ทริสฯ ลดอันดับเครดิตองค์กร SINGER เป็น “BBB-" จาก “BBB" ด้วยแนวโน้ม “Stable"

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday August 31, 2017 16:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้งปรับลดอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ.ซิงเกอร์ประเทศไทย (SINGER) เป็น “BBB-" จาก “BBB" โดยอันดับเครดิตที่ปรับลดลงสะท้อนถึงสถานะทางธุรกิจและการเงินของบริษัทที่อ่อนแอลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2557 จนถึงครึ่งแรกของปี 2560 ทั้งนี้ อันดับเครดิตที่ปรับลดลงยังเกี่ยวเนื่องกับความเสี่ยงจากการปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินงานและคุณภาพสินทรัพย์ที่ถดถอยลงอย่างมีนัยสำคัญของบริษัทด้วย

อันดับเครดิตยังคงสะท้อนถึงการที่บริษัทมีตราสัญลักษณ์สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านที่เป็นที่รู้จักเป็นอย่างดี ตลอดจนการมีเครือข่ายสาขาและตัวแทนจำหน่ายที่กว้างขวางทั่วประเทศ และผลงานที่เป็นที่ยอมรับในธุรกิจสินเชื่อเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงฐานลูกค้าที่กระจายตัวหลากหลายและพนักงานขายที่ได้รับการอบรมเป็นอย่างดีและมีความคุ้นเคยกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย อย่างไรก็ตาม โอกาสในการเติบโตทางธุรกิจของบริษัทมีข้อจำกัดจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ไม่เอื้ออำนวย ตลอดจนภาวะหนี้ครัวเรือนภายในประเทศที่อยู่ในระดับสูง และการที่กลุ่มลูกค้าเป้าหมายของบริษัทมีความอ่อนไหวเป็นอย่างมากต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ

ปัจจุบัน SINGER มีผู้ถือหุ้นใหญ่คือ บมจ.เจ มาร์ท (JMART) หรือ “เจมาร์ท" ด้วยสัดส่วนการถือหุ้น 24.99% ของหุ้นทั้งหมดของบริษัท และยังมีกลุ่มสหพัฒน์ถือหุ้นในสัดส่วน 8% เจมาร์ทดำเนินธุรกิจค้าปลีกและค้าส่งเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่และสินค้าที่เกี่ยวข้อง ส่วนกลุ่มสหพัฒน์เป็นบริษัทตัวแทนจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคชั้นนำในประเทศไทย นอกจากนี้ เจมาร์ทยังได้นำสินค้าของตน อาทิ โทรศัพท์เคลื่อนที่ เข้ามาจำหน่ายโดยผ่านช่องทางการจำหน่ายตรงสู่กลุ่มลูกค้าของบริษัทอีกด้วย ทั้งนี้ บริษัทอาจมีแหล่งรายได้จากค่าธรรมเนียมเพิ่มเข้ามาจากการขายสินค้าผ่านเครือข่ายและสาขาของบริษัทอีกทางหนึ่งด้วย บริษัทเปลี่ยนผู้บริหารในตำแหน่งสำคัญบางตำแหน่งเมื่อกลางปี 2559 โดยคณะผู้บริหารชุดปัจจุบันให้ความสำคัญกับการยกระดับการบริหารจัดการให้ทันสมัยและการเพิ่มประสิทธิภาพพนักงาน รวมทั้งยังขยายธุรกิจสู่สินค้ามัลติแบรนด์ (Multi-brand) หรือสินค้าประเภทเดียวกันแต่มีหลายตราสัญลักษณ์ด้วย

บริษัทให้ความสำคัญกับธุรกิจหลักคือการจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านซึ่งบริษัทมีประสบการณ์ที่ยาวนาน บริษัทยังได้ขยายตลาดให้ครอบคลุมไปถึงการจำหน่ายสินค้าที่เป็นเครื่องมือสร้างรายได้สำหรับกลุ่มลูกค้าผู้ประกอบการขนาดเล็กอันได้แก่เครื่องใช้ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ต่าง ๆ (Commercial Electrical Appliances) เช่น ตู้แช่ และตู้เติมเงินหยอดเหรียญในระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ เป็นต้น ในขณะที่ บริษัท เอสจี แคปปิตอล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกที่บริษัทถือหุ้นทั้งหมดจะเป็นผู้ให้บริการทางการเงินแก่ลูกค้าเช่าซื้อของบริษัท นอกจากนี้ บริษัทยังมีบริษัทย่อยอีก 2 แห่ง ได้แก่ บริษัท เอสจี เซอร์วิสพลัส จำกัด ซึ่งดำเนินธุรกิจด้านบริการซ่อมบำรุงรักษาเครื่องใช้ไฟฟ้า และ บริษัท เอสจี โบรคเกอร์ จำกัด ซึ่งประกอบธุรกิจตัวแทนจำหน่ายกรมธรรม์ประกันชีวิต ปัจจุบันบริษัทมีเครือข่ายที่กว้างขวางด้วยจำนวนสาขา 183 แห่งและมีพนักงานขายประมาณ 2,000 คน ณ เดือนมิถุนายน 2560

รายได้จากยอดขายของบริษัทลดลงเนื่องจากนโยบายการอนุมัติสินเชื่อที่เข้มงวดมากยิ่งขึ้นในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว โดยรายได้จากยอดขายจากเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านและจากยอดขายผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์คิดเป็น 51% และ 49% ของยอดขายรวมในช่วงไตรมาสแรกของปี 2560 ตามลำดับ มูลค่าลูกหนี้เช่าซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านและผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ปรับตัวลดลงตามยอดขายที่ชะลอตัวจากระดับ 2,000 ล้านบาทในช่วงปี 2556-2558 เป็นประมาณ 1,500 ล้านบาทในปี 2559 และยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง ณ เดือนมีนาคม 2560 อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงสามารถรักษามูลค่าลูกหนี้เช่าซื้อรวมให้อยู่ที่ระดับประมาณ 2,200 ล้านบาท ณ เดือนมิถุนายน 2560 เอาไว้ได้จากการเพิ่มขึ้นของลูกหนี้เช่าซื้อโทรศัพท์เคลื่อนซึ่งเป็นสินค้าประเภทฝากขายโดยทำการบันทึกกำไรจากการขายไว้ในหมวดรายได้อื่น ๆ

ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวผลักดันให้อัตราส่วนลูกหนี้เช่าซื้อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อลูกหนี้เช่าซื้อรวมของบริษัทปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับ 6% ในช่วงปี 2556-2558 จาก 4.3% ในปี 2555 อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนดังกล่าวปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเป็น 10.3% ตั้งแต่ช่วงครึ่งแรกของปี 2559 และเป็น 13.8% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2560 จากการเปลี่ยนระบบการเก็บเงินค่าผ่อนชำระสินค้าจากเดิมที่ผู้แทนขายเป็นผู้เก็บเงินและบริการลูกค้าโดยตรงถึงบ้านมาเป็นระบบการให้ลูกค้าชำระค่าผ่อนชำระสินค้าโดยตรง (Direct Payment System -- DPS) ซึ่งระบบดังกล่าวลูกค้าจะจ่ายค่าผ่อนชำระเข้าบัญชีของบริษัทโดยตรงโดยผ่านตัวแทนรับชำระ ในมุมมองของทริสเรทติ้งเห็นว่าระบบดังกล่าวอาจจะยังไม่สอดคล้องกับพฤติกรรมของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของบริษัท ซึ่งระบบการชำระเงินแบบใหม่นี้ต้องอาศัยเวลาในการพิสูจน์ความมีประสิทธิภาพและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของลูกค้า

ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทอ่อนแอลงจากคุณภาพสินเชื่อที่เสื่อมถอย รวมถึงผลกระทบจากภาวะอุปสงค์ภายในประเทศที่ฟื้นตัวช้า ราคาสินค้าทางการเกษตรที่ตกต่ำ และหนี้ภาคครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ต่างจังหวัดซึ่งเป็นลูกค้ากลุ่มเป้าหมายของบริษัท รายได้จากยอดขายที่ปรับลดลงรวมทั้งค่าใช้จ่ายหนี้สูญที่เพิ่มขึ้นจากคุณภาพลูกหนี้ที่ถดถอยลงส่งผลทำให้กำไรสุทธิของบริษัทปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2556 ในขณะที่รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยมีสัดส่วนสร้างรายได้จำนวนมากให้แก่บริษัท อาทิ ค่าตอบแทนจากผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ (แอร์ไทม์) ที่สูงกว่าและรายได้จากสินค้าฝากขายซึ่งได้แก่โทรศัพท์เคลื่อนที่ ทั้งนี้ บริษัทมีรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเป็น 267 ล้านบาทในปี 2559 และ 156 ล้านบาทในช่วงครึ่งแรกของปี 2560 จาก 15 ล้านบาทในปี 2556

บริษัทมีฐานทุนที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง ทั้งนี้ บริษัทมีข้อกำหนดสิทธิและหน้าที่ของผู้ถือหุ้นกู้ที่ต้องดำรงอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อทุนให้อยู่ในระดับไม่เกิน 2 เท่า โดยบริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ที่ระดับ 0.67 เท่า ณ เดือนมิถุนายน 2560 ซึ่งสูงกว่าระดับ 0.47 เท่า ณ สิ้นปี 2559 เล็กน้อย โดยถือว่าอยู่ในระดับเพียงพอที่จะช่วยให้บริษัทสามารถขยายพอร์ตสินเชื่อต่อไปได้

บริษัทมีอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมอยู่ที่ระดับ 20.49% ในปี 2559 และ10.32% ในครึ่งแรกของปี 2560 (ปรับเป็นอัตราส่วนเต็มปีด้วยตัวเลข 12 เดือนย้อนหลัง) ในขณะที่อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายรักษาระดับอยู่ที่ 5 เท่าในระหว่างปี 2558-2559 และปรับลดลงเป็น 3.8 เท่าในครึ่งแรกของปี 2560 สภาพคล่องในระยะสั้นก็เป็นประเด็นเพิ่มความกังวลต่ออันดับเครดิตของบริษัทด้วยเช่นกันเนื่องจากบริษัทมีตั๋วแลกเงินคงค้างจำนวนประมาณ 300 ล้านบาทที่กำลังจะครบกำหนดในระหว่างเดือนสิงหาคมถึงเดือนธันวาคม 2560 นี้ ความเสี่ยงจากการต่ออายุ (Roll Over) ตั๋วแลกเงินจำนวนมากดังกล่าวส่อให้เห็นถึงความเสี่ยงที่จะมีมากขึ้นจากการกู้เงินใหม่หรือรีไฟแนนซ์หากตลาดตราสารหนี้กลับมาอ่อนแออีกครั้ง

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงความคาดหวังว่าบริษัทจะสามารถปรับปรุงคุณภาพสินทรัพย์ รวมทั้งสถานะทางธุรกิจ และผลการดำเนินงานให้ดีขึ้นได้ตามแผน การปรับลดอันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจเกิดขึ้นได้หากคุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทถดถอยลงต่อไปโดยไม่มีสัญญาณที่จะปรับตัวดีขึ้น ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งมีความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงจากการกู้เงินใหม่หรือรีไฟแนนซ์ของตั๋วแลกเงินของบริษัทหากตลาดตราสารหนี้กลับมาอ่อนแออีกครั้งอีกด้วย

การปรับเพิ่มอันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจเป็นไปได้หากกลยุทธ์การบริหารงานแบบใหม่สามารถดำเนินไปอย่างเต็มรูปแบบและส่งผลให้จำนวนลูกหนี้เช่าซื้อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้และผลประกอบการปรับตัวดีขึ้น นอกจากนี้ อันดับเครดิตอาจปรับเพิ่มขึ้นได้หากคณะผู้บริหารของบริษัทสามารถดำเนินกลยุทธ์ทางการตลาดจนทำให้สถานะทางการตลาดของบริษัทมีความมั่นคงได้ตามแผนในช่วงการปรับเปลี่ยนรูปแบบทางธุรกิจของบริษัท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ