(เพิ่มเติม) GUNKUL คาด EBITDA ปี 61 กว่า 2 พันลบ.รับรู้พลังลม-โซลาร์ฟาร์มญี่ปุ่น จากปี 61 อยู่ที่ 600 ลบ.

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday August 21, 2017 12:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสาวโศภชา ดำรงปิยวุฒิ์ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง (GUNKUL) คาดว่าในปี 61 จะมีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) กว่า 2 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 60 ที่คาดว่าจะมีราว 600 ล้านบาท โดยมาจากโครงการพลังงานลม 2 โครงการในประเทศที่จะจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ในไตรมาส 1/61 และไตรมาส 2/61 รวม 110 เมกะวัตต์ (MW) คาดว่าจะให้ EBITDA ราว 1.7 พันล้านบาท และโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์ฟาร์ม) ในญี่ปุ่นอีกกว่า 400 ล้านบาท ที่จะ COD จำนวน 2 โครงการ รวมกำลังการผลิต 78.4 MW ในไตรมาส 2/61 และในไตรมาส 4/61

ทั้งนี้ ในปี 60 บริษัทจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 180 เมกะวัตต์ และในปี 61 จะเพิ่มเป็นประมาณ 360 เมกะวัตต์

GUNKUL ลงทุนโซลาร์ฟาร์มในญี่ปุ่น 4 โครงการ ได้แก่ 1) โครงการที่เซ็นได กำลังการผลิต 38 เมกะวัตต์ COD ในไตรมาส 2/61 2)โครงการ Kimitsu ที่ชิบะ กำลังผลิต 40.4 เมกะวัตต์ COD ในไตรมาส 4/61 3) โครงการ Utsunomiya กำลังการผลิต 67 เมกะวัตต์ และ 4) โครงการอิวาคุนิ กำลังการผลิต 90 เมกะวัตต์

สำหรับโครงการที่ 3 และ 4 จะ COD ในปี 65 รวมกำลังการผลิตโซลาร์ฟาร์มในญี่ปุ่น 235.4 เมกะวัตต์ และคาดว่าจะสร้าง EBITDA รวมกว่า 700 ล้านบาท/ปี สัญญาขายไฟฟ้า 20 ปี ด้วยเงินลงทุนรวมประมาณ 4 พันล้านบาท

นางสาวโศภชา กล่าวว่า ประเทศญี่ปุ่นมีความต้องการผลิตไฟฟ้าระยะยาวจำนวน 2 แสนเมกะวัตต์ โดย 25% มาจากพลังงานแสงอาทิตย์ หรือ 5 หมื่นเมกะวัตต์ ซึ่งในปี 59 ญี่ปุ่นมีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เพียง 3-4 พันเมกะวัตต์ ดังนั้น จึงมีโอกาสลงทุนอีกมาก อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นให้ค่าตอบแทนน้อยลดลง จากเดิม 32 เยน/หน่วย ลดลงเหลือ 24 เยน/หน่วย เพราะมีเอกชนสนใจเข้ามาลงทุนจำนวนมาก แต่อย่างไรก็ดีติดปัญหาเรื่องสายส่งยังไปไม่ถึงพื้นที่โครงการ

อย่างไรก็ตาม โครงการโซลาร์ฟาร์มในญี่ปุ่น ยอมรับว่าอัตราผลตอบแทนจากการลงทุน (IRR) จะลดลงมาประมาณ 11-12% จากเดิมที่ได้ IRR ราว 13-14% แต่การลงทุนก็ยังน่าสนใจ ซึ่งบริษัทจะพยายามลดต้นทุนงานก่อสร้าง และค่าที่ปรึกษาโครงการ และใช้เงินกู้ในญี่ปุ่นที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำไม่ถึง 1% โดยโครงการที่ผ่านมาใช้เงินกู้ราว 85-90% ของงบลงทุน

นอกจากนี้ยังศึกษาลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลในญี่ปุ่น โดยได้เจรจาซื้อวัตถุดิบไม้สับจากผู้ผลิตภาคใต้ของไทย เพราะโครงการต้องมีความแน่นอนเรื่องของวัตถุดิบเพียงพอต่อการผลิตตลอดอายุสัญญา 15 ปี

นางสาวโศภชา กล่าวอีกว่า ขณะนี้ GUNKUL อยู่ระหว่างเจรจาผู้พัฒนาโซลาร์ฟาร์มในญี่ปุ่นเพิ่มเติม รวมทั้งสนใจซื้อโครงการโซลาร์ฟาร์มในมาเลเซีย เมียนมา และอาเซียน โดยขณะนี้เจรจาอยู่ 2 ราย รวมกำลังการผลิต 200 เมกะวัตต์ คาดว่าในปีนี้น่าจะได้ข้อสรุปอย่างน้อย 1 ราย กำลังผลิต 100 เมกะวัตต์ ซึ่งคู่เจรจาแต่ละรายมีโครงการโซลาร์ฟาร์มหลายโครงการและมีขนาดไม่ใหญ่มาก

ในส่วนของพลังลม คาดว่าในไตรมาส 3/60 บริษัทจะมีรายได้จากพลังลมเติบโตเท่าตัว จากในไตรมาส 2/60 ที่มีรายได้กว่า 80 ล้านบาท แต่รายได้ดังกล่าวจะผันแปรไปตามฤดูกาล โดยในเดือน ก.ค.60 มีรายได้ลดลงเหลือ 70 ล้านบาท นอกจากนี้บริษัทจะเข้าร่วมประมูลรับซื้อไฟฟ้าของภาครัฐในโครงการ SPP Hybrid Firm ที่คาดว่าจะเปิดประมูลใน ส.ค.60 และโครงการ VSPP Semi-Firm ที่จะเปิดประมูลภายในปีนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ