ฟิทช์ จัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ 1 หมื่นลบ. ของ PTTGC ที่ "AA(tha)"

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday July 24, 2017 17:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) ระยะยาวที่ ‘AA(tha)’ ให้กับหุ้นกู้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิของ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC (ซึ่งมีอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ ‘AA(tha)’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ)

หุ้นกู้ของ PTTGC ครั้งที่ 1/2560 ซึ่งมีมูลค่ารวมไม่เกิน 1.0 หมื่นล้านบาท อายุไม่เกินสี่ปี ได้รับการจัดอันดับเครดิตในระดับเดียวกันกับอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ PTTGC เงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ครั้งนี้จะนำไปใช้สำหรับเป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ ชำระคืนหนี้ที่ครบกำหนด และใช้สำหรับการลงทุนในอนาคต

ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต

ความยืดหยุ่นทางการเงินในการรักษาอัตราส่วนหนี้สินให้สอดคล้องกับอันดับเครดิตลดลง: ฟิทช์คาดว่าแผนการลงทุนของบริษัทฯ ในปี 2560-2564 น่าจะปรับเพิ่มขึ้นอย่างมาก เนื่องจากบริษัทฯ น่าจะอนุมัติการลงทุนในโครงการใหญ่สองโครงการ ซึ่งได้แก่ โครงการ Map Ta Phut Retrofit และโครงการ PO/Polyol รวมถึงการเข้าซื้อหุ้นบริษัทปิโตรเคมีจาก บมจ. ปตท. (อันดับเครดิตที่ ‘AAA(tha)’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทฯ ที่เพิ่งแล้วเสร็จไปเมื่อเดือนกรกฎาคม 2560

ฟิทช์คาดว่า อัตราส่วนหนี้สินของ PTTGC โดยคำนวณจากอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดที่ได้จากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของสินทรัพย์และหนี้สินจากการดำเนินงาน (FFO-adjusted net leverage) จะ เพิ่มขึ้นไปที่ระดับ 1.4 ถึง 1.6 เท่าในปี 2560-2562 จากระดับ 1.1 เท่าในปี 2559 ก่อนที่จะลดลงหลังจากปี 2562 ซึ่งจะทำให้บริษัทฯ เผชิญกับความท้าทายในการรักษาอัตราส่วนหนี้สินในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า

กระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่แข็งแกร่ง: กระแสเงินสดจากการดำเนินงานของ PTTGC มีขนาดใหญ่กว่า และมีความผันผวนน้อยกว่าเมื่อเทียบกับบริษัทในธุรกิจการกลั่นน้ำมันและปิโตรเคมีในประเทศไทยที่ฟิทช์จัดอันดับเครดิต เนื่องจากบริษัทฯ มีขนาดธุรกิจที่ใหญ่กว่า และมีการผลิตปิโตรเคมีที่มากกว่า ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีอัตราส่วนกำไรที่สูงกว่าธุรกิจการกลั่นน้ำมัน รวมถึงการได้รับประโยชน์จากการที่บริษัทฯ มีสัญญาการจัดหาวัตถุดิบระยะยาวกับ ปตท. ฟิทช์คาดว่ากระแสเงินสดจากการดำเนินงานของ PTTGC จะเพิ่มขึ้นในปี 2560-2564 เนื่องจากกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นทั้งในผลิตภัณฑ์เดิมและผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ โดยกระแสเงินสดจากการดำเนินงานน่าจะปรับเพิ่มขึ้นอย่างมากในปี 2563-2564 เมื่อโครงการ Map Ta Phut Retrofit และโครงการ PO/Polyol เริ่มดำเนินการ

การผลิตที่ครบวงจรและต้นทุนการผลิตที่ต่ำ: บริษัทฯ เป็นผู้ดำเนินธุรกิจปิโตรเคมีและโรงกลั่นน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยมีการผลิตต่อเนื่องครบวงจรตั้งแต่การกลั่นน้ำมันไปจนถึงการผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี บริษัทฯ มีความหลากหลายของผลิตภัณฑ์และวัตถุดิบรวมถึงการได้รับประโยชน์จากการมีขนาดการผลิตที่ใหญ่ นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีความได้เปรียบในเรื่องต้นทุนการผลิตเนื่องจากวัตถุดิบหลักที่ใช้ในการผลิตโอเลฟินส์ได้แก่ก๊าซธรรม ชาติซึ่งจัดหาได้จากภายในประเทศและมีราคาถูกกว่าวัตถุดิบประเภทอื่นเช่น แนฟทา ซึ่งความได้เปรียบนี้จะเพิ่มมากขึ้นเมื่อราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้น บริษัทฯ ยังได้รับประโยชน์จากการที่บริษัทฯ มีสัญญาการจัดหาวัตถุดิบระยะยาวกับ ปตท. ซึ่งช่วยลดความผันผวนของส่วนต่างระหว่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบได้

ความผันผวนตามวัฏจักรของธุรกิจ: อันดับเครดิตของบริษัทฯ ถูกลดทอนจากความผันผวนของราคาผลิตภัณฑ์ตามวัฎจักรของธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่นน้ำมันรวมถึงราคาน้ำมันดิบ ซึ่งส่งผลให้อัตราส่วนกำไรและกระแสเงินสดจากการดำเนินงานของบริษัทฯ มีความผันผวน

ความเชื่อมโยงกับ ปตท.: อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ PTTGC ได้มีการพิจารณารวมถึงการปรับอันดับเครดิตขึ้นหนึ่งอันดับจากอันดับเครดิตของบริษัทฯ เมื่อพิจารณาตัวบริษัทฯโดยลำพัง (Standalone Rating) การปรับดังกล่าวเป็นการสะท้อนความสัมพันธ์ในด้านการดำเนินงานและความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ของบริษัทฯ กับ ปตท. ทั้งนี้ ผลประโยชน์ที่บริษัทฯ ได้รับจาก ปตท. บางส่วนเช่น การจัดหาวัตถุดิบก๊าซ ได้สะท้อนอยู่ในอันดับเครดิตของบริษัทฯ โดยลำพังอยู่แล้ว

การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป

          สถานะทางเครดิตโดยลำพัง (Standalone Credit Profile) ของ PTTGC ที่ ‘AA-(tha)’ สะท้อนถึงขนาดธุรกิจและการผลิตปิโตรเคมีที่ใหญ่ของบริษัทฯ รวมถึงต้นทุนการผลิตที่ต่ำเนื่องจากการใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี     สถานะทางธุรกิจของ PTTGC แข็งแกร่งที่สุดเมื่อเทียบกับบริษัทในธุรกิจการกลั่นน้ำมันและปิโตรเคมีในประเทศไทยที่ฟิทช์จัดอันดับเครดิต และมีอัตราส่วนหนี้สินที่ต่ำเมื่อเทียบกับคู่แข่งดังกล่าว PTTGC มีขนาดธุรกิจที่ใหญ่กว่าและมีการผลิตปิโตรเคมีที่มากกว่าเมื่อเทียบกับบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP (อันดับเครดิตที่ AA-(tha) ซึ่งมีสถานะทางเครดิตโดยลำพังที่ A+(tha)/แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ)     นอกจากนี้ PTTGC ยังมีอัตราส่วนกำไรที่สูงกว่า TOP เนื่องจากมีการผลิตปิโตรเคมีที่มากกว่าซึ่งเป็นธุรกิจที่มีอัตราส่วนกำไรที่สูงกว่า                   PTTGC มีขนาดธุรกิจที่ใหญ่กว่ามากและมีการกระจายตัวของธุรกิจปิโตรเคมีที่มากกว่าเมื่อเทียบกับบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) (อันดับเครดิตที่ A-(tha) ซึ่งมีสถานะทางเครดิตโดยลำพังที่ BBB+(tha)/แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งกว่าและมีอัตราส่วนกำไรที่สูงกว่า

สมมุติฐานที่สำคัญ

สมมุติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ:

  • ราคาน้ำมันดิบ (เบรนท์) ที่ราคา 52.5 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรลในปี 2560, 55 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรลในปี 2561, 60 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรลในปี 2562 และ 65 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรลในปี 2563 เป็นต้นไป โดยมีการปรับปรุงด้วยส่วนต่างราคาน้ำมันตามการซื้อน้ำมันดิบของ PTTGC;
  • ค่าการกลั่นที่ลดลงในปี 2560
  • ส่วนต่างระหว่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์อะโรเมติกส์ค่อยๆปรับตัวขึ้นในปี 2560
  • ราคาผลิตภัณฑ์ HDPE ปรับตัวขึ้นตามราคาน้ำมัน
  • ค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนที่อนุมัติจำนวน 4.2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2560-2564

ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต

ปัจจัยบวก:

  • ระดับความสัมพันธ์ในด้านการดำเนินงาน และความสำคัญในเชิงกลยุทธ์หระหว่างบริษัทฯ กับ ปตท. ที่เพิ่มสูงขึ้น
  • การเพิ่มอันดับเครดิตของบริษัทฯ โดยลำพังเองยังไม่น่าจะเกิดขึ้นในระยะสองถึงสามปีข้างหน้า เนื่องจากแผนการลงทุนที่สูงของบริษัทฯ และคาดว่าการลงทุนใหม่ๆ เหล่านี้ยังไม่สามารถสร้างกระแสเงินสดให้กับบริษัทฯ ในระยะเวลาอันใกล้นี้ได้

ปัจจัยลบ:

  • FFO-adjusted net leverage ที่สูงกว่า 1.5 เท่าอย่างต่อเนื่อง จากการลงทุนที่ใช้แหล่งเงินทุนจากการกู้ยืมที่สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ หรือ ค่าการกลั่นและส่วนต่างระหว่างราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีกับราคาวัตถุดิบที่อยู่ในระดับต่ำ ทั้งนี้ฟิทช์มองว่าการตัดสินใจลงทุนในโครงการที่ใช้แหล่งเงินทุนจากการกู้ยืมเงินเป็นจำนวนมากอย่างมีนัยสำคัญจะเป็นเหตุให้มีการพิจารณาอันดับเครดิตของบริษัทฯ
  • ระดับความสัมพันธ์ในด้านการดำเนินงาน และความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ระหว่างบริษัทฯ กับ ปตท. ที่ลดน้อยลง

สภาพคล่อง

สภาพคล่องที่แข็งแกร่ง: PTTGC มีเงินสดอยู่จำนวนมากถึงประมาณ 5.5 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2560 ซึ่งมากกว่าหนี้ที่จะครบกำหนดชำระในอีก 12 เดือนข้างหน้าจำนวน 1.4 หมื่นล้านบาทมาก และหนี้ที่จะครบกำหนดชำระในแต่ละปีในช่วงห้าปีข้างหน้ามีจำนวนไม่สูงมากนัก แต่จะมีหนี้ที่ครบกำหนดชำระก้อนใหญ่ในปี 2565 ซึ่งเป็นหุ้นกู้สกุลเงินเหรียญสหรัฐฯ จำนวนหนึ่งพันล้านเหรียญสหรัฐฯ บริษัทยังมีวงเงินกู้ระยะสั้นที่สามารถเบิกกู้จาก ปตท. ไว้ช่วยเสริมสภาพคล่อง รวมทั้งบริษัทฯ ยังสามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้ง่าย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ