"วรภัค"อดีตเอ็มดี KTB ปัดมีสายสัมพันธ์แน่นกับ EARTH,ยันไม่มีอำนาจกุมบังเหียนปล่อยสินเชื่อ

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday October 6, 2017 08:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวรภัค ธันยาวงษ์ อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย (KTB) ออกแถลงการณ์ยืนยันไม่มีสายสัมพันธ์แนบแน่นกับบมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ (EARTH) และไม่มีอำนาจควบคุมหรือสั่งการให้มีการปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้า เพราะขั้นตอนการพิจารณาต้องผ่านการกลั่นกรองจากสายงานต่าง ๆ อย่างรอบคอบ

แถลงการณ์ของนายวรภัค ระบุว่าจากกรณีที่หนังสือพิมพ์ด้านข่าวธุรกิจฉบับหนึ่ง ลงวันที่ 5-7 ตุลาคม 2560 รวมถึงเว็บไซต์ของหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ ลงข่าวพาดพิงถึงในฐานะอดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงไทย กับ EARTH โดยกล่าวหาในประเด็นต่าง ๆ ได้แก่ การมีสายสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับบริษัท , การกุมบังเหียนสั่งการปล่อยสินเชื่อ ,ทำไมต้องทำ equity finance และความเสียหายของธนาคารกรุงไทย ซึ่งเป็นข้อความที่เป็นเท็จและตนกำลังดำเนินการทางกฎหมายอยู่

พร้อมทั้งขอชี้แจงข้อเท็จจริงดังนี้ 1.กรณีมีสายสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับลูกค้านั้น ข้อเท็จจริงคือ ก่อนมารับตำแหน่งที่ธนาคารกรุงไทย ก็ไม่เคยรู้จักลูกค้ากลุ่มนี้มาก่อนไม่ว่าจะเป็นตัวบริษัทเองหรือผู้ถือหุ้นใหญ่ทั้งสองกลุ่ม หลังจากรับตำแหน่งที่ธนาคารกรุงไทยแล้วก็ไม่เคยประชุมร่วมกับลูกค้าหรือไปกินข้าวหรือทำกิจกรรมใดใดกับลูกค้ากลุ่มนี้ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นตนจึงไม่ได้มีความสัมพันธ์พิเศษใดใดทั้งสิ้นกับบริษัทนี้หรือกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ทั้งสองกลุ่ม

ขณะที่ลูกค้ากลุ่มนี้เป็นลูกค้าดั้งเดิมของธนาคารกรุงไทย โตมาจากสำนักงานธุรกิจศรีราชา พอเริ่มมีขนาดใหญ่ (บริษัทนี้มียอดขายรวมอยู่ที่ประมาณ 18,000 กว่าล้านบาท) ก็ถูกโอนย้ายมาอยู่กับสายงานลูกค้ารายใหญ่ ก่อนที่ตนจะมารับตำแหน่งที่ธนาคารกรุงไทยเมื่อปลายปี 2555

2.กรณีเป็นผู้กุมบังเหียนสั่งการในการอนุมัติสินเชื่อรายนี้นั้น ยืนยันว่าเป็นไปไม่ได้ ซึ่งข้อเท็จจริงคือกรรมการผู้จัดการใหญ่ในยุคปัจจุบัน ไม่มีอำนาจในการอนุมัติสินเชื่อเอง สินเชื่อรายใหญ่ ที่นำเสนอขออนุมัติโดยสายงานธุรกิจ ต้องผ่านการกลั่นกรองจากสายงานบริหารความเสี่ยง และคณะกรรมการกลั่นกรองสินเชื่อก่อนที่จะนำเสนอกับคณะกรรมการบริหารหรือคณะกรรมการธนาคารเพื่ออนุมัติ คณะกรรมการบริหาร และคณะกรรมการธนาคาร จะเน้นย้ำดูประเด็นหลักๆ และที่สำคัญที่สุดคือ ดู credit risk rating ของลูกค้าแต่ละรายว่าเป็นอะไร เพราะ credit risk rating เป็น indicator หลักที่จะสะท้อนความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้า เพราะฉะนั้นโดยบทบาทและหน้าที่ของตนไม่มีอำนาจใด ๆ ในการที่จะกุมบังเหียนการอนุมัติสินเชื่อลูกค้ารายใหญ่แต่ละรายเองได้

3.ทำไมต้องทำ equity finance นั้น ธนาคารไม่ได้มุ่งเน้นการปล่อยสินเชื่อให้ลูกค้านำไปซื้อหุ้นคืนจากผู้ถือหุ้นรายอื่น ในพอร์ตสินเชื่อของธนาคารกรุงไทย การปล่อยสินเชื่อเพื่อไปซื้อหุ้นคืนของลูกค้านั้นมีสัดส่วนไม่ถึง 1% ของสินเชื่อรวม ก่อนหน้านี้ทางธนาคารกรุงไทยก็เคยปล่อยสินเชื่อให้ลูกค้าบางรายไปซื้อหุ้นคืนจากผู้ถือหุ้นรายอื่น ซึ่งสาเหตุหลักในการซื้อหุ้นคืนส่วนใหญ่เป็นเรื่องผลตอบแทนการลงทุนหรือในบางกรณีก็อยากจะเพิ่มอำนาจในการควบคุมบริษัท buy out financing ในต่างประเทศมีธุรกรรมมากกว่าที่ประเทศไทยเยอะมาก ธนาคารไทย หลายแห่งก็ได้ปล่อยสินเชื่อเพื่อให้ไปซื้อหุ้นคืนจากผู้ถือหุ้นรายอื่นเช่นกัน ทั้งหุ้นที่อยู่ในตลาดและหุ้นของบริษัทที่อยู่นอกตลาด

แต่ปัจจัยที่สำคัญก็คือปล่อยกู้แล้วลูกค้ามีความสามารถในการชำระหนี้คืนให้ธนาคารอย่างไร ในกรณีของ EARTH ทางบริษัทก็ได้ชำระเงินต้นดอกเบี้ยคืนให้กับธนาคารเจ้าหนี้ทุกรายตามกำหนดจนกระทั่งมีธนาคาร เจ้าหนี้รายใหญ่หนึ่งยกเลิกวงเงินทุนหมุนเวียนระยะสั้นกระทันหันทำให้บริษัทมีปัญหาสภาพคล่องอย่างรุนแรง ใบหุ้นที่เคยมีมูลค่าสูงถึง 20,000 ล้านบาทจะกลายเป็นเศษกระดาษก็เพราะปัญหาสภาพคล่องเป็นหลัก

4.ความเสียหายของธนาคารเจ้าหนี้รายใหญ่ เกิดจากอะไรนั้น มีความพยายามเบี่ยงเบนประเด็นว่าธนาคารเจ้าหนี้ เสียหายเพราะปล่อยสินเชื่อโดยที่บริษัทยังไม่มีใบอนุญาต หรือได้รับใบอนุญาตล่าช้าในการทำเหมืองถ่านหินที่ประเทศอินโดนิเซีย ซึ่งข้อเท็จจริงก็คือบริษัทมีใบอนุญาตเรียบร้อยแล้วและไม่เคยมีปัญหาในการส่งมอบถ่านหินขายให้กับลูกค้าในช่วงที่ผ่านมา

ในมุมมองส่วนตัว เห็นว่าปัญหาที่เกิดขึ้นของลูกค้ารายนี้ เท่าที่ติดตามนำงบการเงินตามที่บริษัทได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯมาวิเคราะห์ดูผลการดำเนินงานของบริษัทก็อย่างเป็นปกติยอดขายเติบโตขึ้นเรื่อยเรื่อย ประมาณหนี้โตตามเงินทุนหมุนเวียน ซึ่งเพิ่มขึ้นตามยอดขาย ปัญหาของบริษัทเท่าที่ดูจากงบการเงินและข่าวต่าง ๆ น่าจะเกิดจากการที่ธนาคารเจ้าหนี้ ได้หยุดการให้วงเงินหมุนเวียนระยะสั้นอย่างกระทันหัน โดยธนาคารให้เหตุผลว่าลูกค้านำเงินไปใช้ผิดประเภท ตนไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ตอนที่เกิดปัญหานี้ขึ้น แต่โดยปกติแล้วถ้าทางธนาคารต้องการให้ลูกค้าชำระหนี้คืนหรือลดวงเงิน ก็ควรจะมีการเจรจาและวางแผนในการชำระหนี้เป็นขั้นเป็นตอน ค่อยค่อยปรับลดวงเงินตามระยะเวลาที่ตกลงกัน รวมทั้งธนาคารต้องเข้าไปควบคุมการจัดการทางการเงินของลูกค้าอย่างใกล้ชิด ไม่ใช่หยุดการให้หมุนวงเงินอย่างกระทันหันและขอชำระหนี้ในทันทีทันใด

การยกเลิกวงเงินในทันทีทันใดจะเป็นผลเสียต่อทั้งลูกค้าและ stakeholders อื่นๆทั้งผู้ถือตราสารหนี้ที่จำนวนมากก็เป็นลูกค้ารายย่อยของธนาคารเองและผู้ถือหุ้นของบริษัทและธนาคาร ยกเว้นในกรณีที่ธนาคารเล็งเห็นว่าธุรกิจและอุตสาหกรรมไม่สามารถไปต่อได้ ทำ ธุรกิจต่อไปแล้วจะมีแต่ขาดทุนไปเรื่อยเรื่อย ถ้าเป็นกรณีนั้นก็อาจจะต้องหยุดวงเงินทันที แต่อย่างไรก็ดีควรมีการประเมินถึงผลกระทบต่อผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายอย่างถี่ถ้วนและเลือกแนวทางที่จะเกิดความเสียหายต่อธนาคารและผู้เกี่ยวข้องให้น้อยที่สุดเท่าที่เป็นไปได้

ในกรณีที่ธุรกิจและอุตสาหกรรมยังไปต่อได้ปกติแล้วหลักการในการแก้ปัญหาก็คือต้องให้ลูกค้าทำงานใช้หนี้ ซึ่งในกรณีของ EARTH เท่าที่ได้มีโอกาสดูจากตัวเลขเท่าที่จะหาได้จากข้อมูลสาธารณะที่เปิดเผยต่อตลาดหลักทรัพย์ จนกระทั่งถึงจุดที่มีข่าวการหยุดวงเงินโดยธนาคารกรุงไทย ทางบริษัทยังมีการดำเนินธุรกิจตามปกติ (ยอดขายเมื่อสิ้นปี 2559 อยู่ที่ประมาณ 18,000 กว่าล้านบาท และในไตรมาสที่ 1 กว่า 7,000 ล้านบาท) นอกจากนั้นเท่าที่ได้ติดตามข่าวลูกค้ายังชำระดอกเบี้ยและเงินต้นตามปกติ และ Tris Rating ก็ยังให้การยืนยันเรตติ้ง BBB- จนกระทั่งมีข่าวผิดนัดชำระหนี้ออกมา ถึงได้ถูก down graded

อย่างไรก็ตามได้ข่าวล่าสุดก็คือทางกลุ่มธนาคารเจ้าหนี้และทางลูกหนี้ตกลงที่จะให้บริษัทเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ซึ่งนั่นหมายความว่าทางกลุ่มธนาคารเจ้าหนี้ยังเล็งเห็นว่า ธุรกิจและอุตสาหกรรมนี้ยังไปต่อได้ ซึ่งเรื่องนี้ก็ยังแปลกใจว่าถ้าธุรกิจและอุตสาหกรรมยังไปต่อได้ทำไมก่อนหน้านี้ธนาคาร เจ้าหนี้รายใหญ่ถึงไประงับวงเงินจนทำให้ลูกค้าขาดสภาพคล่องและเกิดปัญหาลุกลามบานปลายจนถึงทุกวันนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ