SCB ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อบุคคลปี 61 เพิ่ม 75% เปิดบริการผ่านโมบายแบงก์กิ้งเน้นกลุ่มรายได้ต่ำ,เชื่อคุม NPLอยู่

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday January 15, 2018 16:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางอภิพันธ์ เจริญอนุสรณ์ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ผู้บริหารสูงสุดปฏิบัติการ ผู้บริหารสูงสุด Retail Payments และ Retail Products ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) กล่าวว่า ธนาคารตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อส่วนบุคลล (Personal Loan) ที่เป็นสินเชื่อใหม่ในปี 61 อยู่ที่ 7 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 75% จากระดับ 4 หมื่นล้านบาทในปีก่อน จากแนวโน้มความต้องการสินเชื่อที่เพิ่มขึ้น และความมุ่งมั่นของธนาคารที่จะดึงกลุ่มประชาชนที่ใช้บริการหนี้นอกระบบเข้ามาใช้บริการของธนาคาร ซึ่งในปีนี้ธนาคารจะเน้นไปเจาะกลุ่มลูกค้ารายได้ต่ำเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ธนาคารไม่มีความกังวลแม้ว่าอาจทำให้หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) จะเพิ่มขึ้นก็ตาม เพราะธนาคารมีการบริหารจัดการหนี้และติดตามลูกค้าอย่างมีประสิทธิภาพ

กรณีดังกล่าวทำให้ธนาคารได้เพิ่มบริการด้านการขอสินเชื่อที่ทำให้ลูกค้าเข้าถึงได้ง่าย โดยได้เปิดให้บริการสินเชื่อรูปแบบใหม่ คือ "SCB EASY Digital Lending" เงินด่วนแค่ปลายนิ้ว สินเชื่อผ่านมือถือที่ให้บริการผ่านโมบายแบงก์กิ้งแอพพลิเคชัน SCB EASY อาวุธใหม่ในการบุกตลาดสินเชื่อบุคคล เป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยลูกค้าไม่ต้องมายื่นเอกสารหรือกรอกข้อมูลที่สาขาธนาคารอีกต่อไป เพียงแค่ใช้บริการผ่านทางโมบายแบงก์กิ้ง SCB EASY ดำเนินการเพียง 3 ขั้นตอน ลูกค้าจะได้รับอนุมัติสินเชื่อและโอนเงินเข้าบัญชีลูกค้าทันทีภายใน 3 นาที 3 ขั้นตอน ในกรณีลูกค้าเดิม หากเป็นลูกค้าใหม่ ธนาคารต้องการเอกสารเพิ่มเติมจะติดต่อลูกค้าภายใน 1 ชั่วโมงโดยธนาคารพร้อมให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง ผ่านช่องทางโมบายแบงก์กิ้ง

"ช่วง 2 สัปดาห์หลังเปิดปีใหม่มา การตอบรับด้านความต้องการสินเชื่อบุคคลมีลูกค้าเข้ามาขอเพิ่มขึ้น ซึ่งเห็นการเติบโตได้มากกว่าไตรมาสที่แล้ว และช่วงเดียวกันของปีก่อน อีกทั้งกลยุทธย์ของธนาคารในปีนี้ที่จะปล่อยสินเชี่อบุคคลที่เป็นสินเชื่อใหม่ 7 หมื่นล้านบาท จะเร่งปล่อยให้มากในช่วงไตรมาส 1 และไตรมาส 2 เพราะเป็นช่วงที่คนมีความต้องการใช้สินเชื่อมาก และยังไม่แน่นอนว่าสถานการณ์ไนครึ่งปีหลังจะเป็นอย่างไร ทำให้ต้องเร่งการปล่อยสินเชื่อในช่วงครึ่งปีแรกก่อน ส่วนฐานลูกค้ารายย่อยของ SCB ปัจจุบันมีทั้งหมด 14 ล้านราย เป็นลูกค้าที่ไช้ SCB EASY ทั้งหมด 6 ล้านราย และในปีนี้จะเพิ่มเป็น 10 ล้านราย พร้อมกับขยายฐานผู้ประกอบการใช้การชำระเงิน QR CODE แม่มณีเป็น 1 ล้านรายในปีนี้"นางอภิพันธ์ กล่าว

นางอภิพันธ์ กล่าวว่า ธนาคารตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อผ่าน SCB EASY อยู่ที่ 1 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น 70% มาจากสินเชื่อส่วนบุคคล บัตรกดเงินสด บัตรเครดิต และอีก 30% มาจากสินเชื่อรถยนต์และสินเชื่อบ้าน พร้อมให้แคมเปญพิเศษตั้งแต่วันนี้-31 ม.ค. ซึ่งมีแคมเปญลดอัตราดอกเบี้ยให้ลูกค้าที่ได้รับการอนุมัติสินเชื่อผ่าน SCB Easy Digital Lending โดยลูกค้าที่ได้รับสินเชื่อบุคคล จะเสียดอกเบี้ย 15% ตลอดอายุสัญญาต่ำกว่าการขอสินเชื่อปกติที่เสียดอกเบี้ย 21.5-28% ส่วนลูกค้าที่ได้รับอนุมัติบัตรกดเงินสด ธนาคารจะไม่คิดดอกเบี้ยใน 3 รอบบัญชี

นางอภิพันธ์ กล่าวว่า แนวโน้มของสินเชื่อคงค้างในกลุ่มสินเชื่อส่วนบุคคลในปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 5.5 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนอยู่ที่ 3.5 หมี่นล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากการรุกปล่อยสินเชื่อที่โตอย่างก้าวกระโดดในปีนี้ ขณะเดียวกันแนวโน้มของสัดส่วน NPL ของสินเชื่อส่วนบุคคลในปีนี้คาดว่าจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 3% แต่ไม่เกิน 4% จากปีก่อนที่อยู่ที่ 2% ซึ่งต่ำกว่าระบบที่ 3% แต่ธนาคารไม่มีความกังวลแม้ว่า NPL จะเพิ่มขึ้น เพราะมีการบริหารจัดการหนี้และติดตามลูกค้าอย่างมีประสิทธิภาพ แต่จะมีผลต่อการตั้งสำรองฯที่เพิ่มขึ้นตามระบบมาตรฐานบัญชีใหม่ (IFRS9) ที่จะต้องตั้งสำรองฯเต็มตั้งแต่วันแรกที่ธนาคารอนุมัติสินเชื่อให้กับลูกค้า

ด้านภาพรวมของสินเชื่อรวมในปี 61 ของระบบธนาคารพาณิชย์มองว่าจะเติบโต 5-6% มาอยู่ที่ 3.7 แสนล้านบาท จากปีก่อนที่ 3.58 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นการเติบโตได้มากกว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยได้เล็กน้อย และกฏระเบียบใหม่ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่มีความเข้มงวดในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อมากขึ้น ทำให้การเติบโตของสินเชื่อในภาพรวมจะยังทรงตัวอยู่ในระดับ 5-6%

นายเย็น ล็อทเนอร์ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ของ SCB กล่าวเสริมว่า ธนาคารได้ใช้เทคโนโลยี Data Analytic และ Machine Learning มาวิเคราะห์และประมวลผลข้อมูลลูกค้า ซึ่งมีความแม่นยำ และสามารถนำเสนอสินเชื่อได้เหมาะสมกับลูกค้า ทำให้มองว่าจะช่วยลดความเสี่ยงการเกิดหนี้เสียของ แต่อาจจะต้องใช้ระยะเวลาสักช่วงหนึ่ง เพราะในปีนี้หากธนาคารรุกการปล่อยสินเชื่อมาก จะยังส่งผลต่อ NPL ที่เพิ่มขึ้นได้เล็กน้อย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ