โบรกฯเชียร์"ซื้อ"THCOM มองธุรกิจหลักกำลังฟื้นตัวหลังผ่านจุดต่ำสุด,รับกำไรขายหุ้น CSL กว่า 1 พันลบ.

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday September 28, 2017 14:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

โบรกเกอร์แนะ"ซื้อ"หุ้น บมจ.ไทยคม (THCOM) หลังมองธุรกิจดาวเทียม ซึ่งเป็นธุรกิจหลักกำลังฟื้นตัวขึ้นหลังจากความต้องการใช้งานดาวเทียมได้ผ่านจุดตกต่ำสุดไปแล้ว จากที่ลูกค้าส่วนการบริการระบบแพร่ภาพลดลงจากการเกิดของทีวีดิจิตอล แต่สัญญาณเม็ดเงินโฆษณาของช่องทีวีดาวเทียมเริ่มทรงตัวราว 1 ปี ขณะที่ THCOM เริ่มมีลูกค้าใหม่ในกลุ่ม CLMV เข้ามาทดแทน รวมถึงยังมีลูกค้าเพิ่มจากส่วนบริการอินเตอร์เน็ตเข้ามาเสริม แม้จะเสียลูกค้ารายใหญ่อย่าง NBN และ บมจ.ทีโอที ก็ตาม

ขณะที่ความกังวลต่อดาวเทียมในระบบสัมปทาน 3 ดวง คือ ไทยคม 4,5 และ 6 จะหมดสัมปทานในปี 64 ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนในการยิงดาวเทียมดวงใหม่ คาดว่าน่าจะได้ข้อยุติภายในปีนี้ เพราะต้องมีระยะเวลาก่อสร้างและส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรมากกว่า 2-3 ปี กรณีเลวร้ายสุดเชื่อว่า THCOM จะยอมจ่ายส่วนแบ่งรายได้ให้ภาครัฐสำหรับดาวเทียมดวงใหม่ใกล้เคียงกับสัมปทานเดิม ทำให้มีโอกาสการยิงดาวเทียมใหม่ขึ้นสู่วงโคจรก็จะช่วยหนุนผลการดำเนินงานในระยะยาวได้ต่อไป

ส่วนการจะขายหุ้น บมจ.ซีเอส ล๊อกซอินโฟ (CSL) ให้กับบมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) ตามแผนการปรับโครงสร้างของกลุ่มธุรกิจนั้น แม้จะขาดโอกาสการรับรู้กำไรราว 120 ล้านบาท/ปี แต่ไม่ได้สร้างกระแสเงินสดให้กับ THCOM มากนัก ดังนั้น การขายหุ้น CSL ออกไปนับว่าคุ้มค่าแก่กลุ่มธุรกิจมากกว่า และยังจะรับรู้กำไรจากการขายหุ้นราว 1-1.36 พันล้านบาท

หุ้น THCOM พักเที่ยงอยู่ที่ 16.40 บาท เพิ่มขึ้น 0.10 บาท หรือ 0.61% ขณะที่ดัชนีหุ้นไทยเพิ่มขึ้น 0.08%

          โบรกเกอร์                   คำแนะนำ                 ราคาเป้าหมาย (บาท/หุ้น)
          บัวหลวง                       ซื้อ                         25.50
          เอเซีย พลัส                    ซื้อ                         24.00
          ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย)          ซื้อ                         24.20
          ฟิลลิป (ประเทศไทย)           ทยอยซื้อ                       19.10
          กสิกรไทย                      ถือ                         19.00

นายสุวัฒน์ วัฒนพรพรหม นักวิเคราะห์บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า ราคาหุ้น THCOM ในช่วงที่ผ่านมาปรับลงมาค่อนข้างมากจากความกังวลต่อการดำเนินธุรกิจดาวเทียม หลังจากที่ลูกค้ารายใหญ่หายไป แม้จะมีลูกค้าใหม่เข้ามาบ้างแต่ก็ยังไม่สามารถทดแทนได้มากนัก โดยการให้บริการธุรกิจดาวเทียมที่มี 2 บริการ ได้แก่ การบริการแพร่ภาพ ได้รับผลกระทบจากการเกิดของช่องทีวีดิจิตอล ทำให้ลูกค้ารายใหญ่ 2 ราย คือ บมจ.ซีทีเอช จำกัด (CTH) และบมจ.จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ (GRAMMY) ยกเลิกสัญญาตั้งแต่ปีก่อน ซึ่งก็จะทำให้ THCOM รับรู้รายได้ที่หายไปของทั้งสองรายเต็มปีในปีนี้

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์น่าจะผ่านจุดต่ำสุดแล้ว สะท้อนจากเม็ดเงินโฆษณาช่องทีวีดาวเทียมที่ทรงตัวได้ราว 1 ปีแล้ว ประกอบกับ THCOM ได้ขยายการให้บริการแก่ลูกค้าใหม่ ๆ โดยเฉพาะในกลุ่ม CLMV แม้จะไม่ได้เข้ามาทดแทนทั้ง 100% แต่ก็เชื่อว่าการดำเนินธุรกิจในส่วนบริการแพร่ภาพน่าจะดีขึ้น

ส่วนการบริการอินเตอร์เน็ตก็อยู่ในทิศทางเดียวกันหลังจากสูญเสียลูกค้ารายใหญ่อย่าง NBN ในออสเตรเลีย และทีโอที แต่ก็ยังทยอยได้ลูกค้าใช้งานเป็นโครงข่ายมือถือสำรองในอินโดนีเซีย และกำลังจะได้ลูกค้าในฟิลิปปินส์เข้ามา ก็จะช่วยหนุนให้ธุรกิจดาวเทียมฟื้นตัวขึ้น

สำหรับกรณีการเจรจากับภาครัฐสำหรับการยิงดาวเทียมดวงใหม่เพื่อทดแทนดาวเทียมไทยคม 4,5 และ 6 ที่จะหมดสัมปทานในปี 64 แม้ขณะนี้จะยังไม่มีความคืบหน้า แต่เชื่อว่าน่าจะได้ข้อยุติภายในปีนี้ โดยคาดว่า THCOM จะยอมจ่ายส่วนแบ่งรายได้ให้กับภาครัฐจนสามารถนำมาซึ่งข้อยุติได้ เพราะการก่อสร้างดาวเทียมต้องใช้เวลา 2-3 ปี และมีระยะเวลาการยิงดาวเทียมอีกด้วย ซึ่งหากได้ข้อยุติก็จะหนุนผลการดำเนินงานในอนาคต

ปัจจุบัน THCOM มีดาวเทียมที่ใช้งานอยู่ 5 ดวง โดยดาวเทียมไทยคม 4,5 และ 6 เป็นดาวเทียมที่อยู่ภายใต้ระบบสัมปทาน ซึ่งจ่ายส่วนแบ่งรายได้ให้ภาครัฐสูงถึง 22.5% ขณะที่ดาวเทียมไทยคม 7 และ 8 อยู่ภายใต้ใบอนุญาตที่จ่ายค่าธรรมเนียม 5% ทำให้รัฐบาลต้องการดึงดาวเทียมไทยคม 7 และ 8 กลับมาสู่ระบบสัมปทาน ทำให้กระทบต่อ THCOM ที่ยังไม่สามารถลงทุนดาวเทียมดวงใหม่ และการขอเช่าใช้ดาวเทียมไทยคม 6 ที่ยังมีอายุการใช้งานคงเหลือ 7-8 ปีแม้จะหมดอายุสัมปทานก็ตาม

"เราเชื่อว่าช่วงปลายปีจะบีบให้ THCOM ต้องตัดสินใจตกลงว่าจะแบ่งส่วนแบ่งรายได้ให้กับภาครัฐเท่าไหร่ ในช่วง 5-22.5% กรณีเลวร้ายสุดเชื่อว่า THCOM จะยอมจ่ายส่วนแบ่งรายได้ดาวเทียมดวงใหม่ และเช่าไทยคม 6 ใกล้เคียงกับระบบสัมปทานที่ 22.5% เพื่อรักษาฐานลูกค้าเอาไว้ แม้กำไรจะต่ำกว่าดาวเทียมไทยคม 7 และ 8 ที่อยู่บนระบบใบอนุญาตก็ตาม"นายสุวัฒน์ กล่าว

นายสุวัฒน์ กล่าวอีกว่า สำหรับการที่ THCOM จะขายหุ้นที่ถืออยู่ทั้งหมด 42.07% ใน CSL ให้กับ ADVANC ตามแผนการปรับโครงสร้างของกลุ่มนั้น มองว่าจะเป็นผลบวกต่อทั้งกลุ่ม โดยในส่วนของ THCOM เบื้องต้นคาดว่าจะได้รับเงินสดราว 1.95 พันล้านบาท คิดเป็นกำไรไม่ต่ำกว่า 1 พันล้านบาท ซึ่งจะช่วยเพิ่มกระแสเงินสดให้กับ THCOM มากกว่าการที่ยังถือ CSL อยู่ เพราะที่ผ่านมา CSL สร้างกำไรให้กับ THCOM ราว 120 ล้านบาท/ปีเท่านั้น การดำเนินการแล้วเสร็จในปีนี้ก็จะทำให้กำไรปีนี้เติบโตขึ้นมากจากการรับรู้กำไรพิเศษดังกล่าว

ด้านบทวิเคราะห์ บล.บัวหลวง ระบุว่า การที่ขายหุ้น CSL ให้กับ ADVANC ถือว่าเป็นผลบวก THCOM เนื่องจากธุรกิจหลักของ CSL ได้แก่ บริการโซลูชั่นด้านไอซีที คอนเท้นต์โมบาย อินเตอร์เน็ตวงจรเช่าและความเร็วสูง และสื่อออนไลน์นั้น สร้างผลประโยชน์ร่วมทางธุรกิจให้กับ THCOM น้อยมาก โดยธุรกิจหลักของ THCOM ยังคงพึ่งพิงรายได้จากการให้เช่าช่องสัญญาณดาวเทียม

ในแง่ของผลกระทบทางการเงินประเมินว่าจะส่งผลกระทบสุทธิทางบวกต่อ THCOM ซึ่งสุทธิระหว่างเงินสดที่ได้รับจากการขายหุ้น CSL และกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่จะลดลงเนื่องจากผลการดำเนินงานของ CSL ที่หายไป ส่งผลให้ปรับราคาเป้าหมายของ THCOM ซึ่งประเมินด้วยวิธี DCF เพิ่มขึ้นอีก 0.50 บาท/หุ้น มาอยู่ที่ 25.50 บาท

ทั้งนี้ ประเมินว่าการขายหุ้น CSL จะเสร็จทันภายในไตรมาส 4/60 ภายใต้สมมติฐานของต้นทุนหุ้น CSL ที่ 1 บาท/หุ้น คาดว่า THCOM จะรับรู้กำไรจากการขายหุ้น CSL หลังหักภาษีประมาณ 1.36 พันล้านบาท หรือคิดเป็นกำไรสุทธิ/หุ้นของ THCOM ที่เพิ่มขึ้นอีก 1.24 บาท/หุ้นในไตรมาส 4/60 หนุนกำไร/หุ้นของ THCOM สำหรับปี 60 ให้เพิ่มขึ้นอีก 130%

บล.ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ว่า THCOM จะสามารถปลดล็อคมูลค่าที่ซ่อนอยู่จาก CSL หลังจากที่ขายหุ้นให้กับ ADVANC ซึ่งดีลนี้จะทำให้ได้รับกำไรพิเศษ (one-off gain) ที่ 1.20 บาท/หุ้น และเพิ่ม 0.28 บาท/หุ้น สำหรับการประเมินราคาเหมาะสมด้วยวิธี SOP โดยยังคงคำแนะนำ"ซื้อ" โดยมีปัจจัยบวกต่อประมาณการ คือการเพิ่มขึ้นของลูกค้ารายใหม่ และความชัดเจนของกฎระเบียบควบคุม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ