AOT เตรียมปรับเป้าจำนวนผู้โดยสารงวดปี 61 จากที่ตั้งไว้โต 5% หลัง 2 เดือนแรกพุ่ง 20.6 ล้านคน

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday November 28, 2017 13:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) หรือ ทอท.เปิดเผยกับ"อินโฟเควสท์"ว่า ในช่วง 2 เดือนของปีงบประมาณ 61 (1 ต.ค.-26 พ.ย.60) จำนวนผู้โดยสารของท่าอากาศยานดอนเมือง มีจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 13.2% มาที่ 6 ล้านคน โดยเป็นผู้โดยสารระหว่างประเทศ เติบโต 41.4% และผู้โดยสารในประเทศเติบโต 0.6% ขณะที่เที่ยวบินในช่วงเดียวกันเติบโต 5.3% เป็นกว่า 4.1 หมื่นเที่ยวบิน โดยเป็นเส้นทางระหว่างประเทศเติบโต 26% และเส้นทางในประเทศเติบโต 3.6%

สาเหตุที่จำนวนผู้โดยสารและเที่ยวบินที่ท่าอากาศยานดอนเมืองเติบโตอย่างมากเป็นเพราะหลังจากที่ไทยได้ปลดธงแดงจากองค์การการบินพลเรือน (ICAO)เมื่อต้นเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา ทำให้สายการบินต่างๆ โดยเฉพาะสายการบินต้นทุนต่ำที่ทำการบินระหว่างประเทศ สายการบินต่างๆต้องการเพิ่มเที่ยวบินแต่ตารางเวลาบินของท่าอากาศยานดอนเมืองเต็ม ทำให้สายการบินที่เคยมีตารางบินอยู่แล้ว ปรับเป็นเส้นทางบินต่างประเทศมากขึ้น จึงเปลี่ยนมาใช้เครื่องบินขนาดใหญ่มากขึ้นจึงเห็นว่าจำนวนผู้โดยสารโตมากกว่าจำนวนเที่ยวบิน

เช่นเดียวกับท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ สายการบินสัญชาติจีนได้ยกเลิกตารางบินไปเมื่อปีที่แล้วที่นักท่องเที่ยวจีนหดตัวลงไปจึงมีสายการบินจากรัสเซียและอินเดียเข้ามาทำการบินแทน และในปีนี้สายการบินจากจีนต้องการเข้ามาบินจึงไม่มีตารางบินที่เคยทำการบิน จึงได้มาทำการบินในช่วง Off Peak หรือช่วงเวลาดึก ที่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยเดินทางในเวลาช่วงนี้

ทั้งนี้ ในช่วง 1 ต.ค.-26 พ.ย.60 จำนวนผู้โดยสารที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเติบโต 15.4% มาที่ 9.3 ล้านคน โดยเป็นผู้โดยสารระหว่างประเทศเติบโต 15.9% และผู้โดยสารระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น 13.2% ส่วนเที่ยวบินในช่วงเดียวกันเติบโต 6.6% เป็น 5.4 หมื่นเที่ยวบิน โดยเป็นเส้นทางระหว่างประเทศโต 7% และเส้นทางในประเทศโต 5%

"เวลาเกือบ 2 เดือน ผู้โดยสารจาก 2 สนามบินก็ขึ้นไป 15 ล้านคนแล้วจากทั้ง 6 ท่าอากาศยานมีผู้โดยสารทั้งหมด 20.6 ล้านคน ...คาดว่าจะการปรับประมาณการขึ้น" นายนิตินัยกล่าว

ส่วนความคืบหน้าการเข้าบริหารท่าอากาศยานของกรมท่าอากาศยานนั้น นายนิตินัย กล่าวว่า จากที่ ทย. เสนอให้บริษัทเข้าบริหาร 2 ท่าอากาศยาน คือ ท่าอากาศยานตาก และ ท่าอากาศยานอุดรธานี นั้นเห็นว่า ท่าอากาศยานตาก เหมาะจะทำการบินขนส่งสินค้า (Cargo) และ ท่าอากาศยานอุดรธานี ซึ่งสามารถรองรับผู้โดยสารระหว่างประเทศบินตรงจากยุโรปเข้ามาได้โดยไม่ต้องผ่านกรุงเทพ จากปัจจุบันต้องมาเชื่อมต่อที่กรุงเทพ โดยจากการศึกษาพบว่า มีประมาณ 25% ที่ผู้โดยสารเดินทางลักษณะเช่นนี้ หากได้บริหารท่าอากาศยานอุดรฯ ก็จะช่วยลดปริมาณผู้โดยสารในกรุงเทพทั้งท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และดอนเมือง ไม่ให้เกิดความแออัดมากเกินไป ขณะที่จะทำให้ประชาชนลาวเข้ามาใช้บินตรงไปยุโรปได้ โดยท่าอากาศยานอุดรฯ สามารถพัฒนาปรับปรุงทางวิ่ง (runway) เพื่อให้เครื่องบินใหญ่ลงจอดได้

ทั้งนี้ เป็นไปตามยุทธศาสตร์ที่ ทอท.ต้องการ HUB ที่ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก จากที่มีอยู่ทางเหนือคือเชียงใหม่ ทางใต้คือ ภูเก็ต และกลางคือ สุวรรณภูมิและดอนเมือง

อย่างไรก็ตาม AOT ได้เสนอแผนพัฒนาอุตสาหกรรมการขนส่งทางอากาศประเทศไทย ในภาพรวมภายใต้แนวคิดการเชื่อมโยงโครงข่ายระบบท่าอากาศยาน (Airport Sytem) และการดำเนินธุรกิจในรูปแบบ Cluster ด้านการขนส่งทางอากาศด้านการขนส่งทางอากาศ และเป็นการเป็นผู้บริหารเดียว (Single Operator) โดยจะเข้าบริหารท่าอากาศยานอย่างน้อย 15 แห่งของทย.ที่มีอยู่ 29 แห่ง พร้อมได้นำเสนอต่อรมว.คมนาคมแล้ว

ในวันพรุ่งนี้ (29 พ.ย.) จะมีการหารือเรื่องนี้ร่วมกันระหว่างกระทรวงคมนาคม ทย. และ ทอท.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ