ทริสฯ คงอันดับเครดิตองค์กร-หุ้นกู้ MAJOR ที่ "A" แนวโน้ม Stable

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday December 12, 2017 16:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บมจ.เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป (MAJOR) ที่ระดับ “A"

อันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะผู้นำของบริษัทในธุรกิจโรงภาพยนตร์ในประเทศไทย ตลอดจนการมีโรงภาพยนตร์ซึ่งตั้งอยู่ในทำเลที่ดีทั่วประเทศ ผลประกอบการที่ดีในธุรกิจสื่อและโฆษณาที่เป็นเอกลักษณ์ของบริษัท และคณะผู้บริหารที่มีความสามารถ อย่างไรก็ตาม จุดเด่นดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ อาทิ ปริมาณของภาพยนตร์ที่เข้าฉาย รวมทั้งความเป็นที่นิยมของภาพยนตร์ การแข่งขันจากกิจกรรมนันทนาการประเภทอื่น และการแพร่ระบาดของสื่อภาพยนตร์ละเมิดลิขสิทธิ์

MAJOR เป็นผู้ประกอบการโรงภาพยนตร์รายใหญ่ที่สุดในประเทศไทยด้วยส่วนแบ่งทางการตลาดประมาณ 70% โดยพิจารณาจากรายได้รวมของภาพยนตร์ที่เข้าฉายในสัปดาห์แรก บริษัทก่อตั้งในปี 2538 โดยนายวิชา พูลวรลักษณ์ ซึ่งปัจจุบันถือหุ้นในบริษัทในสัดส่วน 32% บริษัทดำเนินธุรกิจหลัก 5 ประเภท ได้แก่ โรงภาพยนตร์ โบว์ลิ่งและคาราโอเกะ สื่อและโฆษณา การให้เช่าพื้นที่และบริการ รวมถึงธุรกิจสื่อภาพยนตร์ โดยรายได้ส่วนใหญ่ของบริษัทมาจากธุรกิจโรงภาพยนตร์และธุรกิจโฆษณา ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2560 รายได้จากธุรกิจโรงภาพยนตร์คิดเป็น 74% ของรายได้ทั้งหมด ในขณะที่รายได้จากธุรกิจโฆษณาคิดเป็น 15% ส่วนรายได้ที่เหลือมาจากธุรกิจอื่น ๆ อีก 3 ประเภท

ณ เดือนกันยายน 2560 บริษัทดำเนินกิจการโรงภาพยนตร์ 121 แห่ง ด้วยจำนวนจอภาพยนตร์ทั้งสิ้น 695 จอ ปัจจุบันบริษัทมีจอภาพยนตร์ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลจำนวน 346 จอ ในต่างจังหวัด 333 จอ และในต่างประเทศ 16 จอ สำหรับธุรกิจโบว์ลิ่งและคาราโอเกะนั้นบริษัทมีสาขาทั้งหมด 15 แห่ง ซึ่งประกอบด้วยรางโบว์ลิ่ง 299 ราง ห้องคาราโอเกะ 169 ห้อง และลานสเก็ตน้ำแข็ง 6 ลาน นอกจากนี้ บริษัทยังเป็นเจ้าของโรงภาพยนตร์ขนาดใหญ่อีกจำนวน 5 แห่ง ซึ่งมีพื้นที่ให้เช่าขนาด 49,130 ตารางเมตร (ตร.ม.) รวมทั้งยังขยายโรงภาพยนตร์ไปตามห้างสรรพสินค้าและร้านค้าปลีกสมัยใหม่โดยใช้ตราสัญลักษณ์หลากหลายเพื่อดึงดูดลูกค้าหลาย ๆ กลุ่มด้วย

สถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งของบริษัทได้รับแรงหนุนบางส่วนจากการมีความสัมพันธ์ที่ดีกับตัวแทนผู้จัดจำหน่ายภาพยนตร์และการมีโรงภาพยนตร์จำนวนมากทั่วประเทศ โดยรายได้จากการเข้าชมภาพยนตร์ขึ้นอยู่กับจำนวนภาพยนตร์ที่เข้าฉาย รวมถึงคุณภาพและความเป็นที่นิยมของภาพยนตร์ด้วย อนึ่ง การชมภาพยนตร์ในโรงเป็นรูปแบบความบันเทิงที่มีราคาไม่แพงและสามารถเข้าถึงได้ง่าย อย่างไรก็ตาม การชมภาพยนตร์ในโรงก็มีความเสี่ยงจากการมีความบันเทิงในรูปแบบอื่น ๆ เป็นสิ่งทดแทน เช่น กิจกรรมความบันเทิงภายในบ้าน การใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ และกิจกรรมนันทนาการอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม กิจกรรมนันทนาการในรูปแบบอื่นดังกล่าวก็ยังไม่สามารถทดแทนประสบการณ์จากการชมภาพยนตร์ในโรงได้

ในปี 2559 และช่วง 9 เดือนแรกของปี 2560 รายได้ของบริษัทเติบโต 1.9% และ 3.9% ตามลำดับ โดยรายได้ที่เพิ่มขึ้นมาจากยอดการจำหน่ายตั๋วชมภาพยนตร์และการจำหน่ายอาหารว่างและเครื่องดื่มที่เติบโตขึ้นเนื่องจากมีภาพยนตร์ไทยและภาพยนตร์ฮอลลีวูดที่เป็นที่นิยมหลายเรื่อง รวมทั้งการเพิ่มจำนวนจอภาพยนตร์ นอกจากนี้ รายได้จากธุรกิจสื่อและโฆษณาของบริษัทยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องแม้ว่าภาวะอุตสาหกรรมสื่อและโฆษณาโดยรวมจะมีผลการดำเนินงานที่อ่อนตัวลงก็ตาม ส่วนอัตราการทำกำไรของของบริษัทยังคงอยู่ในระดับสูงประมาณ 29% ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา บริษัทมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายจากธุรกิจภาพยนตร์คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 61% ของกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายทั้งหมด ส่วนที่เหลือมาจากธุรกิจสื่อและโฆษณา ทั้งนี้ การที่ธุรกิจสื่อและโฆษณามีค่าใช้จ่ายต่ำ บริษัทจึงได้รับกระแสเงินสดจากธุรกิจดังกล่าวอย่างมีนัยสำคัญ

หนี้สินรวมของบริษัทปรับตัวลดลงจาก 5,257 ล้านบาทในปี 2559 เป็น 4,979 ล้านบาท ณ เดือนกันยายน 2560 โดยอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทอยู่ที่ประมาณ 65% ในช่วงปี 2559 ถึง 9 เดือนแรกของปี 2560 สภาพคล่องของบริษัทอยู่ในระดับที่น่าพอใจ โดยเงินทุนจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นจาก 1,794 ล้านบาทในปี 2558 เป็น 1,949 ล้านบาทในปี 2559 และอยู่ที่ 1,575 ล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2560

อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมอยู่ที่ระหว่าง 18%-19% ในปี 2558 จนถึงช่วง 9 เดือนแรกของปี 2560 อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายอยู่ที่ระดับประมาณ 5.2 เท่าในช่วงเดียวกัน สำหรับในช่วงอีก 12 เดือนต่อจากนี้ไปบริษัทจะมีภาระในการชำระหนี้จำนวน 2,701 ล้านบาท โดยเป็นหนี้ระยะสั้นจำนวน 2,115 ล้านบาท ทั้งนี้ ณ วันที่ 30 กันยายน 2560 บริษัทมีเงินสดในมือจำนวน 805 ล้านบาทและมีวงเงินสินเชื่อจากธนาคารหลายแห่งอีกจำนวน 3,926 ล้านบาทซึ่งเพียงพอสำหรับภาระหนี้ดังกล่าว

ณ เดือนกันยายน 2560 มูลค่าทางการตลาดของเงินลงทุนที่สำคัญของบริษัทอยู่ที่ 6,444 ล้านบาท โดยเป็นการลงทุนใน บมจ. เอ็ม พิคเจอร์ส เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ (MPIC) ใน บมจ.สยามฟิวเจอร์ ดีเวลอปเมนท์ (SF) ในกองทุนรวมสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ ไลฟ์สไตล์ (MJLF) และในบริษัทอินเดียชื่อ PVR Ltd. ซึ่งมูลค่าทางการตลาดที่อยู่ในระดับสูงจากการลงทุนเหล่านี้จะเป็นส่วนเสริมให้แก่บริษัทหากมีความต้องการเงินทุน

ในช่วงปี 2561-2563 ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้รวมของบริษัทจะเติบโตในระดับปานกลางจากการมีภาพยนตร์ซึ่งคาดว่าจะได้รับความนิยมที่จะออกฉายจำนวนหลายเรื่องและแผนในการขยายสาขาโรงภาพยนตร์อย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าอัตรากำไรจากการดำเนินงานจะอยู่ที่ประมาณ 30% ทั้งนี้ บริษัทมีแผนจะเพิ่มจำนวนจอภาพยนตร์ให้เป็น 1,000 จอภายในปี 2563 ซึ่งส่งผลให้บริษัทต้องใช้เงินลงทุนประมาณ 1,000 ล้านบาทต่อปีในช่วง 3 ปีข้างหน้า นอกจากนี้ บริษัทยังได้ตั้งงบประมาณไว้อีกปีละราว ๆ 300 ล้านบาทเพื่อใช้ในการผลิตภาพยนตร์ไทยด้วย คาดว่าอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทจะปรับลดลงเป็นประมาณ 57% ในปี 2563 โดยเงินทุนจากการดำเนินงานคาดว่าจะอยู่ในระดับสูงกว่า 2,000 ล้านบาท ในขณะที่อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมจะอยู่ที่ระดับประมาณ 24% ส่วนอัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายนั้นจะอยู่ที่ระดับสูงกว่า 5 เท่า

แนวโน้มอันดับเครดิต“Stable"หรือ“คงที่"สะท้อนการคาดการณ์ว่าบริษัทจะสามารถดำรงสถานะผู้นำตลาดในธุรกิจโรงภาพยนตร์และรักษาผลประกอบการให้อยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจเอาไว้ได้ โอกาสในการปรับเพิ่มอันดับเครดิตในระยะ 12-18 เดือนข้างหน้ายังไม่น่าเกิดขึ้นยกเว้นในกรณีที่บริษัทสามารถเพิ่มกระแสเงินสดได้เป็นอย่างมากและสามารถรักษาอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนให้อยู่ในระดับปัจจุบัน ในขณะที่อันดับเครดิตอาจได้รับผลกระทบในทางลบหากบริษัทมีการกู้ยืมเงินมาใช้ในการลงทุนจนส่งผลให้สถานะทางการเงินของบริษัทอ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ