(เพิ่มเติม) RATCH คาดกำลังผลิตปีนี้เข้าเป้า 7.5 พัน MW พร้อมเล็งใช้งบ 5 หมื่นลบ.เดินหน้าถึง 1 หมื่น MW ในปี 66

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday August 11, 2017 14:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง (RATCH) เปิดเผยว่า บริษัทยังคงมุ่งเน้นเพิ่มกำลังการผลิตในปีนี้ให้เติบโตตามเป้าหมายที่ 7,500 เมกะวัตต์ จากครึ่งปีแรกสามารถดำเนินงานก้าวหน้าแล้ว 98% จากการลงทุนใน 3 โครงการ ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสีชมพู ,โครงการรถไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม Riau อินโดนีเซีย และโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ ในออสเตรเลีย รวมกำลังการผลิตตามการถือหุ้น 360 เมกะวัตต์ ซึ่งส่งผลให้กำลังการผลิตของบริษัท เพิ่มขึ้นเป็น 7,373 เมกะวัตต์ ขณะที่ปัจจุบันมีกำลังการผลิตไฟฟ้าที่เดินเครื่องผลิตเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว 6,496 เมกะวัตต์

ทั้งนี้ บริษัทยังมีโครงการผลิตไฟฟ้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ ประมาณ 1,002 เมกะวัตต์ ซึ่งจะเป็นทั้งการเข้าซื้อกิจการ (M&A) หรือการดำเนินโครงการใหม่ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการเจรจา คาดว่าในบางโครงการจะได้ข้อสรุปในปีนี้ โดยทั้งหมดมี 4 โครงการ แบ่งเป็น โครงการที่ใช้เชื้อเพลิงประเภทฟอสซิล 2 โครงการ และโครงการพลังงานทดแทน 2 โครงการ ซึ่งโครงการพลังงานทดแทนมีอยู่ 1 โครงการในประเทศ ปัจจุบัน COD แล้ว และมีแนวโน้มว่าจะได้ข้อสรุปภายในปีนี้ หากเจรจาสำเร็จก็จะทำให้กำลังการผลิตไฟฟ้าใกล้จะบรรลุเป้าหมายในปีนี้ได้

สำหรับแผนงานในระยะต่อไปบริษัทตั้งเป้าหมายที่จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มเป็น 10,000 เมกะวัตต์ภายในปี 66 หรือมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นอีก 2,500 เมกะวัตต์จากปีนี้ ซึ่งจะมีมูลค่าการลงทุนของโครงการราว 5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในส่วนนี้จะเป็นเงินลงทุนส่วนทุนของบริษัทราว 5 หมื่นล้านบาท หรือประมาณ 1 หมื่นล้านบาท/ปี ซึ่งในปีนี้งบลงทุนที่ตั้งไว้ 1 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นเงินลงทุนในโครงการที่มีอยู่ในมือ 5.6 พันล้านบาท ซึ่งในส่วนนี้ใช้ไปแล้วกว่า 2 พันล้านบาท ขณะที่ยังเหลือเงินลงทุนในส่วน M&A จำนวน 4.4 พันล้านบาทที่ยังไม่ได้ใช้ในปีนี้

การลงทุนในระยะต่อไปของบริษัทจะเน้นโครงการในต่างประเทศที่ยังมีศักยภาพการเติบโต เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ลาว จีน และเมียนมา ส่วนการพัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าใหม่ในประเทศนั้นมียังข้อจำกัด หลังส่วนใหญ่จะเน้นในรูปแบบของโครงการพลังงานทดแทน ซึ่งมีกำลังการผลิตไฟฟ้าไม่มากนัก โดยตั้งเป้าหมายในปี 66 จะมีพอร์ตการลงทุนในต่างประเทศเพิ่มเป็น 40% จาก 29.64% ขณะนี้ และการลงทุนในประเทศลดเหลือ 60% จาก 70.36% ในปัจจุบัน และจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในสัดส่วน 20% จากปัจจุบันมีสัดส่วนอยู่ที่ราว 9.2%

"การลงทุนในประเทศตามแผน PDP ในช่วง 10 ปีจากนี้เป็นโรงไฟฟ้าที่ commit หมดแล้ว แม้จะมีการขยายเพิ่มในโครงการ SPP VSPP ก็เป็นโครงการขนาดเล็ก และมีการแข่งขันรุนแรง เราก็คงต้องหันไปเพิ่มในต่างประเทศให้มากขึ้น โดยเฉพาะในอาเซียนที่ยังมีศักยภาพของการเติบโตสูง"นายกิจจา กล่าว

นายกิจจา กล่าวว่า สำหรับ 3 โครงการใหม่ที่ได้มาในช่วงครึ่งปีนี้ ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู-เหลือง ซึ่งบริษัทถือหุ้น 10% นั้นจะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในปี 63 ,โครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Riau ในอินโดนีเซีย ขนาด 275 เมกะวัตต์ บริษัทถือหุ้นอยู่ 49% จะเริ่มเดินเครื่องผลิตเชิงพาณิชย์ในปี 64 และโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ Collinsville Solar PV ขนาด 42.5 เมกะวัตต์ บริษัทถือหุ้นอยู่ 80% กำหนดเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ในปี 61

ขณะเดียวกันบริษัทก็ได้ศึกษาโอกาสการลงทุนพลังงานทดแทนภายในประเทศ ทั้งในส่วนของโครงการ SPP Hybrid Firm,VSPP Semi-Firm หากพบว่ามีศักยภาพก็พร้อมที่จะยื่นข้อเสนอขอผลิตไฟฟ้าต่อไปด้วย และในอนาคตยังมองโอกาสร่วมลงทุนคลังก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) และการลงทุนพลังงานทดแทน ที่จะร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ด้วย พร้อมกันนี้ก็ยังอยู่ระหว่างเจรจากับกระทรวงพลังงาน เพื่อต่ออายุโรงไฟฟ้าโรงไฟฟ้าไตรเอนเนอจี้ (TECO) ที่จะหมดอายุในปี 63 ซึ่งหากไม่ได้รับการต่ออายุบริษัทก็พร้อมที่จะเสนอโครงการเพื่อเข้าแข่งขันในโอกาสต่อไปด้วย แต่ทั้งนี้ ยังคงต้องรอความชัดเจนของการปรับปรุงแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP) ฉบับใหม่ให้แล้วเสร็จก่อน

นอกเหนือจากธุรกิจผลิตไฟฟ้าแล้วบริษัทมองหาโอกาสการลงทุนสาธารณูปโภคพื้นฐานนอกภาคพลังงานทั้งในและต่างประเทศ โดยในส่วนของธุรกิจน้ำประปาในลาวก็ยังอยู่ระหว่างการเจรจา รวมถึงยังศึกษา Business Model ธุรกิจสตาร์ทอัพ ที่เกี่ยวเนื่องกับพลังงานและไฟฟ้า เช่น การผลิตแบตเตอรี่เพื่อใช้ในระบบสะสมพลังงาน (Energy Storage) ระบบอัดประจุไฟฟ้าอัจฉริยะ (EV Charging) เป็นต้น

สำหรับแนวโน้มการดำเนินงานในปีนี้ แม้จะไม่มีกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่เข้าสู่ระบบในปีนี้ แต่บริษัทจะรักษาการเติบโตของรายได้จากการบริหารประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้า โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าหงสาในลาว ซึ่งปีนี้กำหนดค่าความพร้อมจ่ายเทียบเท่า (Equivalent Availability Factor) ไว้ที่ประมาณ 80% จากปัจจุบันทำได้แล้วราว 77% นอกจากนี้ ยังต้องควบคุมการก่อสร้างโรงไฟฟ้าอีก 4 แห่ง กำลังผลิตรวม 517 เมกะวัตต์ให้คืบหน้าตามแผนงาน

โดยโรงไฟฟ้าพลังงานลมเมาท์เอเมอรัลด์ กำลังผลิตตามการถือหุ้น 144.36 เมกะวัตต์ ในออสเตรเลีย มีกำหนดเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ในปี 61 ,โครงการพลังงานน้ำเซเปียน เซน้ำน้อย ในลาว และโครงการเบิกไพรโคเจนเนอเรชั่น จ.ราชบุรี มีกำหนดเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ปี 62 และโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟังเชงกัง ระยะที่ 2 ในสาธารณรัฐประชาชนจีน มีกำหนดเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ ในปี 64


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ