(เพิ่มเติม) "สหไทย เทอร์มินอล"คาดเสนอขายหุ้น IPO 120 ล้านหุ้น เข้าตลาด mai ภายใน พ.ย.นี้

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday October 11, 2017 12:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.สหไทย เทอร์มินอล (PORT) ผู้ให้บริการท่าเรือเอกชนครบวงจรรายใหญ่ของประเทศไทย วางแผนที่จะเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 120 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 26.09% ของทุนจดทะเบียนชำระแล้วภายหลังการเสนอขายหุ้น ภายในเดือน พ.ย.นี้ โดยจำนวน 6 ล้านหุ้นจะถูกจัดสรรให้กับกรรมการ ผู้บริหารและพนักงานของบริษัทที่ราคาขาย IPO โดยการระดมทุนครั้งนี้มีแผนจะนำเงินไปเป็นเงินทุนในการขยายธุรกิจ ชำระคืนเงินกู้ยืม และเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียน

นายมนตรี ศรไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (MBKET) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน เปิดเผยว่า เตรียมนำ PORT เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) โดยจะมีการเปิดจองซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ในช่วงปลางเดือน พ.ย. ก่อนที่จะเข้าซื้อในช่วงปลายเดือน พ.ย. นี้

บริษัทจะเดินทางนำเสนอข้อมูลให้กับสถาบันต่างๆในกรุงเทพ ตั้งแต่ต้นเดือน ต.ค.-พ.ย. โดยจะนำเงินที่ได้จากการระดมทุนมาใช้ในการขยายกิจการต่อเนื่อง และนำไปชำระหนี้สินบางส่วน จากปัจจุบันที่มีอยู่ราว 800 ล้านบาท ซึ่งมีระดับอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) 3 เท่า ซึ่งหลังจากชำระหนี้สินบางส่วนแล้ว D/E จะลดลงเหลือ 1.5 เท่า

PORT มีทุนจดทะเบียน 230 ล้านบาท โดยเป็นทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้ว 170 ล้านบาท (มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท) เป็นผู้ให้บริการท่าเรือเอกชนครบวงจรรายใหญ่ของประเทศไทย ให้บริการท่าเทียบเรือเชิงพาณิชย์สำหรับทั้งเรือขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ (Feeder) และเรือขนส่งชายฝั่ง (Barge) โดยท่าเรือของบริษัทตั้งอยู่ในทำเลที่สำคัญเชิงยุทธศาสตร์ของธุรกิจโลจิสติกส์ของประเทศ (อำเภอปู่เจ้าสมิงพราย จังหวัดสมุทรปราการ)

ปัจจุบัน บริษัทให้บริการแบบครบวงจร ตั้งแต่ 1.ธุรกิจการให้บริการท่าเทียบเรือเชิงพาณิชย์ครบวงจร สำหรับเรือขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ (Feeder) และเรือขนส่งสินค้าชายฝั่ง (Barge) รวมถึงให้บริการบรรจุสินค้าเข้า และถ่ายสินค้าออกจากตู้คอนเทนเนอร์ (CFS) และ ซ่อมแซมทำความสะอาดตู้คอนเทนเนอร์ (Container Depot) 2. ธุรกิจการให้บริการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ทางบก ภายในบริเวณจังหวัดกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และบริเวณเขตพื้นที่แหลมฉบัง

3. ธุรกิจการให้บริการพื้นที่จัดเก็บตู้คอนเทนเนอร์และคลังสินค้า โดยให้บริการพื้นที่ลานพักตู้คอนเทนเนอร์และคลังจัดเก็บสินค้ากับลูกค้า ทั้งที่เป็นเขตให้บริการปกติและปลอดภาษีอากร (Free Zone) ซึ่งปัจจุบัน บริษัทให้บริการแก่กลุ่มผู้ผลิตรถยนต์ระดับโลก กลุ่มธุรกิจ e-commerce และอีกหลากหลายอุตสาหกรรม 4.ธุรกิจการให้บริการเกี่ยวเนื่องอื่นๆ อาทิ การให้บริการ Freight Forwarding เป็นต้น

นายบัญชัย ครุจิตร รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร PORT เปิดเผยว่า บริษัทว่าคาดรายได้ปีนี้จะมากกว่าปีก่อนที่ 1,080 ล้านบาท โดยทิศทางการเติบโตในช่วงครึ่งปีหลังจะมากกว่าครึ่งปีแรก เนื่องจากในเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา บริษัท บางกอก บาร์จ เทอร์มินอล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกได้รับใบอนุญาต ICD (Inland Container Depot) ทางน้ำแห่งแรกของประเทศไทยจากกรมศุลกากรทำให้สามารถดำเนินการสินค้าเข้าได้ทันที เนื่องจากมีเจ้าหน้าที่จากกรมศุลกากรมาให้ความสะดวกทั้งการชำระภาษีและตรวจสอบสินค้า ส่งผลให้มีลูกค้าเข้ามาใช้ท่าเรือของบริษัทมากขึ้น

"ทิศทางรายได้เราค่อนข้างมั่นใจว่าจะเติบโตกว่าปีก่อนแน่นอน เนื่องจากเราได้ใบอนุญาต ICD เข้ามาช่วยให้ผู้ประกอบการได้รับความสะดวกสบาย และรวดเร็วในการขนส่งสินค้าทำให้ผู้ประกอบการต้องการใช้เรามากขึ้น แต่ในส่วนของกำไรยังต้องรอลุ้นเพราะช่วงต้นปีที่ผ่านมามีการลงทุนคลังสินค้าไปจึงมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม ซึ่งต้องมารอลุ้นว่าครึ่งปีหลังกำไรจะเข้ามาทันหรือไม่"นายบัญชัย กล่าว

อนึ่ง เมื่อปี 58 บริษัทได้ร่วมทุนกับสายการเดินเรือรายใหญ่ของญี่ปุ่น Mitsui O.S.K. Lines (MOL) จัดตั้งบริษัทร่วมทุนชื่อ บริษัท บางกอก บาร์จ เทอร์มินอล จำกัด (BBT) โดยในเดือน ก.ค.60 BBT ได้รับใบอนุญาต ICD (Inland Container Depot) ทางน้ำแห่งแรกของไทยจากกรมศุลกากรทำให้สามารถดำเนินการสินค้าขาเข้าได้ นอกจากนี้ในปี 59 บริษัทได้ร่วมทุนกับสายการเดินเรือ Mediterranean Shipping Company (MSC) หนึ่งในสายการเดินเรือรายใหญ่ของโลก ภายใต้ชื่อบริษัท บางกอก บาร์จ เซอร์วิส จำกัด (BBS) เพื่อให้บริการบริหารจัดการเรือขนส่งสินค้าชายฝั่ง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ