ทริสฯ คงอันดับเครดิตองค์กรและแนวโน้ม RATCH ที่ “AAA/Stable"

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday June 29, 2017 13:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ. ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง (RATCH) ที่ระดับ “AAA" ซึ่งสะท้อนถึงสถานะผู้นำของบริษัทในการเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ที่สุดในประเทศ รวมถึงการมีกระแสเงินสดที่แน่นอนจากการลงทุนในโรงไฟฟ้าต่าง ๆ ซึ่งมีผู้ซื้อไฟฟ้าที่มีฐานะทางการเงินที่มีความน่าเชื่อถือสูง และความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นอกจากนี้ การประเมินอันดับเครดิตดังกล่าวยังพิจารณาถึงแผนการลงทุนที่ระมัดระวังและสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งของบริษัทด้วย

บริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้งเป็นบริษัทโฮลดิ้งที่ลงทุนในธุรกิจผลิตไฟฟ้าและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง โดยบริษัทก่อตั้งและจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2543 เพื่อซื้อโรงไฟฟ้าราชบุรีจาก กฟผ. และ กฟผ. เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทในสัดส่วน 45%

ณ เดือนมีนาคม 2560 บริษัทลงทุนในโรงไฟฟ้าต่าง ๆ โดยมีกำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นรวม 7,013 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นกำลังการผลิตรวมจากโรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินการแล้ว 6,496 เมกะวัตต์ และส่วนที่เหลืออีก 517 เมกะวัตต์มาจากโรงไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างการพัฒนาและก่อสร้าง บริษัทถือเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ที่สุดในประเทศด้วยกำลังการผลิตขนาด 5,704 เมกะวัตต์ที่จ่ายเข้าสู่ระบบไฟฟ้าของประเทศ โดยคิดเป็นสัดส่วนกำลังการผลิตประมาณ 14% ของกำลังการผลิตติดตั้งของทั้งประเทศ

บริษัทมีสถานะทางธุรกิจที่เข้มแข็ง โดยโรงไฟฟ้าแต่ละแห่งที่บริษัทลงทุนมีโครงสร้างการลงทุนที่แข็งแกร่ง และโรงไฟฟ้าทั้งหมดมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับผู้ซื้อที่มีความน่าเชื่อถือทางการเงินสูงซึ่งช่วยลดความเสี่ยงด้านการตลาดให้แก่บริษัท ณ เดือนมีนาคม 2560 กำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นประมาณ 5,643 เมกะวัตต์ หรือประมาณ 87% ของกำลังการผลิตที่ดำเนินงานแล้วของบริษัทมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ. และอีก 33 เมกะวัตต์มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ส่วนที่เหลืออีก 820 เมกะวัตต์นั้นส่วนใหญ่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับกลุ่มลูกค้าบริษัทสาธารณูปโภคต่าง ๆ

ประสบการณ์ของบริษัทในด้านการบริหารโครงการและการดำเนินงานโรงไฟฟ้ายังมีส่วนช่วยให้โครงการลงทุนต่าง ๆ ทั้งในด้านการพัฒนาโครงการและการดำเนินงานนั้นเป็นไปตามเป้าหมายและมีความราบรื่นซึ่งก่อให้เกิดกระแสเงินสดที่แน่นอน นอกจากนี้ บริษัทยังมีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับ กฟผ. โดยนอกจากจะเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทแล้ว กฟผ. ยังเป็นผู้ซื้อไฟฟ้ารายใหญ่ของบริษัท อีกทั้งยังเป็นผู้ให้บริการดำเนินงานโรงไฟฟ้าที่สำคัญของบริษัท เช่น โรงไฟฟ้าราชบุรี โรงไฟฟ้าหงสา และโรงไฟฟ้าน้ำงึม 2 อีกด้วย

บริษัทมีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งโดยมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) (ปรับปรุงด้วยการรับชำระคืนเงินต้นของสัญญาเช่าทางการเงิน) ประมาณ 11,000-13,000 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2555-2559 โดยส่วนมากมาจาก บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรี จำกัด (ได้รับอันดับเครดิตระดับ "AAA" จากทริสเรทติ้ง) โครงการโรงไฟฟ้าหงสาได้เริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ในช่วงปี 2558-2559 โดยเพิ่มกำลังการผลิตให้แก่บริษัทได้ 751 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็นประมาณ 12% ของกำลังการผลิตติดตั้งที่ดำเนินงานแล้วของบริษัท จากปัญหาทางเทคนิคทำให้ส่วนแบ่งกำไรจากโรงไฟฟ้าหงสาต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ในช่วงปีแรกของการดำเนินงาน โรงไฟฟ้าหงสาค่อย ๆ พัฒนาความมั่นคงในการดำเนินงานมากขึ้นโดยลำดับหลังจากที่สามารถระบุปัญหาทางเทคนิคดังกล่าวได้แล้ว ซึ่งคาดว่าโรงไฟฟ้าหงสาจะสามารถเพิ่มส่วนแบ่งกำไรให้แก่บริษัทได้ประมาณ 1,200-1,600 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2560-2562 ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบจากผลกำไรจากโรงไฟฟ้าราชบุรีที่ลดลงได้

บริษัทมีโครงสร้างเงินทุนที่แข็งแกร่ง โดย ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2560 บริษัทมีเงินกู้รวม 24,530 ล้านบาท และมีอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนที่ 27.8% นอกจากนี้ บริษัทยังมีสภาพคล่องที่แข็งแกร่ง โดย ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2560 บริษัทมีเงินสดและเงินลงทุนระยะสั้นจำนวน 16,092 ล้านบาท ซึ่งเงินจำนวนนี้เมื่อรวมกับประมาณการ EBITDA ที่ระดับ 11,000-12,000 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2560-2562 แล้วเพียงพอสำหรับการชำระหนี้และลงทุนตามสัดส่วนสำหรับโครงการที่มีภาระผูกพัน บริษัทมีภาระเงินกู้ที่จะต้องชำระคืนมูลค่า 2,600 ล้านบาทในปี 2561 และมีหุ้นกู้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มูลค่าประมาณ 10,800 ล้านบาทที่จะต้องไถ่ถอนในปี 2562 ในช่วงเดือนเมษายนถึงมิถุนายน 2560 ที่ผ่านมา บริษัทได้ประกาศการลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมที่ประเทศอินโดนีเซียและบรรลุข้อตกลงและลงนามในสัญญาทางการเงินสำหรับโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ Collinsville ในประเทศออสเตรเลีย รวมถึงการลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลืองในประเทศไทย ซึ่งทั้ง 3 โครงการนี้จะเพิ่มกำลังการผลิตให้แก่บริษัทอีก 360 เมกะวัตต์

ดังนั้น กำลังการผลิตรวมของบริษัทจึงเพิ่มขึ้นเป็น 7,373 เมกะวัตต์ ณ เดือนมิถุนายน 2560 บริษัทมีภาระผูกผันสำหรับการลงทุนในช่วงปี 2560-2562 มูลค่าประมาณ 21,000 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม Mount Emerald ในประเทศออสเตรเลีย โรงไฟฟ้าพลังงานน้ำเซเปียนเซน้ำน้อยในประเทศลาว โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม Riau ในประเทศอินโดนีเซีย โครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศจีน และโครงการลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลืองในประเทศไทย โดยที่บริษัทยังคงหาโอกาสในการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศต่อไป ดังนั้น บริษัทอาจจะต้องกู้เงินสำหรับการลงทุนใหม่ ๆ ดังกล่าว อย่างไรก็ตาม คาดว่าอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทจะอยู่ในระดับไม่เกิน 40% ในช่วงปี 2560-2562

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงความคาดหมายว่าบริษัทจะได้รับกระแสเงินสดที่แน่นอนจากการลงทุนในโรงไฟฟ้าที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว และคาดว่าบริษัทจะมีอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนอยู่ในระดับ 20%-40% เมื่อพิจารณาจากแผนการเติบโตและการลงทุนของบริษัทดังกล่าว

ทั้งนี้ ปัจจัยในเชิงลบที่จะมีต่ออันดับเครดิตของบริษัทอาจเกิดขึ้นหากบริษัทมีภาระหนี้เพิ่มขึ้นอย่างมากจากการกู้เงินเพื่อซื้อกิจการขนาดใหญ่ อีกทั้งผลการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าสำคัญ ๆ ของบริษัทที่ต่ำกว่าคาดอย่างมีนัยสำคัญก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะมีผลกระทบต่ออันดับเครดิตของบริษัทด้วยเช่นกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ