บล.ทรีนีตี้ มอง SET รอบนี้จับตาเฟดชึ้นดอกเบี้ย ธ.ค.60 และ มี.ค.61 ตลาดอาจปรับฐาน

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday November 28, 2017 15:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิศิษฐ์ องค์พิพัฒนกุล กรรมการผู้จัดการ บล.ทรีนีตี้ เปิดเผยถึงการลงทุนในหุ้นประจำสัปดาห์นี้ (27 พ.ย.-1 ธ.ค.) ให้จับตานโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่มีแนวโน้มมากกว่า 95% ปรับขึ้นดอกเบี้ยในเดือน ธ.ค.60 และมีโอกาสที่จะเห็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งในเดือน มี.ค.61 ซึ่งจะส่งผลให้ตลาดอาจจะต้องปรับฐาน เพื่อสะท้อนการขึ้นดอกเบี้ยมาสู่ระดับ 1.75% ในเดือน มี.ค.61

“ถ้ามองในช่วงสั้นปัจจัยที่เป็นตัวกำหนดทิศทางตลาดหุ้นใน EM (Emerging Market : ระบบเศรษฐกิจของประเทศตลาดเกิดใหม่) คือตลาดการเงินในประเทศจีน แนะนำให้นักลงทุนติดตามตลาดหุ้นจีนอย่างใกล้ชิด รวมทั้งนโยบายของ Fed ซึ่งทั้ง 2 ปัจจัยถือว่าเป็นความกังวลแค่ระยะสั้น แต่อยากให้มองเป็นโอกาสในการสะสมหุ้นในระยะยาว" นายวิศิษฐ์ กล่าว

สำหรับในช่วงปลายปี 60 เราได้เห็นการขายเพื่อทำกำไร (Profit Taking) ในหุ้นที่มีราคาปรับตัวสูงขึ้นกว่าการปรับตัวของดัชนีตลาด (Outperform) ตลอดปี 60 เช่น หุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้า ส่วนในช่วงระยะสั้นหุ้นกลุ่มที่ได้รับผลดีจากการฟื้นตัวของภาคการบริโภคภายในประเทศ (Domestic Consumption) จะมีการ Outperform กว่าหุ้นกลุ่มที่มีการปรับตัวตามสภาวะเศรษฐกิจหรือธุรกิจ (Cyclical) รวมทั้งหุ้นกลุ่มรถยนต์ที่ Position ตัวเองมุ่งสู่รถยนต์ไฟฟ้า (Electric Car) รวมถึงหุ้นในกลุ่มธนาคารที่มีการเพิ่มขึ้นของ ROE (Return on Equity : อัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น) ก็จะ Outperform เช่นกัน

นายวิศิษฐ์ กล่าวต่อว่า ตลาดหุ้นไทยที่ปรับฐานในสัปดาห์ที่ผ่านมากว่า 30 จุด เป็นการปรับตัวลงตามตลาดหุ้นจีนและถือเป็นการปรับฐานย่อย นำโดยกลุ่มปิโตรเคมีและกลุ่ม Cyclical ที่ถูกขายทำกำไร เนื่องจากความกังวลในตลาดการเงินของจีน

ในส่วนของประเด็นที่นักลงทุนมีความกังวลในตลาดการเงินและตลาดหุ้นจีน เช่น ภาคการปล่อยกู้ของภาคสถาบันการเงิน (Credit Market) การเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทน 10 ปีของพันธบัตรรัฐบาลจีนมาสู่ระดับกว่า 4% และการเริ่มมีการควบคุมของระเบียบการเงินเพิ่มขึ้น เช่น การเพิ่มอัตราดอกเบี้ย (Rate) ของธนาคารกลางขึ้นในการทำ Open Market Operation การควบคุมเรื่องการออกตราสารประเภท Wealth Management Products (WMPs) เพื่อลดความร้อนแรงของตราสารการบริหารความมั่นคั่งดังกล่าว รวมทั้ง Item ที่อยู่ใน Off Balance Sheet Item

ขณะที่สัปดาห์ที่ผ่านมา นักลงทุนต่างประเทศซื้อพันธบัตรระยะสั้น จำนวน 33,000 ล้านบาท และมีกระแสการไหลของเงินทุน (Fund Flow) ที่เข้าซื้อตลาดพันธบัตรระยะสั้นของไทยจำนวนมากถึง 48,000 ล้านบาทในเดือน พ.ย. โดยตลอดทั้งปี 60 มีเม็ดเงินที่ไหลเข้ามาลงทุนในพันธบัตรระยะสั้นของไทยเป็นจำนวนถึง 320,000 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นอันดับต้นๆ ในรอบหลายปีที่ผ่านมา จึงทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นในระยะสั้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ