ฟิทช์ฯ ประกาศคงอันดับเครดิต CPALL ที่ A(tha) แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday November 20, 2017 18:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-term Rating) ของ บมจ.ซีพี ออลล์ (CPALL) ที่ ‘A(tha)’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

และประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวหุ้นกู้มีประกันของบริษัทฯ ที่ ‘A(tha)’ อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิและไม่มีหลักประกันที่ ‘A-(tha)’ และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนที่ ‘BBB(tha)’

ในขณะเดียวกัน ฟิทช์ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น (National Short-term Rating) ของ CPALL ที่ ‘F1(tha)’ รายละเอียดของอันดับเครดิตทั้งหมดดูได้ที่ท้ายรายงาน

ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต การขยายธุรกิจชะลอการลดลงของอัตราส่วนหนี้สิน: ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินของ CPALL ที่วัดจากหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (funds flow from operations (FFO) adjusted net leverage) จะลดลงมาอยู่ในระดับ 4.0 เท่าถึง 4.5 เท่าในปี 2561 ซึ่งเป็นระดับที่สอดคล้องกับอันดับเครดิตในปัจจุบัน การลดลงของอัตราส่วนหนี้สินของ CPALL มีความล่าช้ากว่าที่ฟิทช์เคยคาดการณ์ไว้เดิมว่าจะลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 4.0 เท่าภายในปี 2561 เนื่องจากแผนการขยายธุรกิจของบริษัทย่อย คือ บมจ.สยามแม็คโคร (MAKRO) (A(tha)/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ) ซึ่งฟิทช์คาดว่าจะทำให้ค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนของกลุ่ม CPALL อยู่ในระดับ 1.9 หมื่นล้านถึง 2 หมื่นล้านบาทต่อปีในปี 2561-2562 ซึ่งสูงกว่าที่ประมาณการไว้เดิมที่ระดับ 1.4 หมื่นล้านบาทถึง 1.5 หมื่นล้านบาท

กระแสเงินสดเติบโตในระดับปานกลางแต่มั่นคง: ฟิทช์คาดว่ารายได้ของ CPALL จะเติบโตในอัตราร้อยละ 7 ถึงร้อยละ 8 ต่อปีในปี 2560 ซึ่งต่ำกว่าที่ประมาณการไว้เดิม เนื่องจากการฟื้นตัวที่ล่าช้าของการใช้จ่ายของผู้บริโภคในครึ่งปีแรกของปี 2560 อย่างไรก็ตาม อัตราการเติบโตของยอดขายในปี 2561-2562 น่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับประมาณร้อยละ 10 ต่อปี โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากสาขาที่เปิดใหม่และการฟื้นตัวของการใช้จ่ายที่เห็นได้ชัดเจนขึ้นในไตรมาสที่ 3 ของปี 2560 นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังคงได้รับประโยชน์จากการมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่ค่อนข้างแน่นอน เนื่องจากสินค้าที่ขายส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวัน ซึ่งมีความผันผวนของรายได้และอัตราส่วนกำไรที่ค่อนข้างต่ำ ในขณะที่ศักยภาพในการเติบโตของบริษัทฯ ในอีก 3-4 ปีข้างหน้า ยังคงได้รับปัจจัยสนับสนุนจากสภาวะของธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ในประเทศไทยที่ยังเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ในขณะที่การขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศน่าจะเพิ่มศักยภาพในการเติบโตในระยะยาว

ผู้นำในธุรกิจร้านสะดวกซื้อ: ฟิทช์เชื่อว่า CPALL จะสามารถรักษาตำแหน่งผู้นำทางการตลาดไว้ได้ แม้ว่าธุรกิจค้าปลีกจะมีการแข่งขันที่สูง CP ALL มีจำนวนร้านสะดวกซื้อภายใต้เครื่องหมายการค้า 7-Eleven มากกว่า 10,000 ร้านทั่วประเทศ โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดมากกว่าร้อยละ 60 ในด้านจำนวนร้าน ซึ่งสูงกว่าผู้ประกอบการรายใหญ่อันดับสองเป็นอย่างมาก ความเป็นผู้นำในตลาดของ CP ALL มีปัจจัยสนับสนุนจากการที่บริษัทฯ มีร้านค้าในเครือเป็นจำนวนมากและครอบคลุมพื้นที่อย่างกว้างขวาง รวมถึงการมีหน่วยงานในเครือที่สนับสนุนกิจการค้าปลีกของบริษัทฯ ได้แก่การบริการด้านลอจิสติกส์ การซ่อมแซมและบำรุงรักษาร้านค้าและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการฝึกอบรมและพัฒนาพนักงาน

เครื่องหมายการค้าที่เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง: CPALL บริหารงานร้านสะดวกซื้อภายใต้เครื่องหมายการค้า 7-Eleven ซึ่งเป็นที่รู้จักทั่วโลก ภายใต้สัญญา Area License Agreement ที่ทำกับบริษัท 7-Eleven Inc., แห่งสหรัฐอเมริกา โดยได้เปิดดำเนินการร้านค้าแรกในประเทศไทยเมื่อปี 2532 ปัจจุบันประเทศไทยเป็นประเทศที่มีจำนวนร้านค้า 7-Eleven มากเป็นอันดับที่สองในโลก รองจากประเทศญี่ปุ่น

การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป CPALL มีสถานะทางการตลาดในประเทศไทยที่แข็งแกร่ง จากการเป็นผู้ประกอบการร้านสะดวกซื้อที่มีเครือข่ายใหญ่ที่สุดในประเทศ ซึ่งเปรียบเทียบได้กับบริษัทที่เป็นผู้นำในธุรกิจอื่นๆ ได้แก่ บมจ.ปูนซีเมนต์ไทย (SCC) (A(tha)/แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นบวก) ซึ่งเป็นผู้ผลิตปูนซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นปลายที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และบมจ. ไทยออยล์ (TOP) (AA-(tha)/แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) ซึ่งเป็นโรงกลั่นน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ต่างก็เป็นหนึ่งในผู้นำตลาดในธุรกิจของตน อย่างไรก็ตาม CPALL มีสถานะในการแข่งขันที่แข็งแกร่งกว่าด้วยส่วนแบ่งทางการตลาดที่สูงกว่าคู่แข่งรายใหญ่อันดับสองเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ CPALL ยังมีความเสี่ยงทางธุรกิจที่ต่ำกว่า SCC และ TOP ซึ่งต้องเผชิญกับความต้องการสินค้าที่มีลักษณะเป็นวัฏจักรและความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งทำให้ CPALL มีอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่ายและ ค่าเช่าต่อรายได้ (EBITDAR Margin) ที่มีความสม่ำเสมอมากกว่า อย่างไรก็ตาม CPALL มีอัตราส่วนหนี้สินที่สูงกว่า SCC และ TOP เป็นอย่างมาก เนื่องจากหนี้สินที่เกิดจากการเข้าซื้อกิจการ Makro ในปี 2556 อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนหนี้สินของ CPALL น่าจะค่อยๆ ลดลงในอนาคต เนื่องจากเป็นธุรกิจที่มีความต้องการเงินลงทุนที่ต่ำ

ความเสี่ยงทางธุรกิจที่ต่ำกว่าของ CP ALL เพียงพอที่จะชดเชยระดับอัตราส่วนหนี้สินของ CP ALL ที่สูงกว่า SCC ทั้งสองบริษัทจึงมีอันดับเครดิตอยู่ในระดับเดียวกัน ส่วน TOP มีอัตราส่วนหนี้สินที่ต่ำมากโดยอยู่ในระดับประมาณ 1 เท่า จึงได้รับการจัดอันดับเครดิตที่สูงกว่า นอกจากนี้ อันดับเครดิตของ TOP ยังได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหนึ่งอันดับเพื่อสะท้อนถึงความสัมพันธ์กับกลุ่ม ปตท. อีกด้วย

สมมุติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ

  • รายได้รวมมีการเติบโตในอัตราร้อยละ 7-8 ต่อปี ในปี 2560 และประมาณร้อยละ 10 ต่อปีในปี 2561 -2562
  • อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่ายและ ค่าเช่าต่อรายได้ (EBITDAR Margin) ยังคงอยู่ที่ระดับร้อยละ 10.1-10.3 ในปี 2560-2562
  • มีการเปิดร้านค้าใหม่จำนวน 700 สาขาต่อปีในช่วงปี 2560-2562 สำหรับร้าน 7-Eleven และ 5-6 สาขาสำหรับร้านค้าขนาดใหญ่ของ MAKRO ในประเทศไทยในปี 2560-2562
  • มีการเปิดสาขาในต่างประเทศของ MAKRO 1 สาขาในปี 2560 และการขยายสาขาในต่างประเทศอย่างต่อเนื่องด้วยค่าใช้จ่ายในการลงทุนประมาณ 2 พันล้านบาทต่อปี ในปี 2561-2562
  • ค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนจำนวน 1.8 หมื่นล้านบาทถึง 2 หมื่นล้านบาทต่อปีในปี 2560-2562 ซึ่งรวมถึงค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนในต่างประเทศด้วย

ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต

ปัจจัยบวก ได้แก่ - อัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO adjusted net leverage) อยู่ในระดับต่ำกว่า 3.5 เท่า (ณ สิ้นเดือนกันยายน 2560: 5.2 เท่า)

ปัจจัยลบ ได้แก่ - การที่บริษัทฯ ไม่สามารถทำให้อัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO adjusted net leverage) ลดลงต่ำกว่า 4.5 เท่าได้ในปี 2561

  • อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่ายและ ค่าเช่าต่อรายได้ (EBITDAR Margin) ที่ลดลงต่ำกว่าร้อยละ 7.5 อย่างต่อเนื่อง (9 เดือนแรกในแรกปี 2560: ร้อยละ 10.4)

สภาพคล่องที่แข็งแกร่ง: CPALL มีหนี้สินประมาณ 2 แสนล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2560 โดยร้อยละ 8.9 จะครบกำหนดชำระคืนในอีก 12 เดือนข้างหน้านับจากสิ้นเดือนกันยายน 2560 และประมาณร้อยละ 93 ของหนี้สินทั้งหมดของ CPALL เป็นหุ้นกู้สกุลเงินบาท ในจำนวนนี้ร้อยละ 62 เป็นหุ้นกู้มีหลักประกันที่เป็นหุ้นของ Makro สภาพคล่องของ CPALL มีปัจจัยสนับสนุนหลักจากเงินสดและเงินลงทุนระยะสั้นจำนวน 3 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2560 และความสามารถในการสร้างกระแสเงินสด รวมถึงความสามารถในการออกหุ้นกู้ในตลาดตราสารหนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ