ฟิทช์ ให้อันดับเครดิตโครงการหุ้นกู้ระยะสั้นของ CIMBT ที่ ‘F1+(tha)’

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday August 18, 2017 16:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) ประกาศให้อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ ‘F1+(tha)’ แก่โครงการหุ้นกู้ระยะสั้นมูลค่า 3.0 หมื่นล้านบาท ของธนาคารซีไอเอ็มบีไทย จำกัด (มหาชน) หรือ CIMBT(อันดับเครดิต AA(tha)/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ/F1+(tha))

โครงการหุ้นกู้ดังกล่าวนี้ทดแทนโครงการหุ้นกู้ระยะสั้นเดิมของธนาคารมูลค่า 3.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งหมดอายุเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2560 หุ้นกู้ระยะสั้นที่ออกภายใต้โครงการนี้จะมีอายุไม่เกิน 270 วัน และจะทำการออกและเสนอขายเป็นครั้งๆ จนถึงวันที่ 27 กรกฎาคม 2561 ทั้งนี้วัตถุประสงค์ในการออกหุ้นกู้คือเพื่อใช้ในการบริหารสภาพคล่องของธนาคาร

สำหรับปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต ได้แก่ อันดับเครดิตภายในประเทศของโครงการหุ้นกู้ระยะสั้นอยู่ในระดับเดียวกันกับอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นของ CIMBT ที่ ‘F1+(tha)’ เนื่องจากหุ้นกู้ดังกล่าวเป็นภาระผูกพันที่ไม่ด้อยสิทธิและไม่มีหลักประกันของธนาคาร

อันดับเครดิตภายในประเทศของ CIMBT พิจารณาจากปัจจัยสนับสนุนจากธนาคารแม่ เนื่องจากฟิทช์มองว่า CIMBT เป็นธนาคารลูกที่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ต่อธนาคารแม่ ซึ่งคือ CIMB Bank Berhad (CIMB) โดยธนาคารแม่เป็นผู้ถือหุ้นเกือบทั้งหมด (94.1%) ในธนาคารลูก มีอำนาจควบคุมการบริหารงาน และยังมีการผสานการดำเนินงาน (integration) ของบริษัทลูกเข้ากับกลุ่มอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ CIMB ยังให้สิทธิ CIMBT ใช้ชื่อและสัญลักษณ์ทางการค้าร่วมกัน และธนาคารแม่ยังให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่องแก่ CIMBT ทั้งในด้านการดำเนินงานและการเงิน

ขณะที่ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต ประกอบด้วย อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นของโครงการหุ้นกู้ระยะสั้นของ CIMBT เป็นอันดับเครดิตที่อยู่ในระดับสูงสุด จึงไม่มีปัจจัยใดที่อาจทำให้อันดับเครดิตได้รับการปรับเพิ่ม

อันดับเครดิตภายในประเทศของ CIMBT มีปัจจัยพิจารณาจากการสนับสนุนจากธนาคารแม่ (support-driven) ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างเครดิตโดยรวมอย่างมีนัยสำคัญของธนาคารแม่ (ซึ่งคือ CIMB) น่าจะส่งผลกระทบในทิศทางเดียวกันต่ออันดับเครดิตภายในประเทศของ CIMBT

ฟิทช์อาจปรับลดอันดับเครดิตภายในประเทศของ CIMBT หากฟิทช์เชื่อว่าโอกาสที่ธนาคารแม่ (CIMB) จะให้การสนับสนุนเป็นพิเศษที่นอกเหนือจากการสนับสนุนในด้านการดำเนินงานปรกติ (extraordinary support) แก่บริษัทลูกในประเทศไทยมีการปรับตัวลดลง โดยอาจจะแสดงได้จากการลดสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทลูกอย่างมากหรือการลดลงของระดับการสนับสนุนทางการเงิน เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตามฟิทช์ไม่ได้คาดว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะเกิดขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ