ฟิทช์ จัดอันดับเครดิต WHAUP เป็นครั้งแรกที่ ‘BBB+(tha)’ แนวโน้มเครดิตเป็นลบ

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday July 19, 2017 17:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศจัดอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-Term Rating) ให้กับ บมจ.ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์แอนด์ พาวเวอร์ (WHAUP) เป็นครั้งแรกที่ ‘BBB+(tha)’ แนวโน้มเครดิตเป็นลบ ในขณะเดียวกัน ฟิทช์ได้ประกาศจัดอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิและไม่มีหลักประกัน จำนวนไม่เกิน 4 พันล้านบาท ครบกำหนดไถ่ถอนในปี 2563 ที่ ‘BBB+(tha)’ เงินที่ได้รับจากการออกหุ้นกู้ดังกล่าวจะนำไปชำระภาระเงินกู้บางส่วนที่มีกับธนาคาร

WHAUP มีสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่ง ฟิทช์คาดว่ากระแสเงินสดจากการดำเนินงานของบริษัทฯ จะเพิ่มขึ้นจากความต้องการของลูกค้าที่เพิ่มขึ้นและการเติบโตของเงินปันผลรับที่มีความแน่นอนจากการเงินลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าของบริษัทฯ อย่างไรก็ตาม ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สิน ของ WHAUP จะยังคงอยู่ในระดับปานกลางในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า เนื่องจากเงินลงทุนที่น่าจะยังคงอยู่ในระดับสูงในช่วงเวลาดังกล่าว

ทั้งนี้ อันดับเครดิตของ WHAUP ที่ ‘BBB+(tha)/Negative’ ถูกจำกัดโดยอันดับเครดิตของบริษัทแม่ ซึ่งได้แก่ บมจ.ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น (WHA) ซึ่งได้รับการจัดอันดับเครดิตที่ ‘BBB+(tha)’ แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ เนื่องจากบริษัททั้งสองมีความเชื่อมโยงกันในระดับสูง

หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิและไม่มีหลักประกันของ WHAUP ได้รับการจัดอันดับเครดิตในระดับเดียวกับอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของบริษัทฯ เนื่องจากฟิทช์คาดว่าหนี้สินของบริษัทฯที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจะเป็นหนี้สินที่ไม่มีหลักประกัน แทนที่จะเป็นหนี้สินที่มีหลักประกันเช่นเดียวกับเงินกู้ธนาคารที่มีอยู่เดิม ซึ่งในสัญญาเงินกู้ธนาคาร ธนาคารมีข้อตกลงที่จะดำเนินการปลดหลักประกันของเงินกู้ที่มีกับธนาคารทั้งหมดก่อนที่บริษัทฯจะออกหุ้นกู้

สำหรับปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต ประกอบด้วย สถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่ง: WHAUP ได้รับประโยชน์จากความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจที่ต่ำ จากสภาวะการแข่งขันในตลาดที่จำกัด และการมีรายได้ที่มีความสม่ำเสมอจากสัญญาระยะยาวกับลูกค้า ความต้องการของลูกค้าที่ค่อนข้างมีความแน่นอนและสม่ำเสมอช่วยให้ WHAUP มีรายได้ที่มีความสม่ำเสมอและคาดการณ์ได้ ในขณะที่อัตราส่วนกำไรต่อรายได้ (Operating Margin) อยู่ในระดับค่อนข้างคงที่ เนื่องจากบริษัทสามารถปรับค่าบริการตามต้นทุนที่เปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งทำให้ WHAUP สามารถผลักภาระต้นทุนที่สูงขึ้นไปยังลูกค้าได้ นอกจากนี้ WHAUP ยังเป็นผู้ให้บริการน้ำเพียงรายเดียวในนิคมอุตสาหกรรมต่างๆที่ดำเนินการโดย บมจ.เหมราชพัฒนาที่ดิน หรือ Hemaraj ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทฯ

การเติบโตของรายได้: ฟิทช์คาดว่ารายได้ของ WHAUP จะเพิ่มขึ้นอย่างมากในปี 2560 และ 2561 เนื่องจากความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้น จากการเริ่มดำเนินงานของผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPPs) ในพื่นที่ที่บริษัทฯให้บริการ รวมถึงการเพิ่มขึ้นของอัตราค่าบริการในช่วงเวลาดังกล่าว นอกจากนี้ ความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้นยังเป็นผลมาจากการขายที่ดินที่เพิ่มขึ้นในนิคมอุตสาหกรรมของ Hemaraj ซึ่งลูกค้าที่เป็นผู้ประกอบการรายใหม่ในนิคมอุตสาหกรรมก็จะเป็นลูกค้าที่ใช้บริการน้ำของ WHAUP ด้วย

เงินปันผลรับที่เพิ่มขึ้นจากกิจการร่วมค้า: ฟิทช์คาดว่า WHAUP จะได้รับเงินปันผลจากการลงทุนในธุรกิจโรงไฟฟ้าจำนวน 1.2 - 1.3 พันล้านบาทต่อปี ในช่วงปี 2560 และ 2561 (ปี 2559 อยู่ที่ 657 ล้านบาท) โดยมีปัจจัยหลักมาจากการเริ่มผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าใหม่ที่ WHAUP ถือหุ้นอยู่ในช่วงเวลาดังกล่าว ฟิทช์เห็นว่าปันผลรับจากกิจการร่วมค้าดังกล่าว ค่อนข้างคาดการณ์ได้ เนื่องจากรายได้ส่วนใหญ่ของธุรกิจมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยรองรับอยู่

ความเสี่ยงด้านปริมาณการใช้น้ำ: รายได้ของ WHAUP มีความเสี่ยงในด้านปริมาณการใช้น้ำ เนื่องจากสัญญาซื้อขายน้ำไม่ได้กำหนดปริมาณขั้นต่ำที่ลูกค้าต้องใช้ ดังนั้นการลดลงของปริมาณการใช้น้ำจากการเปลี่ยนแปลงในกิจกรรมการผลิตของลูกค้าอาจทำให้รายได้ของบริษัทฯลดลง อย่างไรก็ตาม ฟิทช์ เชื่อว่าความเสี่ยงนี้อยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้เนื่องจาก WHAUP มีฐานลูกค้าที่หลากหลายและลูกค้าหลักของบริษัทฯน่าจะเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีซึ่งจะมีความต้องการใช้น้ำที่ค่อนข้างสม่ำเสมอและแน่นอน ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา ปริมาณการขายน้ำและบำบัดน้ำเสียทั้งหมดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปียกเว้นปี 2558 ซึ่งลดลงเพียงร้อยละ 0.7 ในขณะที่โดยรวมแล้วปริมาณการให้บริการน้ำมีการเติบโตโดยเฉลี่ยสะสมที่ร้อยละ 4 ต่อปี

การลงทุนสูง: อัตราส่วนหนี้สินในระดับปานกลาง: ฟิทช์คาดว่ากระแสเงินสดสุทธิ (Free Cash Flow) ของ WHAUP นจะเป็นลบในปี 2560 และ 2561 เนื่องจากการลงทุนที่สูงในช่วงเวลาดังกล่าว กระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (Fund Flow From Operation, FFO) ของบริษัทฯที่ประมาณ 1.6 พันล้านบาทต่อปี อาจจะไม่เพียงพอสำหรับเงินลงทุน และการจ่ายเงินปันผลในช่วงเวลาดังกล่าว อย่างไรก็ตามการเติบโตของ FFO จะช่วยให้บริษัท สามารถรักษาระดับอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO-Adjusted Net Leverage) ให้อยู่ในระดับปานกลาง 3.8-4.4 เท่าได้ ในช่วง 3 ปีข้างหน้า

อันดับเครดิตถูกจำกัดด้วยอันดับเครดิตของบริษัทแม่: สถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งและสถานะทางการเงินในระดับปานกลาง ส่งผลให้ WHAUP มีอันดับเครดิตโดยลำพัง (Standalone Rating) อยู่ที่ A-(tha) ซึ่งสูงกว่าอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของบริษัทฯ อันดับเครดิตภายในระยะยาวของบริษัทฯสะท้อนถึงความเชื่อมโยงในด้านการดำเนินงานและในเชิงกลยุทธ์กับบริษัทแม่ซึ่งได้แก่ WHA ซึ่งอยู่มีอันดับเครดิตที่ BBB+(tha)/แนวโน้มเครดิตเป็นลบ อันดับเครดิตของ WHAUP จึงถูกจำกัดโดยอันดับเครดิตของบริษัทแม่ตามหลักเกณ์การจัดอันดับเครดิต Parent and Subsidiary Linkage Criteria ของฟิทช์ โดยทั้งสองบริษัทถือว่ามีความเชื่อมโยงกันอยู่ในระดับสูงจาก สัดส่วนการถือหุ้นที่มีอำนาจควบคุมของ WHA ใน WHAUP และความสามารถในควบคุมนโยบายทางธุรกิจและการเงิน ตลอดจนการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์และการลงทุนโดยรวมของ WHAUP

สถานะทางธุรกิจของ WHAUP มีความแข็งแกร่งเมื่อเทียบกับบริษัทที่ฟิทช์มีการจัดอันดับเครดิตในประเทศไทยรายอื่นๆ ลักษณะของรายได้และกระแสเงินสดจากการดำเนินงานของ WHAUP มีความใกล้เคียงกับบริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (A+(tha)/Stable) ซึ่งดำเนินการให้บริการเติมน้ำมันอากาศยานในท่าอากาศยานหลักของประเทศ, บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) (A+(tha)/Stable) ซึ่งเป็นบริษัทผลิตไฟฟ้าและไอน้ำขนาดกลาง และ บริษัท บีทีเอสกรุ๊ปโฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) (A(tha)/ RWN) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ บริษัทเหล่านี้มีของรายได้ที่สม่ำเสมอและแน่นอน และสามารถคาดการณ์ได้ เนื่องจากมีการแข่งขันในระดับที่ต่ำ ความต้องการใช้บริการที่สม่ำเสมอและแน่นอน หรือ มีรายได้ที่สม่ำเสมอจากสัญญาระยะยาว อย่างไรก็ตามอันดับเครดิตโดยลำพังที่ ‘A-(tha)’ ของ WHAUP นั้นอยู่ในระดับต่ำกว่าอันดับเครดิตของบริษัทเหล่านี้ เนื่องจาก WHAUP มี อัตราส่วนหนี้สิน (Financial Leverage) ที่สูงกว่า

การจัดอันดับเครดิตของ WHAUP นั้นถูกจำกัดโดยอันดับเครดิตของบริษัทแม่ WHA ซึ่งมีอันดับเครดิตที่ต่ำกว่าที่ BBB+(tha)/แนวโน้มเครดิตเป็นลบเนื่องจากการเชื่อมโยงกันที่อยู่ในระดับสูงระหว่างบริษัททั้งสอง โดยการเชื่อมโยงกันที่สูงมาจากจากสัดส่วนการถือหุ้นที่มีอำนาจควบคุมของ WHA ใน WHAUP และความสามารถของ WHA ในการควบคุมนโนบายทางธุรกิจของ WHAUP รวมถึงสิทธิในการออกเสียงในการประชุมผู้ถือหุ้น, การเลือกตั้งกรรมการบริษัท, การจ่ายเงินปันผล, การตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ และ การลงทุนโดยรวม

สมมุติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ

  • รายได้จากธุรกิจน้ำเติบโตร้อยละ 19 -22 ต่อปีในปี 2560 และ 2561 จากการเติบโตของความต้องการใช้น้ำและการเพิ่มขึ้นของอัตราค่าบริการ
  • อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย และค่าเช่า ต่อรายได้ (EBITDAR margin) อยู่ที่ประมาณร้อยละ 41 ในปี 2560 และ 2561
  • เงินปันผลที่จะได้รับจากการการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าจำนวน 1.2 -1.3 พันล้านบาทต่อปีในปี 2560 และ 2561
  • เงินลงทุนอยู่ที่ 500-600 ล้านบาทต่อปีในปี 2560 และ 2561 และภาระผูกพันในการลงทุนในธุรกิจไฟฟ้า 1.5 พันล้านบาทในปี 2560 และ 313 ล้านบาทในปี 2561
  • การลงทุนเพิ่มเติมในธุรกิจใหม่ทั้งด้านสาธารณูปโภคและธุรกิจไฟฟ้า 4 - 5 พันล้านบาทในช่วงปี 2560-2564
  • อัตราการจ่ายเงินปันผลร้อยละ 40 ของกำไรสุทธิ ยกเว้นปี 2560 ที่จะไม่มีการจ่ายเงินปันผล

ขณะที่ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคตต่อ WHAUP ปัจจัยบวก ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงอันดับเครดิตในทางบวกของ WHA ในขณะที่ความเชื่อมโยงระหว่าง WHA กับ WHAUP ไม่เปลี่ยนแปลง, ความเชื่อมโยงระหว่าง WHA กับ WHAUP ที่ลดลง ในขณะที่อันดับเครดิตโดยลำพังของ WHAUP ไม่เปลี่ยนแปลง

ส่วนปัจจัยลบ ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงอันดับเครดิตในทางลบของ WHA ในขณะที่ความเชื่อมโยงระหว่าง WHA กับ WHAUP ไม่เปลี่ยนแปลง

ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตของ WHA ตามประกาศของฟิทช์ ลงวันที่ 18 เมษายน 2017 มีดังนี้

ปัจจัยบวก

  • อัตราส่วนหนี้สินรวมที่วัดจากหนี้สินที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO-Adjusted Net Leverage) อยู่ในระดับต่ำกว่า 5.5 เท่าอย่างต่อเนื่อง

ปัจจัยลบ

  • การลงทุนเป็นจำนวนมาก การจ่ายเงินปันผลในจำนวนที่สูง หรือรายได้และอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย ที่ต่ำกว่าที่คาด ซึ่งส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินรวมที่วัดจากหนี้สินที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO-Adjusted Net Leverage) ไม่น่าจะลดลงมาอยู่ในระดับต่ำกว่า 5.5 เท่าได้อย่างต่อเนื่องจากปี 2561 เป็นต้นไป

สภาพคล่องอยู่ในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้: ณ สิ้นปี 2016 บริษัทฯ มีหนี้สินรวม 1.05 หมื่นล้านบาท โดยมีส่วนที่เป็นหนี้สินระยะสั้นประมาณ 2.5 พันล้านบาท ซึ่งบริษัทฯได้ทำการชำระคืนแล้วหลังจากที่บริษัทฯได้รับเงินจากการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนครั้งแรกในเดือนเมษายน 2560 โดย บริษัทฯ มีแผนจะ ออกหุ้นกู้ใหม่ในไตรมาส 3 ปี 2560 นี้เพื่อไปชำระคืนเงินกู้กับธนาคารบางส่วน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ