3 บริษัทยาระดับโลกประกาศเจตนารมณ์เป็นแนวร่วมต้านโกง IOD หวังภาคธุรกิจเข้าร่วมเพิ่มขึ้น

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday November 21, 2017 13:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายบัณฑิต นิจถาวร เลขาธิการ แนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (CAC) เปิดเผยว่า บริษัทยายักษ์ใหญ่ระดับโลกที่เป็นสมาชิกของสมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ (PReMA) ได้ลงนามประกาศเจตนารมณ์เข้าร่วมโครงการ CAC พร้อมกันในงานสัมมนาประจำปีของ CAC โดย 3 บริษัทยาที่เข้ามาร่วมประกาศเจตนารมณ์กับ CAC ประกอบด้วย Astellas Pharma (Thailand), Boehringer Ingelheim (Thai) และ Novartis (Thailand)

ที่ผ่านมาบริษัทที่รวมตัวเข้ามาประกาศเจตนารมณ์กับ CAC พร้อมกันเป็นกลุ่มเช่นนี้ ส่วนใหญ่จะอยู่ในภาคการเงิน การที่ธุรกิจยาซึ่งถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมสำคัญในภาคการผลิตผนึกกำลังกันเข้ามาร่วมเป็นเครือข่ายธุรกิจสะอาด ถือเป็นสัญญาณที่ดีที่ภาคธุรกิจให้ความสำคัญกับการต่อต้านคอร์รัปชัน และจับมือกันเข้ามาร่วมแบบเป็นกลุ่มเป็นก้อน ซึ่งจะทำให้การขับเคลื่อนของ CAC สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น

"มั่นใจว่าในระยะต่อไปจะต้องมีธุรกิจอื่นๆ รวมตัวกันเข้ามาร่วมกับ CAC ในลักษณะนี้อีกมากขึ้นเรื่อยๆ และการทำธุรกิจอย่างโปร่งใสจะกลายเป็นกระแสหลักของธุรกิจไทยได้ในที่สุด"

ปัจจุบันมีจำนวนบริษัทเอกชนที่ร่วมประกาศเจตนารมณ์ต่อต้านการทุจริต ไม่รับ-ไม่จ่าย สินบนในการทำธุรกิจตามโครงการ CAC แล้วทั้งสิ้น 861 บริษัท ซึ่งในจำนวนนี้มีบริษัทที่ผ่านการรับรองว่ามีนโยบายและมีแนวปฏิบัติป้องกันการทุจริตภายในองค์กรครบถ้วนตามเกณฑ์ที่ CAC กำหนดแล้ว 284 บริษัท โดย CAC กำหนดให้บริษัทที่ยื่นประกาศเจตนารมณ์ต้องดำเนินการให้ผ่านการรับรองภายใน 18 เดือน

CAC เป็นโครงการที่บริษัทเอกชนเข้าร่วมตามความสมัครใจ การประกาศเจตนารมณ์เข้าร่วมโครงการ CAC เป็นการแสดงเจตนารมณ์ร่วมต่อต้านคอร์รัปชันและการจ่ายสินบนของบริษัท ส่วนบริษัทที่ผ่านการรับรองจากคณะกรรมการ CAC หมายถึงบริษัทที่เข้าร่วมประกาศเจตนารมณ์กับโครงการ CAC และได้ผ่านกระบวนการประเมินตนเอง ที่มีการสอบทานและลงนามรับรองโดยประธานคณะกรรมการตรวจสอบของบริษัท หรือผู้ตรวจสอบบัญชีภายนอกว่าบริษัทมีการกำหนดนโยบายและแนวปฏิบัติเพื่อป้องกันการทุจริตครบถ้วนตามเกณฑ์ที่คณะกรรมการ CAC กำหนด ดังนั้น การรับรองโดยโครงการ CAC เป็นการรับรองว่าบริษัทมีนโยบาย และระบบป้องกันคอร์รัปชันและการให้สินบน ทั้งนี้ไม่ได้รับรองพฤติกรรมของตัวบุคคลในบริษัท

นายบัณฑิต กล่าวว่า ปัญหาคอร์รัปชั่นในประเทศไทยยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีการรณรงค์ของทุกๆหน่วยงานที่ได้ร่วมมือกัน แต่การคอร์รัปชั่นที่เกิดขึ้นเป็นเพราะพฤติกรรมของคนในสังคมที่แต่สะคนอยากทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ให้กับตนเอง และไม่เกรงกลัวกฏหมาย แม้ว่าจะมีการบังคับใช้กฏหมายที่รุนแรงมากขึ้น ซึ่งมองว่าการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นในประเทศไทยต้องใช้เวลาที่นานกว่าปัญหาคอร์รัปชั่นจะลดลงอย่างมาก เพราะพฤติกรรมของคนไทยมีความเคยชินกับการยอมรับคอร์รัปชั่น โดยการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นต้องเป็นการร่วมมือกันของทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชนที่ร่วมกันทำให้คอร์รัปชั่นในประเทศไทยลดลง

แนวทางแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นของสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) ในช่วงปี 61 จะมี 3 แนวทางหลัก ซึ่งจะเน้นไปที่การลดขั้นตอนและการเข้าถึงกลุ่มคนต่างๆมากขึ้น ซึ่งสิ่งแรกที่จะทำ คือ การเปลี่ยนขั้นตอนการประเมินบริษัทขนาดเล็กและขนาดกลางให้มีขั้นตอนการประเมินที่ลดลงเมื่อเทียบกับบริษัทขนาดใหญ่ และมีความสอดคล้องกับประเภทธุรกิจของแต่ละบริษัทมากขึ้น เพราะบริษัทขนาดเล็กและขนาดกลางมีความซับซ้อนทางด้านโครงสร้างองค์กรน้อยกว่าบริษัทใหญ่ ทำให้ขั้นตอนการประเมินจะต้องมีขั้นตอนที่น้อยกว่า

แนวทางที่สองที่ IOD จะต้องทำเป็นเรื่องการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลต่างๆที่ IOD ต้องการสื่อออกไปในด้านการลดปัญหาคอร์รัปชั่นใหมมากขึ้น เพื่อเป็นการให้ความรู้เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นซึ่งแนวทางนี้จะเป็นการเพิ่มจุดติดตั้ง QR Code อีก 50-60 จุด ตามสถานที่ราชการและเอกชนในกรุงเทพฯ ตามแผนเฟสที่ 2 จากปัจจุบันมีการติดตั้งแล้ว 10 จุด ในแผนเฟสแรก ซึ่งคาดว่าจะเริ่ดำเนินการขยายจุดติดตั้ง QR Code ได้ในช่วงต้นปีหน้า

และสิ่งสุดท้าย คือ การส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนและหน่วยงานภาครัฐ รู้จักบริษัทที่เข้าร่วมการต่อต้านการคอร์รัปชั่นกับ IOD ที่ปัจจุบันมี 284 บริษัทที่ผ่านการประเมิน โดยครึ่งหนึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่ง IOD ต้องการทำให้เกิดติดต่อค้าขายระหว่างกันเกิดขึ้น ซึ่งจะเป็นการช่วยสนับสนุนการทำธุรกิจของบริษัทที่เข้าร่วมไปด้วย

"ปีหน้าสิ่งที่เราจะทำ คือ การต่อยอดสิ่งที่ทำไปในปีนี้ให้คนรู้จัก และเข้าถึงมากขึ้นเพื่อทำให้เกิดโมเมนตัมของการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นอย่างยั่งยืน แต่ยอมรับว่าในไทยปัญหาคอร์รัปชั่นยังมีอยู่ ซึ่งเกิดจากพฤติกรรมของคนที่ไม่ยอมปรับเปลี่ยน และไม่กลัวกฎหมาย โดยการลดปัญหานี้ต้องร่วมมือกัน ไม่ใช่หน้าที่ของคนใดคนหนึ่ง ต้องมีกฎหมายเข้มข้นมากขึ้น มีระบบการทำงานที่โปร่งใส มีขั้นตอนการทำงานที่ไม่ซับซ้อนและตรวจสอบได้"นายบัณฑิต กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ