ทริสฯ จัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ CPALL วงเงินไม่เกิน 1.8 หมื่นลบ. ที่ระดับ “A/Stable"

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday October 25, 2017 16:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ.ซีพี ออลล์ (CPALL) ที่ระดับ “A+" ในขณะเดียวกันให้อันดับเครดิตแก่หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันวงเงินไม่เกิน 18,000 ล้านบาทของบริษัทที่ระดับ “A" โดยบริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ไปชำระหนี้เงินกู้เดิมและเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนของบริษัท

อันดับเครดิต “A+" ของบริษัทสะท้อนถึงสถานะความเป็นผู้นำในธุรกิจร้านค้าสะดวกซื้อในประเทศไทย ตลอดจนลักษณะของธุรกิจค้าปลีกที่สามารถสร้างกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงการมีเครือข่ายสาขาที่ครอบคลุมทั่วประเทศ และการมีธุรกิจสนับสนุนที่เข้มแข็ง อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากภาระหนี้ที่อยู่ที่ระดับสูงของบริษัทและการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจผู้ค้าปลีก นอกจากนี้ การประเมินอันดับเครดิตยังพิจารณาถึงการฟื้นตัวช้าของเศรษฐกิจไทยซึ่งส่งผลกระทบในด้านลบต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภค

CPALL เป็นผู้นำในธุรกิจค้าปลีกประเภทร้านค้าสะดวกซื้อในประเทศไทยภายใต้เครื่องหมายการค้า “7-Eleven" ที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล บริษัทก่อตั้งในปี 2531 โดยกลุ่มเจริญโภคภัณฑ์และได้รับสิทธิ์จาก 7-Eleven, Inc. ประเทศสหรัฐอเมริกา ภายใต้สัญญาการอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้าให้เป็นผู้ดำเนินธุรกิจร้านค้าสะดวกซื้อ 7-Eleven แต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย

บริษัทมีสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งจากการเป็นผู้นำในธุรกิจร้านค้าสะดวกซื้อภายในประเทศ สถานะความเป็นผู้นำของบริษัทเกิดจากความสำเร็จในการบริหารสินค้า ตลอดจนความสามารถในการพัฒนาสินค้าและขยายร้านค้า ทั้งนี้ 7-Eleven มีจำนวนร้านค้าเท่ากับ 10,007 สาขาทั่วประเทศ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2560 คิดเป็นประมาณ 2 ใน 3 ของร้านค้าปลีกทั้งหมดในประเทศไทย โดยเกือบครึ่งหนึ่ง (45%) ของจำนวนร้านค้าทั้งหมดอยู่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ส่วนที่เหลือ 55% อยู่ในต่างจังหวัด บริษัทเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการร้าน 7-Eleven ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในโลก ปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนสาขาของร้านค้า 7-Eleven มากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากประเทศญี่ปุ่น

ความได้เปรียบในการแข่งขันของบริษัทมาจากการที่บริษัทมีธุรกิจสนับสนุนที่เข้มแข็งทั้งในด้านการผลิตอาหารและเบเกอรี่ เครือข่ายการกระจายสินค้า ตลอดจนสถาบันการศึกษาเพื่อฝึกสอนบุคลากรบางส่วนให้แก่บริษัท

CPALL ได้เสริมโอกาสในการเติบโตด้วยการซื้อกิจการของ บมจ.สยามแม็คโคร (MAKRO) โดยในช่วงปลายปี 2556 บริษัทและบริษัทย่อยได้ซื้อหุ้นสามัญเกือบทั้งหมด (97.9%) ของ MAKRO ด้วยมูลค่าเงินลงทุนจำนวน 188,800 ล้านบาท MAKRO เป็นผู้นำในธุรกิจศูนย์จำหน่ายสินค้าแบบชำระเงินสดและบริการตนเองในประเทศไทย การมุ่งเน้นขายผลิตภัณฑ์อาหารช่วยให้ยอดขายของ MAKRO มีความผันผวนน้อยกว่าผู้ประกอบการค้าปลีกรายอื่น ยอดขายของ MAKRO เติบโตเป็นที่น่าพอใจซึ่งเกิดจากการขยายตัวของกลุ่มลูกค้าหลักของบริษัทคือผู้ประกอบการโรงแรม ร้านอาหาร และธุรกิจจัดเลี้ยง รวมไปถึงการขยายสาขาของบริษัท CPALL ยังสามารถใช้ประโยชน์จากตราสินค้าและความเชี่ยวชาญของ MAKRO ในการขยายสาขาไปยังต่างประเทศได้

อันดับเครดิตยังได้รับการสนับสนุนจากผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งของบริษัท โดยรายได้ของบริษัทเพิ่มขึ้นจาก 188,702 ล้านบาทในปี 2555 เป็น 434,712 ล้านบาทในปี 2559 รายได้ของบริษัทเติบโตอย่างรวดเร็วที่ระดับ 22%-44% ต่อปีในช่วงปี 2555-2557 จากการขยายจำนวนร้านค้าของบริษัท การขยายตัวของเมือง และการรวมงบการเงินของ MAKRO เข้ามาในงบการเงินของบริษัทในช่วงปลายปี 2556 รายได้ของบริษัทเติบโตในระดับที่ช้าลงโดยอยู่ที่ระดับ 10% ต่อปีในปี 2558 และปี 2559 อันเนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงเป็นสาเหตุหลัก ทั้งนี้ อัตราการขยายตัวของยอดขายของสาขาเดิมของร้านค้า 7-Eleven เติบโตที่ระดับต่ำลงในปี 2558 และปี 2559 เทียบกับในช่วงก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม ยอดขายของสาขาเดิมของร้านค้า 7-Eleven ยังคงสูงกว่าคู่แข่งที่มีอัตราการเติบโตติดลบหรือเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยในช่วงเวลาเดียวกัน

นอกจากยอดขายของบริษัทที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องแล้ว ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นโดยลำดับเช่นกัน โดยอัตรากำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายภายหลังการปรับปรุงด้วยค่าเช่าดำเนินงานของบริษัทเพิ่มขึ้นจากระดับ 9% ในปี 2556 มาอยู่ที่ 9.8% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2560 อำนาจในการต่อรองที่เพิ่มขึ้น ตลอดจนความสำเร็จในการปรับปรุงประสิทธิภาพ และการเพิ่มยอดขายในกลุ่มสินค้าที่มีอัตรากำไรที่สูงเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทเพิ่มขึ้น

ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา กำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทเติบโตในระดับปานกลาง โดยเพิ่มขึ้นจาก 27,040 ล้านบาทในปี 2557 เป็น 36,822 ล้านบาทในปี 2559 หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) เท่ากับ 16.7% เงินทุนจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี 22.1% จาก 17,045 ล้านบาทในปี 2557 เป็น 25,392 ล้านบาทในปี 2559

ในช่วงครึ่งแรกของปี 2560 บริษัทมีรายได้เท่ากับ 229,463 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งสาเหตุหลักมาจากการขยายสาขา กำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายเพิ่มขึ้น 10.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้ามาอยู่ที่ 20,020 ล้านบาทในช่วงครึ่งแรกของปี 2560 และเงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทเพิ่มขึ้น 15.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้ามาอยู่ที่ 14,311 ล้านบาท

อันดับเครดิตถูกลดทอนบางส่วนจากภาระหนี้ระดับสูงของบริษัท เงินกู้รวมของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างมากจากที่ไม่มีภาระหนี้สินในปี 2555 มาอยู่ที่ระดับ 185,337 ล้านบาทในปี 2556 เนื่องจากการกู้เงินเพื่อซื้อกิจการของ MAKRO แม้ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาบริษัทจะสร้างกระแสเงินสดเพิ่มขึ้นอย่างมาก แต่หนี้สินรวมของบริษัทยังคงอยู่ในระดับสูงจากการลงทุนขยายสาขาของทั้งร้านค้า 7-Eleven และห้างแม็คโคร ทั้งนี้ เมื่อรวมหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุน เงินกู้รวมของบริษัทจะอยู่ที่ระดับ 199,059 ล้านบาทในปี 2559 และ 195,683 ล้านบาท ณ เดือนมิถุนายน 2560 ในช่วงเดียวกัน อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุน (ปรับปรุงด้วยค่าเช่าดำเนินงาน) ของบริษัทเท่ากับ 81.3% ในปี 2559 และ 81% ณ เดือนมิถุนายน 2560 ลดลงเล็กน้อยจากระดับ 86.1% ในปี 2556 ถึงแม้บริษัทจะมีภาระหนี้อยู่ในระดับสูง แต่สภาพคล่องของบริษัทยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี กระแสเงินสดจากการดำเนินงานและเงินสดในมือของบริษัทมีเพียงพอสำหรับใช้ในการชำระหนี้ รวมทั้งใช้เป็นค่าใช้จ่ายลงทุนตามแผน และจ่ายเงินปันผลตามปกติ

กระแสเงินสดเพื่อรองรับการชำระหนี้ของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามกำไรจากการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้น อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมเพิ่มขึ้นจาก 10.2% ในปี 2556 มาอยู่ที่ 13.5% ในปี 2559 และ 14.2% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2560 (ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปีด้วยตัวเลข 12 เดือนย้อนหลัง) อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายเท่ากับ 3.9 เท่าในปี 2559 และ 4.0 เท่าในช่วงครึ่งแรกของปี 2560 เพิ่มขึ้นจาก 2.9 เท่าในปี 2557

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้คาดการณ์ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Product -- GDP) ว่าจะเติบโตที่ระดับ 3.5% ในปี 2560 และ 3.7% ในปี 2561 ปัจจัยหลักที่ผลักดันการเติบโตของเศรษฐกิจคือภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว คาดว่าการบริโภคภายในประเทศจะเติบโตแต่จะอยู่ในระดับต่ำ ภายใต้สมมติฐานของทริสเรทติ้งคาดว่ายอดขายของสาขาเดิมของบริษัทจะเติบโตในระดับต่ำตามการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่ยังชะลอตัว การขยายสาขายังคงเป็นปัจจัยผลักดันหลักในการเพิ่มยอดขาย รายได้ของบริษัทคาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากระดับ 434,712 ล้านบาทในปี 2559 เป็น 540,000 ล้านบาทในปี 2562 กำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายน่าจะเพิ่มขึ้นจาก 36,822 ล้านบาทในปี 2559 เป็น 45,000 ล้านบาทในปี 2562

ในช่วง 3 ปีข้างหน้าบริษัทมีแผนการลงทุนจำนวนประมาณ 17,000-18,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งประกอบด้วยการขยายจำนวนร้านค้า 7-Eleven ประมาณ 700 สาขาและห้างแม็คโครอีกประมาณ 6-8 สาขาต่อปีทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทั้งนี้ คาดว่าโครงสร้างเงินทุนของบริษัทจะทยอยปรับตัวดีขึ้นอย่างช้า ๆ เนื่องจากบริษัทมีแผนขยายร้านค้าเพิ่มต่อเนื่อง อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนคาดว่าจะปรับตัวลดลงอยู่ที่ประมาณ 70% ในปี 2562 ในกรณีที่ไม่มีการจำหน่ายหุ้นของ MAKRO

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงการคาดการณ์ว่าบริษัทจะสามารถรักษาสถานะความเป็นผู้นำและความสามารถในการแข่งขันในธุรกิจค้าปลีกในประเทศไทย ตลอดจนสามารถสร้างผลกำไรที่แข็งแกร่งต่อไปได้ การมีเงินสดในมือในระดับที่สูงและเสถียรภาพในการสร้างกระแสเงินสดจะช่วยหนุนความยืดหยุ่นทางการเงินให้แก่บริษัทในช่วงการขยายการลงทุน

ทั้งนี้ อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหากโครงสร้างเงินทุนและกระแสเงินสดที่ใช้รองรับการชำระหนี้ของบริษัทปรับตัวดีขึ้นมากอย่างต่อเนื่อง ในทางตรงกันข้าม อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจถูกปรับลดลงหากผลการดำเนินงานของบริษัทอ่อนแอลงกว่าที่คาด หรือมีการขยายการลงทุนจำนวนมากจนส่งผลให้โครงสร้างเงินทุนและความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทอ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ