WHAUP เจรจาดีล M&A โซลาร์ฟาร์มญี่ปุ่น 20 MW คาดสรุปใน Q1/61 ,มีแผนให้บริการจ่ายก๊าซธรรมชาติทั้งใน-นอกนิคมฯ

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday January 15, 2018 14:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิเศษ จูงวัฒนา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ (WHAUP) เปิดเผยว่า แผนการดำเนินงานในปีนี้บริษัทจะใช้งบลงทุนราว 1.8-2 พันล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่ใช้ในโครงการที่มีอยู่ในแผนแล้ว โดยงบลงทุนดังกล่าวไม่นับรวมงบในการเข้าซื้อกิจการและร่วมลงทุน (M&A) ที่ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างทำดีล M&A โซลาร์ฟาร์มในญี่ปุ่น ขนาด 20 เมกะวัตต์ (MW) คาดว่าจะได้ข้อสรุปในไตรมาส 1/61

นอกจากนี้ยังศึกษาการเข้าซื้อกิจการโรงไฟฟ้าถ่านหิน บริเวณปากเหมือง และโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ ในอินโดนีเซีย รวมถึงยังมีผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมในเมียนมา ที่ได้ติดต่อเข้ามาให้บริษัทเข้าไปลงทุนผลิตไฟฟ้าและไอน้ำ เพื่อจำหน่ายให้กับลูกค้าในนิคมฯด้วย โดยบริษัทอยู่ระหว่างสอบถามความต้องการใช้ของลูกค้าในนิคมฯว่ามีมากน้อยเพียงใด อย่างไรก็ตามบริษัทยังมีโอกาสเติบโตตามการลงทุนของกลุ่มบมจ.ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น (WHA) ในต่างประเทศ เช่น เวียดนาม และแนวโน้มที่จะเข้าไปลงทุนในนิคมฯที่เมียนมา

บริษัทยังวางแผนพัฒนาพลังงานทางเลือก เช่น การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และขยะอุตสาหกรรม ด้วยพื้นที่บนหลังคาในนิคมอุตสาหกรรม และอาคารศูนย์กระจายสินค้าและโลจิสติกส์ของกลุ่ม WHA ที่มีกว่า 2.1 ล้านตารางเมตร (ตร.ม.) ซึ่งมีศักยภาพที่จะผลิตไฟฟ้ามากถึง 200 เมกะวัตต์ และเมื่อรวมกับพื้นที่หลังคาของกลุ่มลูกค้าโรงงานในกลุ่มนิคมฯของ WHA ที่มีอยู่ทั้งหมด 9 แห่งนั้น คาดว่าจะมีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าได้มากถึง 1,000 เมกะวัตต์ ก็จะเป็นช่องทางสำคัญในการต่อยอดการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ รวมถึงอาคารอื่น ๆ นอกเขตนิคมอุตสาหกรรมของกลุ่ม WHA ด้วย

นายวิเศษ กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทปรับแนวทางการดำเนินงานจากเดิมที่จะเน้นการผลิตไฟฟ้าบนหลังคาของกลุ่ม WHA ที่มีกว่า 2.1 ล้านตารางเมตรก่อน ก็จะปรับเป็นการเจรจาเพื่อติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาโรงงานของลูกค้าในนิคมฯกลุ่ม WHA ก่อนเป็นอันดับแรก เพราะปัจจุบันมีการแข่งขันค่อนข้างมาก โดยขณะนี้เจรจาอยู่กับลูกค้าหลายราย คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในครึ่งแรกปีนี้ และสามารถติดตั้งได้ภายในครึ่งหลังปีนี้ ซึ่งจะเห็นผลรายรับเข้ามาได้ในช่วงต้นปี 62

สำหรับธุรกิจสาธารณูปโภคในไทยนั้น บริษัทยังมีแผนขยายธุรกิจไปสู่บริการจ่ายก๊าซธรรมชาติ ทั้งในและนอกนิคมอุตสาหกรรม โดยปัจจุบันได้ร่วมทุนกับกลุ่มบมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) ในสัดส่วน 51% และ 49% ตามลำดับ เพื่อลงทุนวางท่อจัดจำหน่ายและให้บริการค้าปลีกก๊าซธรรมชาติในนิคมอุตสาหกรรมเหมราชอีสเทิร์นซีบอร์ด 2 (HESIE 2) นิคมอุตสาหกรรมเหมราชอีสเทิร์นซีบอร์ด 4 (HESIE 4) และนิคมอุตสาหกรรมของเหมราชฯ อีก 4 แห่งในจังหวัดระยอง ชลบุรี และสระบุรี ในอนาคต

ขณะเดียวกันในเร็ว ๆ นี้ ก็จะดึงพันธมิตรรายใหม่เข้ามาร่วมทุนด้วย เพื่อเพิ่มศักยภาพการดำเนินธุรกิจ โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างเจรจากับลูกค้า 3-4 ราย เพื่อลงนามในสัญญาซื้อขายก๊าซฯต่อไป และคาดว่าจะเริ่มจัดส่งก๊าซฯให้กับลูกค้าสำหรับนิคมมฯ HESIE 2 ได้ในช่วงเดือนส.ค.-ก.ย.61 และส่งก๊าซฯให้ลูกค้านิคมฯ HESIE 4 ได้ในไตรมาส 1/62

ปัจจุบันบริษัทมีกำลังผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนร่วมทุน 543 เมกะวัตต์ โดยเป็นกำลังการผลิตที่จ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) แล้วราว 511 เมกะวัตต์ หลังจากได้เปิดเดินเครื่องโรงไฟฟ้ากัลฟ์ ทีเอส 4 เมื่อวันที่ 1 ม.ค.60 และในปีนี้จะยังไม่มีกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ที่มีอยู่ในมือเข้าระบบเพิ่มเติม โดยกำลังการผลิตส่วนที่เหลืออีกราว 32 เมกะวัตต์จะจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 62

ส่วนธุรกิจน้ำในปี 61 คาดการณ์ปริมาณขายน้ำอยู่ที่ 113 ล้านลูกบาศก์เมตร เพิ่มขึ้น 13% จากปีก่อน เนื่องจากความต้องการใช้งานที่สูงขึ้นของลูกค้าในปัจจุบันและลูกค้ารายใหม่ ขณะเดียวกันยังศึกษาการทำ M&A ธุรกิจน้ำในต่างประเทศด้วย แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ ซึ่งเป็นไปตามแผนการรุกตลาด CLMV


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ