(เพิ่มเติม) BCPG จับมือพันธมิตรออสเตรเลีย ใช้ Blockchain รุกธุรกิจซื้อขายไฟฟ้าผ่านอินเตอร์เน็ตรายแรกในภูมิภาค

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday December 18, 2017 16:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.บีซีพีจี (BCPG) ลงนามในข้อตกลงกับบริษัท พาวเวอร์เล็ดเจอร์ (Power Ledger) ประเทศออสเตรเลีย พันธมิตรในการซื้อขายไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Peer-to-Peer ในการนำ Blockchain Technology มาซื้อขายไฟฟ้าผ่านอินเตอร์เน็ตเป็นรายแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ในต้นปี 61 โดยจะเริ่มจะโครงการนำร่องในโครงการ T77 ที่เป็นโครงการส่วนกลางที่มีนิติบุคคลบริหารทั้งหมด 3 โครงการ ได้แก่ คอมมูนิตี้มออล์ โรงเรียน และเซอร์วิส อพาร์ทเม้นท์ กำลังผลิตติดตั้ง 1-2 เมกะวัตต์ ซึ่งจะเริ่มใช้ได้ในช่วงกลางปี 61 และจะทำให้ต้นทุนค่าไฟลดลง 10-15%

โครงการนี้จะช่วยลดค่าใช้จ่ายของรัฐบาลในการสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ เพื่อตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ลูกค้าและผู้บริโภคก็มีทางเลือกมาขึ้นด้วยการซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Peer-to-Peer โดยนอกจากผู้บริโภคจะผลิตไฟฟ้าได้เอง ช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าแล้ว ยังช่วยเพิ่มรายได้จากการขายไฟฟ้าส่วนเกินได้อีกด้วย โดยผู้ร่วมโครงการมีหลากหลาย ทั้งในรูปแบบที่อยู่อาศัย ห้างสรรพสินค้า โรงเรียน โรงพยาบาล นิคมอุตสาหกรรม เป็นต้น

นายบัณฑิต สะเพียรชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ BCPG เปิดเผยว่า ในปี 61 บริษัทจะเดินหน้าการติดตั้งแผงโซลาร์รูฟท็อปในโครงการที่อยู่อาศัย สถานีบริการน้ำมัน นิคมอุตสาหกรรม และร้านค้าขนาดใหญ่ที่ทำธุรกิจจำหน่ายสินค้าเชิงพาณิชย์ (Commercial store) เช่น เทสโก้ โลตัส และบิ๊กซี ซึ่งบริษัทวางงบลงทุนไว้ที่ 1-2 พันล้านบาท โดยมีจำนวนกำลังการผลิตติดตั้งราว 30 เมกะวัตต์ ซึ่งก่อนหน้านี้บริษัทได้ร่วมมือกับ บมจ.แสนสิริ (SIRI) เพื่อเตรียมเข้าไปติดตั้งแผงโซลาร์รูฟท็อปภายในโครงการอสังหาริมทรัพย์ T77 จำนวน 1-2 เมกาวัตต์ ซึ่งจะติดตั้งแล้วเสร็จภายในช่วงกลางปี 61

นอกจากนี้ บริษัทยังเตรียมเข้าไปติดตั้งแผงโซลาร์รูฟท็อปในสถานีบริการน้ำมันบางจาก ซึ่งจะเซ็นสัญญาในเร็วๆนี้ โดยในปี 61 บริษัทจะเข้าไปติดตั้งแผงโซลาร์รูฟท็อปในสถานีบริการน้ำมันบางจาก 50-100 แห่ง และในอนาคตจะค่อยๆขยายการติดตั้งแผงโซลาร์รูฟท็อปในสถานีบริการน้ำมันบางจากเพิ่มขึ้น ซึ่งบางจากมีสถานีบริการน้ำมันในประเทศมากกว่า 1,000 แห่ง

“เราต้องการเปลี่ยนจากการทำธุรกิจแบบ Wholesale ที่เป็นรูปแบบการสร้างโรงไฟฟ้าขายเข้าระบบ ไปสู่ธุรกิจ Retail ที่สามารถเข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น ผ่านการบริการของเราแบบครบวงจรในแง่ของการติดตั้งแผง การซื้อขายไฟ การดูแลและบริการหลังการขายของบริษัท เพื่อทำให้เกิดความยั่งยืนของการเติบโตในระยะยาว และขยายฐานลูกค้าให้มากขึ้น อีกทั้งเราสามารถทำให้ต้นทุนค่าไฟถูกลง"นายบัณฑิต กล่าว

แผนการเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าในปี 61 ของบริษัทยังมั่นใจทำได้ตามแผนที่จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มอีก 200 เมกะวัตต์ แม้ว่าโครงการโซลาร์ฟาร์มของบริษัทจะไม่ได้รับการคัดเลือก SPP Hybrid ที่ประกาศผลไปแล้วก็ตาม แต่บริษัทจะพยายามหาช่องทางอื่นเพื่อขยายกำลังการผลิตให้ได้ตามเป้าหมาย พร้อมกับมองหาเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาเสริมการให้บริการกับลูกค้าเพื่อก้าวสู่ธุรกิจพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน

สำหรับในสิ้นปี 60 บริษัทจะมีกำลังการผลิตตามสัดส่วนถือหุ้นรวมอยู่ที่ 600 เมกะวัตต์ และมีเป้าหมายจะเพิ่มเป็น 800 เมกะวัตต์ภายในปี 61

ด้านนายเดวิด มาร์ติน กรรมการผู้จัดการ บริษัท พาวเวอร์เล็ดเจอร์ (Power Ledger) กล่าวว่า Blockchain Technology จะช่วยลดขั้นตอนที่ซับซ้อนของการทำธุรกรรมที่ต้องกระทำผ่านคนกลาง ทำให้เกิดธุรกรรมแบบ Peer-to-Peer ที่จะเกิดขึ้นแบบ real time ในการซื้อขายใดๆ ก็ได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ