(เพิ่มเติม) "เสริมสร้าง พาวเวอร์"เคาะราคา IPO ที่ 7.70 บาท เปิดขาย 18-20 ก.ย.,เข้าเทรด mai 27 ก.ย.

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday September 15, 2017 14:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.เสริมสร้าง พาวเวอร์ คอร์ปอเรชั่น (SSP) กำหนดราคาเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ที่ราคาหุ้นละ 7.70 บาท เปิดให้จองซื้อในวันที่ 18-20 ก.ย.นี้ โดยมี บล.กสิกรไทย เป็นที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย ขณะที่ผู้ร่วมจัดจำหน่าย ได้แก่ บล.ทรีนีตี้ บล.ทิสโก้ บล.ไทยพาณิชย์ บล.ธนชาต และบล.ฟินันเซีย ไซรัส และคาดว่าจะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) ในช่วงปลายเดือนก.ย.60

SSP จะเสนอขายหุ้น IPO จำนวน 276,375,000 หุ้น ประกอบด้วย (1) หุ้นสามัญเพิ่มทุนที่เสนอขายโดยบริษัทฯ จำนวน 230,375,000 หุ้น และ (2) หุ้นสามัญเดิมที่เสนอขายโดยผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทฯ ได้แก่ Unity I. Capital Limited จำนวน 46,000,000 หุ้น รวมคิดเป็น 30% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในครั้งนี้

นายภานพ อังศุสิงห์ ผู้บริหารสายงานวาณิชธนกิจ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ในนามตัวแทนบล.กสิกรไทย ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย เปิดเผยว่า หลังจากที่สำรวจความต้องการซื้อหุ้น (Book Building) ของนักลงทุนสถาบัน เมื่อวันที่ 12-14 ก.ย.ปรากฏว่านักลงทุนสถาบันได้แสดงความสนใจซื้อที่ราคาสูงสุดหุ้นละ 7.70 บาท และมีความต้องการซื้อเกินกว่าจำนวนหุ้นที่จัดสรรไว้ จึงได้กำหนดราคาเสนอขาย IPO ที่หุ้นละ 7.70 บาท ซึ่งจะเปิดให้นักลงทุนจองซื้อในวันที่ 18-20 ก.ย. และคาดว่าจะเข้าซื้อขายหลักทรัพย์ใน mai ในวันที่ 27 ก.ย.นี้

ปัจจุบัน SSP มีทุนจดทะเบียน 922 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวน 922,000,000 หุ้น พาร์หุ้นละ 1 บาท โดยเป็นทุนที่เรียกชำระแล้วทั้งสิ้น 691.63 ล้านบาท และจะเสนอขายหุ้น IPO จำนวน 276,375,000 หุ้น

สำหรับ SSP ดำเนินธุรกิจเป็นโฮลดิ้ง คอมปานี ที่เข้าลงทุนในบริษัทที่ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนและธุรกิจที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ มีธุรกิจแบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ 1.ธุรกิจลงทุนและพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และ 2.ธุรกิจลงทุนและพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนประเภทอื่น ๆ อาทิ โรงไฟฟ้าพลังงานลม โรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซชีวภาพ โรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวล โรงไฟฟ้าพลังงานขยะ เป็นต้น โดย SSP จะนำเงินที่ได้จากการระดมทุนไปใช้ลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนที่อยู่ระหว่างพัฒนาและโครงการในอนาคต นอกจากนี้จะใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบธุรกิจ และชำระคืนเงินกู้จากสถาบันการเงิน

นายวรุตม์ ธรรมาวรานุคุปต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของ SSP กล่าวว่า บริษัทมีโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทยที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว 1 โครงการ ได้แก่ โครงการเสริมสร้าง โซลาร์ ในจังหวัดลพบุรี ปริมาณพลังงานไฟฟ้าที่เสนอขายตามสัญญา 40 เมกะวัตต์ (MW) ภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าแบบ Non-Firm โดยมีอายุของสัญญา 5 ปี และต่ออายุได้คราวละ 5 ปี ซึ่งได้รับส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) 6.5 บาท/หน่วย เป็นระยะเวลา 10 ปีนับจากวันที่เริ่ม COD

นอกจากนี้ ยังมีโครงการในประเทศไทยที่อยู่ระหว่างการพัฒนาและยังไม่เริ่มก่อสร้างอีก 1 โครงการ คือ โครงการโซลาร์ องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก (อผศ.) ในจังหวัดราชบุรี ปริมาณพลังงานไฟฟ้าที่เสนอขายตามสัญญา 5 MW และได้อัตรารับซื้อไฟฟ้ารูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ที่ 4.12 บาท/หน่วย คงที่ตลอดระยะเวลารับซื้อไฟฟ้าตามอายุสัญญา 25 ปี คาดว่าจะเริ่ม COD ในไตรมาส 4/61

ขณะเดียวกันได้เข้าลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศญี่ปุ่นอีก 5 โครงการ ผ่าน SEG ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่จัดตั้งขึ้นในฮ่องกง ปริมาณพลังงานไฟฟ้าที่เสนอขายตามสัญญารวมทั้งสิ้น 93 MW ประกอบด้วย โครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 2 โครงการปริมาณพลังงานไฟฟ้าที่เสนอขายตามสัญญารวม 47 MW ซึ่งประกอบด้วย 1.โครงการฮิดะกะ ในจังหวัดฮอกไกโด ปริมาณพลังงงานไฟฟ้าที่เสนอขายตามสัญญา 17 MW และได้อัตรารับซื้อไฟฟ้ารูปแบบ FiT ที่ 40 เยน/หน่วย คงที่ตลอดระยะเวลารับซื้อไฟฟ้าตามอายุสัญญา 20 ปี คาดว่าจะเริ่ม COD ในไตรมาส 1/61 และ 2.โครงการยามากะ ในจังหวัดคุมาโมโต้ ปริมาณพลังงานไฟฟ้าที่เสนอขายตามสัญญา 30 MW และได้อัตรารับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบ FiT ที่ 36 เยน/หน่วย คงที่ตลอดระยะเวลารับซื้อไฟฟ้า 20 ปี คาดว่าจะเริ่ม COD ภายในไตรมาส 2/63

ส่วนโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนาและยังไม่เริ่มก่อสร้างมีจำนวน 2 โครงการ ปริมาณพลังงานไฟฟ้าที่เสนอขายตามสัญญารวม 36 MW คือ 1.โครงการโซเอ็น ในจังหวัดคุมาโมโต้ ปริมาณพลังงานไฟฟ้าที่เสนอขายตามสัญญา 6 MW และได้อัตรารับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบ FiT ที่ 36 เยน/หน่วย คงที่ตลอดระยะเวลารับซื้อไฟฟ้าตามอายุสัญญา 20 ปี คาดว่าจะเริ่ม COD ในไตรมาส 4/61 และ 2.โครงการลีโอ ในจังหวัดชิซุโอกะ ปริมาณพลังงานไฟฟ้าที่เสนอขายตามสัญญา 30 MW และได้อัตรารับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบ FiT ที่ 36 เยน/หน่วย คงที่ตลอดระยะเวลารับซื้อไฟฟ้า 20 ปี คาดว่าจะเริ่ม COD ในไตรมาส 2/63

นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนาขั้นต้นอีก 1 โครงการ ได้แก่ โครงการยามากะ 2 ปริมาณพลังงานไฟฟ้าที่เสนอขายตามสัญญา 10.0 MW และได้อัตรารับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบ FiT ที่ 36 เยน/หน่วย คงที่ตลอดระยะเวลารับซื้อไฟฟ้า 20 ปี คาดว่าจะเริ่ม COD ในไตรมาส 2/63

ทั้งนี้ กลุ่มบริษัทยังได้เข้าลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftop) ในประเทศไทยอีก 2 โครงการ ประกอบด้วย โครงการ SNNP 1 ที่อยู่ระหว่างก่อสร้างในจังหวัดสมุทรสาคร กำลังการผลิตติดตั้ง 384 กิโลวัตต์ และโครงการ SNNP 2 ที่อยู่ระหว่างการพัฒนาและยังไม่เริ่มก่อสร้างในจังหวัดราชบุรี กำลังการผลิตติดตั้ง 998 กิโลวัตต์ ซึ่งทั้ง 2 โครงการมีอัตรารับซื้อไฟฟ้าที่อ้างอิงอัตราตามค่าไฟฟ้าฐานขายปลีกจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (เอฟที) ขายปลีกเฉลี่ย โดยมีบริษัท ศรีนานาพร มาร์เก็ตติ้ง จำกัด เป็นผู้รับซื้อไฟฟ้าจากโครงการเป็นเวลา 25 ปี คาดว่าทั้ง 2 โครงการจะ COD ในไตรมาส 4/60

“เราให้ความสำคัญกับการลงทุนและพัฒนาบุคลากรเพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยมีเป้าหมายขยายการลงทุนโรงไฟฟ้าครบ 200 MW ภายในปี 2563 เพื่อยกระดับสู่บริษัทพลังงานชั้นนำแห่งเอเชีย โดยจะเป็นผู้ผลิตและจัดหาพลังงานที่ยั่งยืนควบคู่กับการส่งเสริมสนับสนุนสิ่งแวดล้อมที่สะอาดอย่างมั่นคงเพื่อประโยชน์สูงสุดของสังคม"นายวรุตม์ กล่าว

นางสาวธัณฐภรณ์ ไกรพิสิทธิ์กุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SSP กล่าวว่า บริษัทมีจุดเด่นด้านความเชี่ยวชาญในธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอื่นๆ โดยมุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีและอุปกรณ์ที่มีคุณภาพเพื่อการผลิตกระแสไฟฟ้าได้อย่างมีเสถียรภาพและสม่ำเสมอ รวมถึงให้ความสำคัญกับการเลือกสถานที่ตั้งโครงการ ที่จะต้องมีค่าความเข้มของแสงอาทิตย์ในระดับที่เหมาะสม มีสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศที่ดี ไม่มีข้อจำกัดด้านการเชื่อมโยงระบบเข้ากับโครงข่ายไฟฟ้า นอกจากนี้ ยังบริหารงานโดยคนรุ่นใหม่ที่มีความเชี่ยวชาญในการดำเนินธุรกิจด้านพลังงานหมุนเวียน

ทั้งนี้ SSP อยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ทางธุรกิจของโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติมทั้งในและต่างประเทศ เช่น โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศญี่ปุ่นและภูมิภาคอาเซียน รวมถึงมีนโยบายที่จะขยายไปสู่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เช่น ธุรกิจออกแบบ จัดหาวัสดุอุปกรณ์ รับก่อสร้างโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ธุรกิจผลิตและ/หรือจัดหาวัตถุดิบหรือเชื้อเพลิงชีวมวล ให้แก่โรงไฟฟ้าพลังงานชีวภาพ ชีวมวล เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ