บวกกับความพยายามของรัฐฯที่เข็นนโยบายและผลักดันโครงการลงทุนต่างๆให้มีความคืบหน้า ส่งผลบวกด้านจิตวิทยาต่อตลาดหุ้นไทยที่จะลดความกังวลต่อแนวโน้ม GDP หลังภาครัฐฯชะลอการกระตุ้นเศรษฐกิจมาระยะหนึ่ง และเห็นการชะลอตัวของกำไรหุ้นที่อิงกับภาวะเศรษฐกิจ และแรงหนุนภาครัฐฯ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ