TPBI คาดรายได้-อัตรากำไรขั้นต้นปี 60 ลดลงจากปีก่อน แต่ปี 61 เชื่อรายได้กลับมาใกล้เคียง/มากกว่าปี 59 ที่ 5 พันลบ.

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday December 1, 2017 11:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกมล บริสุทธนะกุล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน บมจ.ทีพีบีไอ (TPBI) คาดรายได้ปี 60 ลดลงจากปี 59 ที่มีรายได้รวม 5 พันล้านบาท และอัตรากำไรขั้นต้น (Gross Profit Margin) ลดลงมาที่ 11-12% จากระดับ 14.3% ในปีก่อน หลังในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา มีรายได้รวม 3.5 พันล้านบาท อัตรากำไรขั้นต้น 11.2% ขณะที่มีอัตรากำไรสุทธิ 4% เนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป มีการลดการใช้ถุงพลาสติก โดยตลาดส่งออกลดลงมาก อาทิ ออสเตรเลีย สหรัฐ อังกฤษ กระทบต่อยอดสั่งซื้อ ประกอบกับค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น ก็กระทบต่อรายได้ของบริษัทด้วย เนื่องจากสัดส่วนรายได้ส่วนใหญ่ 60% มาจากการส่งออก

ส่วนในไตรมาส 4/60 คาดว่าผลประกอบการจะดีกว่าในไตรมาส 3/60 แต่ก็ยังลดลงจากไตรมาส 4/59 โดยบริษัทอยู่ในช่วงการพัฒนาสินค้าบรรจุภัณฑ์ใหม่ ๆ ต่อเนื่องจากไตรมาส 3/60 โดยสินค้าใหม่มียอดคำสั่งซื้อมากขึ้น เช่น ถุงพลาสติกที่ย่อยสลายได้ ถุงผักใส่ผักและผลไม้

นายกมล คาดว่าในปี 61 ผลประกอบการจะกลับมาดีขึ้น โดยคาดว่ารายได้รวมใกล้เคียงหรือทำได้มากกว่าปี 59 และคาดว่าอัตรากำไรขั้นต้นจะปรับตัวดีขึ้น หลังจะเพิ่มการผลิตผลิตภัณฑ์ General Packaging ใหม่ , การขยายกำลังการผลิต Flexible Packaging ที่จะเริ่มผลิตได้ในเม.ย.หรือ พ.ค. 61

ตลอดจนการขยายการผลิต Multilayer Film ที่บริษัทได้ใช้เงินลงทุนในการขยายกำลังการผลิตแล้วกว่า 500 ล้านบาท ซึ่งเฟส 2 จะขยายเพิ่มเป็น 200 ตัน/เดือน เพิ่มเท่าตัวโดยคาดว่าจะเริ่มผลิตในต้นปี 61 และจะขยายเฟสต่อไปเป็น 250 ตัน/เดือน ในปี 62 หรือปี 63 โดยคาดว่าจะใช้เงินลงทุนเพิ่มราว 150-200 ล้านบาท ซึ่ง ณ สิ้นไตรมาส 3/60 ใช้อัตรากำลังการผลิตในระดับ 68%

นอกจากนี้มีการออกบรรจุภัณฑ์ด้วยระบบการพิมพ์ดิจิตอล ที่ทำงานตามความต้องการของลูกค้าที่เพิ่งออกผลิตภัณฑ์ใหม่ หรือ เหมาะกับเอสเอ็มอี หรือ OTOP

ส่วนความคืบหน้าโครงการร่วมลงทุนในธุรกิจผลิตและจำหน่ายบรรจุภัณฑ์พลาสติกในประเทศเมียนมา ที่บริษัทเข้าถือหุ้นสัดส่วน 65% คาดว่าบริษัทจะได้รับอนุญาตในช่วงต้นปี 61 จะเริ่มผลิตได้ โดยคาดว่ามีรายได้ 100 ล้านบาท และมีแผนขยายกำลังการผลิตเท่าตัวจากที่มีกำลังการผลิต 300-400 ตัน/เดือน เพื่อผลิตถุงหูหิ้วพลาสติก ถุงขยะพลาสติกเป็นหลัก

นายกมล กล่าวว่า การเข้าร่วมทุนในเมียนมาเพราะเห็นจุดแข็งที่มีช่องทางการจำหน่ายที่แข็งแกร่ง มีฐานการตลาด และสามารถขยายตลาดชายแดน อาทิ อินเดีย ,จีน เป็นต้น รวมทั้งมองว่าจะเป็นฐานการส่งออกไปยังประเทศพัฒนาแล้วเพราะได้เปรียบเรื่องค่าแรง สิทธิการนำเข้า และสิทธิประโยชน์ทางภาษีด้วย

นอกจากนี้ บริษัทได้เจรจาพันธมิตรการเข้าร่วมทุนหรือซื้อกิจการในกลุ่มประเทศกลุ่ม CLMV อาทิ เวียดนาม และในประเทศ จำนวนประมาณ 2-3 ราย โดยคาดว่าจะเข้าไปถือหุ้นสัดส่วน 25-50%

"เราเติบโตจาก Organic มีการเปลี่ยนทิศทางของตลาดที่เปลี่ยนไป อย่างแคลิฟอร์เนียประกาศยกเลิกใช้ถุงก็กระทบ ในช่วงปี 60-61 เราอยู่ในช่วง Transform ที่เราจะไม่ใช่การลงทุนสูง และเรายังเติบโต Inorganic อย่างที่เราลงทุนในเมียนมา "นายกมล กล่าว

นายกมล กล่าวอีกว่า ส่วนความคืบหน้าการเข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุนของบริษัท มินิมา เทคโนโลยี จำกัด ประเทศไต้หวัน ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพย่อยสลายได้ 100% เพื่อเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นของกลุ่มบริษัทในอัตราไม่เกิน 25% จากปัจจุบันถือหุ้นอยู่ 2.7% โดยบริษัทยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบสถานะสินทรัพย์ (Due Diligence) ของที่ปรึกษาทางกฏหมาย และที่ปรึกษาทางการเงิน แต่ดูแนวโน้มขณะนี้อาจจะไม่จบดีลในเดือนธ.ค.นี้ ตามที่เคยคาดไว้


แท็ก ทีพีบีไอ  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ