AOT ยันเปิดประมูลเครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิดใหม่ในเดือน ธ.ค. รองรับการใช้ในปี 62 คุ้มกว่าการใช้ CTX รุ่นเดิม

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday December 4, 2017 08:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) หรือทอท. แจงความจำเป็นการเปิดประมูลเครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิดใหม่ในเดือนธ.ค. เพื่อนำมาใช้ในท่าอากาศยานสุวรรภูมิ (ทสภ.) หลังประเมินเครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิดแบบ X-Ray (CTX) รุ่นเดิม ซึ่งปัจจุบันได้ยกเลิกการผลิตไปแล้วนั้น หากจะใช้งานต่อจะมีค่าใช้จ่ายจำนวนมากทำให้อาจไม่คุ้มค่าทางการเงินและมีความสุ่มเสี่ยงต่อคุณภาพการให้บริการ เมื่อเทียบกับการจัดหา “ระบบใหม่ที่มีเทคโนโลยีปัจจุบัน" ในวงเงินราว 2,590 ล้านบาทที่รวมระยะเวลารับประกัน 2 ปี รวมค่าแรงและอะไหล่ และมีอายุการใช้งานไปอีกราว 15 ปีข้างหน้า โดยการเปิดประมูลภายในระยะเวลาดังกล่าวเพื่อให้มีระบบใหม่ใช้งานได้ทันในปี 2562

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ของ ทอท. ออกเอกสารชี้แจงว่า กรณีจัดซื้อเครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิดแบบ X-Ray (CTX) รุ่น 9400 DSI จำนวน 26 เครื่องจากบริษัท Morpho Detection International, LLC. (MD LLC) เพื่อติดตั้งสำหรับใช้งานที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ตั้งแต่เปิดให้บริการ ทสภ. ในปี 2549 โดยปัจจุบันได้จ้างบริษัทเอกชนซึ่งเป็นผู้แทนของ MD LLC ในประเทศไทยดูแลและซ่อมแซมเครื่อง CTX จนถึงวันที่ 6 กรกฎาคม 2562 ซึ่ง ทอท. ได้รับแจ้งจาก MD LLC เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2556 ว่าได้มีการแจ้งให้ลูกค้าทั่วโลกทราบแล้วว่าจะมีการยกเลิกการผลิตเครื่อง CTX รุ่น 9400 DSI ในปี 2557

ดังนั้น หากสิ้นสุดสัญญาการจ้างเอกชนดูแลและซ่อมแซมเครื่อง CTX ในปี 2562 แล้ว หาก ทอท. ประสงค์จะใช้เครื่อง CTX รุ่น 9400 DSI ซึ่งเป็นรุ่นที่มีเทคโนโลยีเก่านี้ต่อไป MD LLC จะเรียกค่าปรับปรุงซ่อมแซม (Refurbish) เครื่อง CTX ทั้ง 26 เครื่องเป็นเงิน 8,346,000 เหรียญสหรัฐ (รวมภาษีมูลราคาเพิ่ม) คิดเป็นเงินไทยประมาณ 275 ล้านบาท โดยจากหนังสือที่ MD LLC แจ้ง ทอท. เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2558 มีใจความว่า นอกจากค่าปรับปรุงซ่อมแซม (Refurbish) เครื่องจำนวนประมาณ 275 ล้านบาทแล้วนั้น MD LLC จะขอคิดค่าดูแลและซ่อมแซมเครื่องเป็นเงิน 22,514,169.6 เหรียญสหรัฐ (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 740 ล้านบาท ในช่วงระยะเวลา 5 ปีแรก (นับจากปี 2562-2567) หรือคิดเป็นเฉลี่ยปีละราว 148 ล้านบาท และจะขอเพิ่มเป็นเฉลี่ยปีละราว 167 ล้านบาทในช่วง 4 ปีถัดไป (ปี 2567-2571)

ทั้งนี้ ทอท. ได้พิจารณาข้อเสนอของ MD LLC แล้ว เห็นว่าควรจัดหาให้มีระบบใหม่ในการใช้งานก่อนวันที่ 6 กรกฎาคม 2562 เนื่องจากหลังจากนั้นค่าใช้จ่ายในการ Refurbish และการจัดจ้างดูแลและซ่อมแซมเครื่อง CTX รุ่น 9400 DSI ตามที่เสนอมาเป็นวงเงินรวมทั้งสิ้นสูงถึงราว 1,680 ล้านบาทเพื่อให้ ทอท. ได้มี “เครื่องเดิมที่ยกเลิกการผลิตไปแล้ว" ใช้งานต่อไปอีก 9 ปีซึ่งมีความไม่คุ้มค่าทางการเงิน และมีความสุ่มเสี่ยงต่อคุณภาพการให้บริการเป็นอย่างยิ่ง เมื่อเทียบกับการจัดหา “ระบบใหม่ที่มีเทคโนโลยีปัจจุบัน" ในวงเงินราว 2,590 ล้านบาทที่รวมระยะเวลารับประกัน 2 ปี รวมค่าแรงและอะไหล่ และมีอายุการใช้งานไปอีกราว 15 ปีข้างหน้า ทั้งนี้เพื่อให้มีระบบใหม่ดังกล่าวใช้งานได้ทันในปี 2562 ทอท. จำเป็นต้องเปิดให้มีการประมูลภายในเดือน ธันวาคม 2560

ทอท.ในฐานะผู้บริหารท่าอากาศยานหลัก 6 แห่งของประเทศไทยยึดมั่นการดำเนินงานภายใต้หลักธรรมาภิบาล โปร่งใส ตรวจสอบได้ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ประเทศชาติเป็นสำคัญ ทอท. จึงจำเป็นที่จะชี้แจงข่าวสารข้อมูลที่ถูกต้องให้สาธารณะชนได้รับทราบ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ