(เพิ่มเติม) DTAC ยัน LINE Mobile ดำเนินการโดย"ดีแทคไตรเน็ต"ถือเป็นแบรนด์ที่สองของดีแทคและไม่ใช่ MVNO

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday September 28, 2017 17:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ผู้บริหารของ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็สคอมมูนิเกชั่น (DTAC) ยืนยันว่าบริการ LINE Mobile เป็นบริการที่แยกการดำเนินงานจากดีแทค แบรนด์ และเป็นการดำเนินการโดย บมจ.ดีแทค ไตรเน็ต (DTN) ซึ่ง LINE Mobile ถือเป็นแบรนด์ที่สองของดีแทค โดยย้ำว่า LINE Mobile ไม่ใด้เป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบโครงข่ายเสมือน (MVNO)

ทั้งนี้ LINE Mobile ได้เริ่มเปิดให้บริการในวันที่ 19 ก.ย.60 จนถึงปัจจุบันมีจำนวนลูกค้ามากกว่า 1 หมื่นราย โดยส่วนใหญ่เป็นลูกค้าดิจิทัล โมบาย อายุระหว่าง 20-40 ปี เป็นหลัก

นายแอนดริว กวาลเซท รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มดิจทัล DTAC เปิดเผยว่า DTAC มีกลยุทธ์เตรียมเปลี่ยนตัวเองให้เป็นผู้ให้บริการดิจิทัล หรือ Digital Transformation ภายในปี ค.ศ.2020 หรือปี 63 โดยแบ่ง Digital Group เป็น Digital Care , Digital Sales, Digital Market,Digital Strategy และ New Investment คือ LINE Mobile

ทั้งนี้ ในปี 63 ดีแทคตั้งเป้าจะมียอดขายผ่านออนไลน์ ประมาณ 40% และช่องทางบริการผ่านออนไลน์ราว 80% จากปัจจุบันที่มียอดขายผ่านออนไลน์ใกล้เคียงภาพรวมอุตสาหกรรมที่มีประมาณ 5% และมีช่องทางบริการผ่านออนไลน์น้อยกว่า15%

นายแอนดริว กล่าวว่า การเปิดบริการ LINE Mobile เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าในประเทศไทย จากสถิติที่ผ่านมา คนไทยมียอดใช้โปรแกรม LINE จำนวน 41 ล้านคน นับเป็นอันดับ 2 ของโลก มียอดใช้ Facebook จำนวน 32 ล้านคน Youtube มียอด 28 ล้านคน ติด Top Ten ของโลก และ Instragram จำนวน 11 ล้านคน โดย LINE Mobile ให้บริการทั้งวอยซ์และดาต้าบนโครงข่ายของ DTN ไม่ต้องมีร้านค้าและพนักงานในจุดจำหน่ายทำให้ค่าบริการต่ำกว่าดีแทค

"LINE Mobile เป็นการสร้างแบรนด์ใหม่ ที่อยู่ใน DTN เราแยกทีมบริหารแบรนด์ดีแทคเพื่อให้มีอิสระ"นายแอนดริว กล่าว

ทั้งนี้ LINE Mobile เป็นความร่วมมือระหว่าง DTN (บริษัทลูก DTAC) กับ ไลน์ ประเทศไทย โดยบริการนี้ดำเนินงานโดย DTN อยู่บนกฎระเบียบและข้อบังคับด้านโทรคมนาคม จึงไม่ได้เป็นผู้ให้บริการ MVNO อย่างแน่นอน และ LINE Mobile ไม่ได้ทำให้รัฐเสียรายได้จากการให้บริการ เพราะรายได้ของ LINE Mobile ก็คือรายได้ของ DTN ซึ่ง DTN ก็ยังจ่ายค่าไลเซ่นส์ตามปกติ

ขณะที่ความร่วมมือกับไลน์ ประเทศไทย ยังมีให้บริการ ทั้งดาต้าและเสียง รวมทั้ง LINE TV ขณะที่ DTN จ่ายค่าสิทธิในการใช้เครื่องหมายการค้า (Royalty Fee)

"การใช้ LINE Mobile เป็นชื่อแบรนด์อีกแบรนด์ของดีแทค เป็นความต้องการสื่อสารตัวแบรนด์ไปถึงผู้บริโภคโดยต้องการเกิดความจำเพาะเจาะจง ชัดเจนและให้เห็นถึงกลุ่มเป้าหมายเป็นดิจิทัล"นายแอนดริว กล่าว

ส่วนการชี้แจงกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช) DTN และ LINE Mobile พร้อมที่จะชี้แจง แต่จนถึงขณะนี้บริษัทยังไม่ได้รับหนังสือเรียก สำหรับความกังวลเรื่องการปฏิบัติตามระเบียบ กสทช.ในการลงทะเบียนซิม หากขั้นตอนการลงทะเบียนจำเป็นต้องเก็บลายพิมพ์นิ้วมือ DTN ก็พร้อมจะปฏิบัติตามโดยเป็นไปได้ที่จะให้ผู้ให้บริการในการส่งซิมโทรศัพท์ให้ลูกค้าทำหน้าที่เก็บข้อมูลลายพิมพ์นิ้วมือ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ