PTT มองปีนี้ธุรกิจ LPG แข่งขันสูง แต่ยังหวังเติบโต 1% สวนตลาดหดตัว,รุกนำนอนออยล์เสริมในปั๊ม

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday January 10, 2018 12:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายมุนินทร์ ไตรภพ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่การตลาดพาณิชย์ บมจ.ปตท. (PTT) กล่าวว่า ธุรกิจก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) หรือก๊าซหุงต้มจะยังแข่งขันสูงในปีนี้ โดยเฉพาะในตลาดภาคขนส่ง ที่ความต้องการใช้ลดลงต่อเนื่อง แต่ผู้ประกอบการยังคงต้องการปริมาณขายในระดับเดิมซึ่งจะทำให้เกิดการแข่งขันด้านราคามากขึ้น โดยปตท.เตรียมนำธุรกิจที่ไม่เกี่ยวข้องกับน้ำมัน (non oil) เข้ามาเสริมในสถานีบริการ LPG เพื่อหวังช่วยดีลเล่อร์ให้ยังอยู่ในธุรกิจ และช่วยผลักดันภาพรวมธุรกิจ LPG ของปตท.ในปีนี้เติบโต 1% สวนทิศทางตลาดรวมที่คาดว่าจะหดตัวลง 1-2%

ทั้งนี้ ประเมินว่าปีนี้ธุรกิจ LPG ของปตท. ในส่วนของภาคครัวเรือนจะเติบโตราว 1% ซึ่งเป็นการเติบโตเท่ากับตลาดที่คาดว่าโต 1% ในปีนี้ , ภาคขนส่ง ของปตท. คาดว่าจะปรับตัวลงน้อยกว่าตลาด ที่คาดว่าจะหดตัวลง 10% ในปีนี้ เนื่องมาจากราคาน้ำมันที่ยังอยู่ระดับต่ำ และภาคอุตสาหกรรม คาดว่าจะเติบโตเท่ากับตลาดที่คาดขยายตัว 3% ในปีนี้

"การแข่งขันเรื่องราคาจะเป็นเรื่องของรถยนต์ เพราะ demand ลดลง แต่ทุกคนอยากขายได้วอลุ่มเท่าเดิม...แต่เราจะไม่เป็นผู้นำในการตัดราคา เราก็จะดูเป็นพื้นที่ ๆ ไป...ส่วนการที่รัฐบาลอยากจะทบทวนค่าการตลาด LPG ก็ต้องดูว่าภาครัฐจะว่าอย่างไร ปตท.ซึ่งเป็นกลไกของรัฐก็ต้องทำตาม แต่ถ้ามาร์จิ้นลดลงมาก ๆ ยอดขายลดลงด้วย จนไม่ตอบโจทย์ก็คาดว่าผู้ประกอบการจะทยอยหยุดไปเอง เพราะ trend ของภาครถยนต์มัน drop"นายมุนินทร์ กล่าว

นายมุนินทร์ กล่าวว่า ตลาด LPG ของประเทศซึ่งมีอยู่ 3 ตลาดนั้น มีปริมาณการใช้อยู่ราว 4,100 ล้านกิโลกรัม/ปี ซึ่งไม่รวมการใช้ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี โดยเป็นตลาดภาคครัวเรือน ประมาณ 2,100 ล้านกิโลกรัม/ปี ในส่วนนี้เป็นยอดขายของปตท.ราว 1,000 ล้านกิโลกรัม/ปี คิดเป็นส่วนแบ่งตลาด 48% ,ภาคขนส่ง ประมาณ 1,400 ล้านกิโลกรัม/ปี ในส่วนนี้เป็นยอดขายของปตท.ราว 250 ล้านกิโลกรัม/ปี และภาคอุตสาหกรรม ประมาณ 600 ล้านกิโลกรัม/ปี ในส่วนนี้เป็นยอดขายของปตท.ราว 300-320 ล้านกิโลกรัม/ปี

สำหรับแผนธุรกิจในภาคครัวเรือนนั้น ปตท.มีแผนที่จะรักษาการเติบโตให้เท่ากับตลาดคือระดับ 1% ในปีนี้ ซึ่งเป็นการเติบโตในอัตราปกติ แม้ว่าภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศจะเติบโตได้ราว 4% ในปีนี้ก็ตาม แต่การใช้ LPG ในภาคครัวเรือนจะไม่เติบโตมาก เพราะส่วนใหญ่เป็นการใช้ในครัวเรือนที่เป็นที่อยู่อาศัยแนวราบ แต่การขยายตัวของอสังหาริมทรัพย์ในชุมชนเมืองใหญ่จะเป็นการขยายตัวในแนวดิ่งค่อนข้างมาก ขณะที่ปตท. จะยังคงรักษาส่วนแบ่งตลาดของภาคครัวเรือนไว้ โดยการดูแลถังให้ได้มาตรฐานของภาครัฐ

ทั้งนี้ ล่าสุดปตท.ยังได้เพิ่มการดูแลด้านความปลอดภัยสำหรับถังก๊าซ LPG โดยได้ทยอยเปลี่ยน Check Lock Valve เพื่อแก้ปัญหาวาล์วของถังค้าง และคลายตัวเมื่อเกิดอุบัติเหตุในระหว่างการขนส่งจนเป็นเหตุให้ก๊าซฯรั่วไหล โดยได้พัฒนานวัตกรรมวาล์วมือหมุน Check Lock เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในระหว่างกระบวนการบรรจุ,ขนส่ง และการใช้งาน ซึ่งได้เริ่มดำเนินการเปลี่ยนมาตั้งแต่ปี 59 และคาดว่าจะสามารถเปลี่ยนวาล์วของถังเป็นระบบใหม่ได้ทั้งหมดภายใน 6 ปี จากปัจจุบันที่มีถัง LPG ของปตท.อยู่ราว 15 ล้านใบในตลาด ขณะที่ปตท.จะสั่งถัง LPG ใหม่ประมาณ 5-6 แสนใบ/ปี โดยส่วนหนึ่งเพื่อทดแทนถังเก่าที่ไม่ได้มาตรฐานราว 1 แสนใบ/ปี

นอกจากนี้ปตท.ได้เปลี่ยนถังก๊าซ LPG ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จากถังเหล็ก เป็นถังก๊าซคอมโพสิต ซึ่งผลิตจากโพลิเมอร์และไฟเบอร์กลาส และมีน้ำหนักเบา ไม่เป็นสนิม ทนต่อการกัดกร่อน มีอายุการใช้งานนาน โดยการเปลี่ยนถังดังกล่าวเพื่อป้องกันการนำถังก๊าซ LPG ซึ่งเป็นถังเหล็กไปก่อเหตุรุนแรง โดยปัจจุบันได้เปลี่ยนถังในพื้นที่ไปแล้วกว่า 5 หมื่นใบ จากที่ปตท.มีถัง LPG ในพื้นที่ทั้งหมด 6 หมื่นใบ หรือคิดเป็นส่วนแบ่งตลาด 50% ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีถังทั้งสิ้น 1.2 แสนใบ ขณะเดียวกันมีแผนต่อยอดผลิตถังก๊าซคอมโพสิต เพื่อใช้ในเชิงพาณิชย์สำหรับพื้นที่อื่น โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการออกแบบซึ่งคาดว่าจะนำออกจำหน่ายได้ภายในไม่เกินปีนี้

ส่วนภาคขนส่งนั้น ปัจจุบันปตท.มีสถานีบริการ LPG กว่า 240 แห่ง ซึ่งเป็นสถานีบริการของดีลเล่อร์ทั้งหมด และยังไม่มีแผนจะเพิ่มหรือปิดสถานีบริการเพิ่มเติม แต่มีแผนจะนำธุรกิจนอนออยล์ เข้าไปเสริมในสถานีบริการมากขึ้น ทั้งร้านเซเว่น อีเลฟเว่น และร้านกาแฟ คาเฟ่ อเมซอน และอื่น ๆ เพื่อช่วยเสริมรายได้ของดีลเล่อร์ท่ามกลางภาวะของการแข่งขันตลาดภาคขนส่งที่มีอยู่มาก ซึ่งปัจจุบันมีสถานีบริการ LPG ที่มีธุรกิจนอนออยล์ อยู่กว่า 30 แห่ง แต่ยืนยันว่าจะไม่นำหัวจ่ายน้ำมันเข้าอยู่ภายในสถานีบริการ LPG เหมือนผู้ค้า LPG รายอื่น เพราะอาจจะกระทบต่อสถานีบริการน้ำมันเครือข่ายเดิมที่อยู่บริเวณข้างเคียงกัน

ด้านภาคอุตสาหกรรม คาดว่าตลาดไม่ได้ขยายตัวมาก เพราะผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังคงใช้น้ำมันเตาเป็นเชื้อเพลิง แต่ก็ยังมีโอกาสขยายตัวจากโรงงานใหม่ที่จะเกิดขึ้นในชุมชน อาจหันมาใช้ LPG เป็นเชื้อเพลิง เพราะเป็นเชื้อเพลิงที่สะอาดเมื่อเทียบกับน้ำมันเตา หรือถ่านหิน

นายมุนินทร์ กล่าวว่า ธุรกิจ LPG ของปตท.สามารถทำรายได้ได้ราว 3 หมื่นล้านบาท/ปี แต่มีกำไรไม่ถึง 1% ของรายได้ เนื่องจากเป็นธุรกิจที่มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างมาก โดยในแต่ละปีมีค่าใช้จ่ายซ่อมบำรุงถัง ,ทำลายถัง รวมถึงเปลี่ยนวาล์ว รวมถึงการสร้างมาตรฐานความปลอดภัยให้กับถัง ราว 700-800 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีการค่าใช้จ่ายด้านขนส่ง , คลัง, โรงบรรจุก๊าซฯ ,ดูแลร้านค้า ตลอดจนการตรวจสอบด้านความปลอดภัย เป็นต้น

ปัจจุบัน ปตท.มีคลังก๊าซ LPG ได้แก่ ลำปาง,นครสวรรค์ ,ขอนแก่น ,บ้านโรงโป๊ะ จ.ชลบุรี ,กรุงเทพฯ, สุราษฎร์ธานี ,สงขลา ไม่รวมคลังที่เขาบ่อยา จ.ชลบุรี ขณะที่มีโรงบรรจุก๊าซ 176 แห่งทั่วประเทศ และศูนย์ซ่อมบำรุงถัง LPG กระจายทั่วภูมิภาค

ส่วนกรณีนโยบายกระทรวงพลังงานที่กำลังศึกษาเรื่องศูนย์ซ่อมกลางถังก๊าซ LPG และการเปิดเสรีโรงบรรจุก๊าซ LPG ให้ข้ามแบรนด์ได้นั้น ปตท.พร้อมให้ความร่วมมือแต่ก็ขอดูหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนว่าทำแล้วเกิดประโยชน์ต่อผู้บริโภคมากน้อยเพียงใด ซึ่งหากบรรจุก๊าซ LPG ข้ามแบรนด์แล้วภาครัฐจะออกระเบียบควบคุมการดูแลถังของแต่ละแบรนด์เหมือนกับที่เอกชนแต่ละรายคุมกันเองได้หรือไม่ เพราะปัจจุบัน ปตท.เน้นเรื่องความปลอดภัยถังก๊าซเป็นสำคัญ


แท็ก (PTT)   ปตท.  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ