TMB วางเป้า 5 ปี (ปี 61-65) เพิ่มรายได้เท่าตัว,ตั้งเป้าสินเชื่อปี 61 โต 8-10% หลังศก.ฟื้นตัว-คุม NPL ไม่เกิน 2.5%

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday November 27, 2017 09:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน ธนาคารทหารไทย (TMB) เปิดเผยว่า แผน 5 ปีของธนาคารทหารไทย (ปี 61-65) ตั้งเป้าหมายเพิ่มรายได้อีก 1 เท่าตัวจากปัจจุบัน ซึ่งจะมาจากการขยายฐานลูกค้าที่เพิ่มมากขึ้น โดยวางเป้าขยายฐานลูกค้าเอสเอ็มอีขนาดเล็กเพิ่ม 4 เท่า จากปัจจุบันมีฐานลูกค้าอยู่ที่ 100,000 ราย และเพิ่มอัตราการเติบโตของจำนวนลูกค้าที่ทำธุรกรรมผ่านช่องทางดิจิทัลเป็นประจำ หรือลูกค้าที่ใช้ Digital Banking ที่ Active อีก 2 เท่า จากปัจจุบันมีลูค้าที่ Active อยู่ที่ 1 ล้านราย พร้อมกับเดินหน้าลดอัตราส่วนต้นทุนต่อรายได้ (Credit cost) ให้ลงเหลือ 40% จากปกติต้นทุนต่อรายได้ของธนาคารอื่น ๆ อยู่ที่ 40-50% อีกทั้งธนาคารยังหวังที่จะเป็นธนาคารที่ลูกค้าชื่นชอบและแนะนำมากที่สุดในช่วง 5ปี
"ในช่วง 5 ปีข้างหน้า เป้าหมายของธนาคารจะเน้นการเพิ่มสัดส่วนการทำธุรกรรมผ่านช่องทางออนไลน์ให้เพิ่มขึ้นมาก โดยสัดส่วนจะกลับข้างจากปัจจุบัน ที่มีการทำธุรกรรมผ่านสาขา 80% และทำธุรกรรมผ่านช่องทางออนไลน์ 20% มาเป็นออนไลน์ 80% และสาขา 20% ซึ่งจะมีผลต่อจำนวนสาขาที่ปรับลดลง แต่คงบอกไม่ได้แน่นอนว่าจะลดลงไปเท่าไหร่ ก็ต้องดูว่าพฤติกรรมการใช้บริการของลูกค้าจะเปลี่ยนไปตามที่ธนาคารอยากให้หันมาใช้ช่องทางออนไลน์มากน้อยแค่ไหน ซึ่งตอนนี้ธนาคารก็ได้มีการเพิ่มผลิตภัณฑ์และบริการต่าง ๆ ผ่านในแอพ TMB TOUCH เพื่ออำนวยความสะดวกให้ลูกค้าทำธุรกรรมผ่านช่องทางออนไลน์ได้สะดวกขึ้น"นายปิติ กล่าว

นายปิติ กล่าวว่า เป้าหมายในปี 61 ธนาคารตั้งเป้าสินเชื่อเติบโต 8-10% ซึ่งเป็นระดับการเติบโตแบบมีประสิทธิภาพ ตามการเพิ่มขึ้นของจำนวนลูกค้า และตามภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นการเติบโตสองเท่าของอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ (GDP) หาก GDP โต 4% สินเชื่อควรจะเติบโตได้ในช่วง 8-10% และในปี 60 ธนาคารมั่นใจว่าสินเชื่อจะยังเติบโตได้ตามเป้าหมายที่ 5% โดยในไตรมาส 4/60 ธนาคารคาดว่าการเติบโตของสินเชื่อมีแนวโน้มที่ดีต่อเนื่อง จากปัจจัยหนุนของการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว ซึ่งเห็นได้จากตัวเลขส่งออกที่ขยายตัวดีขึ้นกว่าคาด ประกอบกับการลงทุนโครงการต่าง ๆ ที่ทยอยออกมา ส่งผลบวกต่อความต้องการสินเชื่อของภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้น ขณะที่สัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในปี 61 ธนาคารจะพยายามควบคุมให้ไม่เกิน 2.5% ใกล้เคียงกับปี 60 โดยมองว่าสถานการณ์ NPL ได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว และมีแนวโน้มที่ค่อย ๆ ปรับลดลงสู่ภาวะปกติ ซึ่งจะส่งผลต่อการตั้งสำรองฯที่ลดลงในปี 61 ซึ่งมองว่าการบริหารจัดการคุณภาพหนี้ในปัจจุบันยังมีความสามารถในการบริหารจัดการได้ดี พร้อมกับรักษาอัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage Ratio) ให้อยู่ในระดับไม่ต่ำกว่า 140% เท่ากับระดับปัจจุบัน นอกจากนี้ธนาคารยังคงเดินหน้าลดความซับซ้อนของโครงสร้างภายในองค์กร เพื่อทำให้ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น พร้อมกับยังได้เริ่มการทำงานแบบ Agile เพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการทำงานที่สามารถส่งมอบ ผลิตภัณฑ์และบริการที่รวดเร็ว และดำเนินการเพิ่มประสิทธิภาพของธนาคารโดยรวมเพื่อทำให้การพัฒนาบริการและผลิตภัณฑ์ทันต่อความต้องการของลูกค้าและสำหรับด้านทรัพยากรบุคคลซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่สุดในการตอบสนองความต้องการของลูกค้า และสนับสนุนให้พนักงานธนาคารกล้าเปลี่ยนและใช้ศักยภาพได้อย่างเต็มที่ในการทำสิ่งที่แตกต่างและมีความหมายต่อชีวิตของลูกค้าอย่างยั่งยืนต่อไป "เพื่อให้ธนาคารบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่อยากปฏิรูปองค์กรให้มีความฉับไว สามารถตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า และรองรับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว ในยุคดิจิทัลได้ โดยเราจะลดขั้นตำแหน่งงานให้เหลือเพียง 5 ขั้นใน 5 ปี ข้างหน้า จากปัจจุบันอยู่ที่ 6 ขั้น ขณะที่ แบงก์อื่นๆ อยู่ที่ 15 ขั้น"นายปิติ กล่าว

ขณะที่การเดินสายให้ข้อมูลกับนักลงทุนสถานบันต่างประเทศ ธนาคารจะเดินทางไปให้ข้อมูลร่วมกับบล.ซีแอลเอสเอ (ประเทศไทย) ในวันที่ 27-29 พ.ย.นี้ ที่ประเทศสิงคโปร์ และฮ่องกง โดยจะเปิดเผยแผนธุรกิจของธนาคารใน 5 ปีต่อจากนี้ พร้อมแสดงวิสัยทัศน์ของผู้บริหารคนใหม่ที่จะมารับตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 61 เป็นต้นไป

ด้านนายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TMB เปิดเผยว่า ในช่วง 9 ปีที่ผ่านมาในการทำงานที่ TMB ถือว่าประสบความสำเร็จตามแผนกลยุทธ์ที่ตั้งไว้ในการพลิกโฉมธนาคาร ภายใต้แนวคิด “Make the difference" เพื่อประโยชน์ของลูกค้าและผู้ถือหุ้น ซึ่งจากที่ธนาคารทหารไทยเคยมีผลการดำเนินงานขาดทุน ก็กลับมามีกำไร และจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นได้อีกครั้ง โดยในช่วงที่ผ่านมา ธนาคารได้แบ่งการดำเนินงานเป็น 3 เฟส เริ่มต้นด้วยเฟสแรกในการเปลี่ยนและสร้างรากฐานใหม่ให้กับธนาคารด้วยการเสริมสร้างฐานะการเงินให้แข็งแกร่ง ปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กร ปรับโครงสร้างการบริหารทรัพยากรบุคคล และการปรับโครงสร้างสาขา การดำเนินกลยุทธ์ใช้เงินฝากเป็นตัวนำโดยการส่งมอบบัญชีเงินฝากเพื่อการทำธุรกรรมและบัญชีเงินฝากเพื่อการออมที่ดีที่สุดในตลาด

“TMB เป็นธนาคารแรกที่ยกเลิกการ กรอกเอกสารฝากถอนเงิน เป็นธนาคารแรกที่นำเสนอการธนาคารดิจิทัลภายใต้แบรนด์ ME by TMB และพัฒนา TMB TOUCH ที่เป็น Mobile Banking Applicatio เพื่อให้ลูกค้าสามารถทำธุรกรรมได้ง่ายและสะดวกทุกที่ทุกเวลา"นายบุญทักษ์ กล่าว

ส่วนเฟสล่าสุดในการผลักดันเพี่อก้าวเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงด้วยการพัฒนาให้การทำธุรกรรมทางการเงินให้ดียิ่งขึ้นเพื่อลูกค้า เช่น ส่งมอบบัญชี TMB All Free ไม่มีเครื่องหมายดอกจัน บัญชี SME One Bank เป็นธนาคารแรกที่พัฒนา TMB Business TOUCH โมบายแอพพลิเคชั่นเพื่อลูกค้าเอสเอ็มอี มอบสิทธิประโยชน์ให้ลูกค้าที่ใช้ทีเอ็มบีเป็นธนาคารหลัก และส่งมอบประสบการณ์ที่ราบรื่นไม่สะดุดในทุกช่องทางการบริการลูกค้า

ทั้งนี้การบรรลุเป้าหมายทั้ง 3 เฟสนี้ ทำให้ TMB เป็นธนาคารที่มีความแข็งแกร่งในทุกด้านและมีศักยภาพสูงในการตอบโจทย์ความต้องการที่ตรงใจลูกค้า (Needbased) ด้วยผลิตภัณฑ์และบริการที่ใช้งานสะดวกและง่าย (Simple & Easy) เน้นที่การสร้างประสบการณ์การธนาคารที่ใช้งานได้จริงเพื่อประโยชน์ของลูกค้า และเป็นประโยชน์ต่อธนาคารที่จะมีผลการดำเนินงานที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนี่องในทุก ๆ ปี และยังจะก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคงตามแผนกลยุทธ์ที่ต่อเนื่องสำหรับการตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าอย่างมีประสิทธิภาพ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ