ทริสฯ คงอันดับเครดิตองค์กรและแนวโน้ม QTC ที่ “BBB-/Stable"

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday January 15, 2018 16:47 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ. คิวทีซี เอนเนอร์ยี่ (QTC) ที่ระดับ “BBB-"

อันดับเครดิตสะท้อนถึงความสามารถในการแข่งขันที่อยู่ในระดับปานกลางของบริษัทในธุรกิจหม้อแปลงไฟฟ้าและผลการดำเนินงานที่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นจากกระแสเงินสดรับที่ค่อนข้างแน่นอนจากการซื้อกิจการของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้นครั้งใหญ่ซึ่งก่อให้เกิดความกังวลต่อความแข็งแกร่งในธุรกิจหลักของบริษัท อันดับเครดิตยังลดทอนลงจากการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดหม้อแปลงไฟฟ้าภายในประเทศ รวมถึงความเสี่ยงจากโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ผลงานในการดำเนินธุรกิจผลิตไฟฟ้าที่มีจำกัด และการลงทุนขนาดใหญ่ซึ่งจะส่งผลกดดันต่อสถานะทางการเงินของบริษัทในระยะใกล้ด้วย

QTC ก่อตั้งในปี 2539 โดยนายพูลพิพัฒน์ ตันธนสิน และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (Market for Alternative Investment –MAI) ในเดือนกรกฎาคม 2554 บริษัทเป็นผู้ประกอบการขนาดกลางซึ่งผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าภายใต้ตราสัญลักษณ์สินค้าของตนเองคือ “QTC" บริษัทมีความสามารถในการผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าที่มีขนาดกำลังไฟฟ้าตั้งแต่ 1-30,000 กิโลโวลต์แอมแปร์ (KVA) ที่แรงดันไฟฟ้าสูงสุด 72 กิโลโวลต์ (kv) เมื่อไม่นานนี้บริษัทได้ขยายธุรกิจไปสู่การเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าเพื่อสร้างแหล่งรายได้ที่สม่ำเสมอซึ่งจะช่วยลดทอนความผันผวนของรายได้จากธุรกิจหม้อแปลงไฟฟ้า

โครงสร้างผู้ถือหุ้นของบริษัทมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญภายหลังจากที่บริษัทได้ทำการเพิ่มทุนโดยการเสนอขายหุ้นสามัญแบบเฉพาะเจาะจง (Private Placement) หลายครั้งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา และเพื่อรองรับการลงทุนในธุรกิจพลังงาน ในปี 2559 บริษัทจึงได้จำหน่ายหุ้นสามัญที่ออกใหม่ให้แก่กลุ่มนักลงทุนรายย่อยและได้รับเงินทุนก้อนใหม่จำนวน 329 ล้านบาท ในปี 2559 บริษัทได้ลงทุนจำนวน 538 ล้านบาทเพื่อซื้อหุ้นทั้งหมดของ บริษัท แอล โซลาร์ 1 จำกัด (LS1) ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์จากเจ้าของร่วมเดิมคือ บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ลีโอนิคส์ จำกัด และพันเอกประเสริฐ ชูแสง บริษัทได้จ่ายชำระด้วยเงินสดจำนวน 287 ล้านบาท และด้วยหุ้นเพิ่มทุนของบริษัทจำนวน 251 ล้านบาทให้แก่ บริษัทล็อกซเล่ย์และบริษัทลีโอนิคส์

นอกจากนี้ บริษัทยังได้ออกหุ้นเพิ่มทุนอีกจำนวน 910 ล้านบาทเพื่อจำหน่ายให้แก่นักลงทุนรายย่อยอีกกลุ่มหนึ่งด้วย ปัจจุบันบริษัทได้รับชำระค่าหุ้นดังกล่าวแล้วจำนวน 650 ล้านบาทและส่วนที่เหลือคาดว่าจะได้รับชำระภายในเดือนมกราคม 2561 ภายหลังจากที่ได้ทำการเพิ่มทุนและเสนอขายหุ้นแบบเฉพาะเจาะจงหลายครั้ง สัดส่วนการถือหุ้นของนายพูลพิพัฒน์และครอบครัวก็ลดลงจาก 62% ณ เดือนพฤษภาคม 2559 เหลือ 7% ณ สิ้นปี 2560 และจะลดเหลือ 6% ภายหลังจากที่ได้รับชำระค่าหุ้นเพิ่มทุนครบเต็มจำนวนแล้ว กลุ่มผู้ถือหุ้นใหม่ของบริษัท(ซึ่งประกอบด้วยนักลงทุนรายย่อย 7 ราย) จะถือหุ้นในสัดส่วนรวมกันที่ระดับ 59% ในขณะที่ บริษัทล็อกซเล่ย์และบริษัทลีโอนิคส์จะถือหุ้นในสัดส่วนรวมกันประมาณ 6%

จากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้นครั้งใหญ่ดังกล่าวคาดว่าคณะผู้บริหารและกลยุทธ์ของบริษัทจะเปลี่ยนแปลงไปในอนาคต ทริสเรทติ้งมีความเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่นี้อาจส่งผลกระทบต่อความต่อเนื่องและความแข็งแกร่งในธุรกิจหลักของบริษัท ในขณะที่ธุรกิจใหม่ก็มีความเสี่ยงในระดับสูงจากการดำเนินงานที่ไม่เป็นไปตามแผน

อันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะความสามารถในการแข่งขันในอุตสาหกรรมหม้อแปลงไฟฟ้าของบริษัทที่อยู่ในระดับปานกลาง บริษัทเป็นผู้ผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่ายแบบพิเศษซึ่งมีผลงานที่ได้รับการยอมรับในฐานะผู้รับจ้างผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าตามที่ลูกค้ากำหนด (Original Equipment Manufacturer – OEM) มาอย่างยาวนาน ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมารายได้เกือบทั้งหมดของบริษัท (95%) มาจากยอดขายหม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่าย 2% มาจากหม้อแปลงไฟฟ้ากำลัง และส่วนที่เหลือมาจากค่าบริการและการขายส่วนประกอบหม้อแปลงไฟฟ้า โดยฐานลูกค้าของบริษัทประกอบด้วยกลุ่มลูกค้ารัฐวิสาหกิจคิดเป็นสัดส่วน 28% ของรายได้รวม บริษัทเอกชน 49% และลูกค้าต่างประเทศ 20%

บริษัทได้รับผลกระทบอย่างมากจากการอ่อนตัวของอุตสาหกรรมโดยรวมและการแข่งขันที่รุนแรงในปี 2559 ส่งผลให้ผลการดำเนินงานของบริษัทอ่อนแอลงอย่างมาก แม้ว่ารายได้ของบริษัทจะฟื้นตัวดีขึ้นในปี 2560 แต่กำไรกลับหดตัวลงอย่างต่อเนื่องจากการตัดราคาของกลุ่มผู้ผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าเพื่อให้ได้คำสั่งซื้อจากภาคเอกชนและรัฐวิสาหกิจ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2560 บริษัทมีรายได้ 638 ล้านบาท เพิ่มจาก 276 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม อัตรากำไรจากการดำเนินงาน (อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อยอดขาย) ลดลงอย่างมากมาอยู่ที่ระดับ -8.6% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2560ต่อเนื่องจากระดับ -10.7% ในปี 2559 เทียบกับ 13.6%-18.8% ในปี 2555-2558 กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทอยู่ที่ระดับ -48 ล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2560 และ -51 ล้านบาทในปี 2559 เทียบกับ 111-199 ล้านบาทในปี 2555-2558

ทริสเรทติ้งคาดว่าตลาดหม้อแปลงไฟฟ้าจะฟื้นตัวดีขึ้นเล็กน้อยโดยอานิสงส์ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์หลายแห่งที่อยู่ระหว่างการพัฒนา อย่างไรก็ตาม การแข่งขันที่ทวีความรุนแรงจะยังคงเป็นปัจจัยกดดันต่ออันดับเครดิตที่จะส่งผลต่อความสามารถในการทำกำไรและอัตรากำไรของบริษัทที่เคยทำได้ในระดับสูงเมื่อหลายปีก่อน

การคงอันดับเครดิตในครั้งนี้อยู่บนพื้นฐานการคาดการณ์ว่าผลการดำเนินงานของบริษัทจะปรับตัวดีขึ้นจากกระแสเงินสดที่คาดการณ์ได้จากการซื้อกิจการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จากบริษัท แอล โซลาร์ 1 ทั้งนี้ บริษัท แอล โซลาร์ 1 เป็นเจ้าของและดำเนินงานโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดปราจีนบุรีโดยมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ภายใต้โครงการผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็กมาก (Very Small Power Producer -- VSPP) โดยมีขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญา 8 เมกะวัตต์ และได้ส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) ที่อัตรา 8.0 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมงเป็นระยะเวลา 10 ปีโดยนับจากวันเริ่มดำเนินงานเชิงพาณิชย์เมื่อเดือนธันวาคม 2554

บริษัทจะมีกระแสเงินสดรับที่ค่อนข้างแน่นอน เนื่องจากตามสัญญามีการกำหนดราคารับซื้อไฟฟ้าไว้แน่นอน และความเสี่ยงจากการไม่ได้รับชำระเงินจากผู้ซื้อไฟก็อยู่ในระดับต่ำ นอกจากนี้ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ยังมีความเสี่ยงในการดำเนินงานที่อยู่ในระดับต่ำด้วย บริษัท แอล โซลาร์ 1 มีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย(EBITDA) ปีละประมาณ 130 ล้านในระหว่างปี 2557-2559 และในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2560 มี EBITDA จำนวน 66.5 ล้านบาท บริษัทคิวทีซี เอนเนอร์ยี่ เริ่มรวมงบการเงินของบริษัท แอล โซลาร์ 1 เข้ามาอยู่ในงบการเงินของบริษัทเมื่อปลายเดือนกันยายน 2560 ทั้งนี้ ผลประกอบการที่สร้างกำไรของบริษัท แอล โซลาร์ 1 จะช่วยให้ผลประกอบการโดยรวมของบริษัทเพิ่มขึ้นในอนาคต

โครงสร้างเงินทุนของบริษัทยังคงอยู่ในระดับที่รับได้จากผลของการเพิ่มทุนหลายครั้งที่ผ่านมา บริษัทมีเงินกู้รวมเพิ่มขึ้นจาก 243 ล้านบาทในปี 2558 เป็น 433 ล้านบาท ณ เดือนกันยายน 2560 อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 29.8% ในปี 2558 เป็น 31.1% ณ เดือนกันยายน 2560 กำไรที่ลดลงส่งผลให้อัตราส่วนกระแสเงินสดต่อภาระหนี้ลดลงอย่างมาก อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมของบริษัทอยู่ที่ -16.6% ณ เดือนกันยายน 2560 (ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปีด้วยตัวเลข 12 เดือนย้อนหลัง) เทียบกับ 65%-84% ในปี 2555-2558

บริษัทพยายามขยายไปสู่ธุรกิจใหม่เพื่อเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าด้วยวัตถุประสงค์ในการลดความผันผวนของรายได้ ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ ตลอดจนตรวจสอบและประเมินทรัพย์สินและหนี้สินของโครงการโรงไฟฟ้าหลายแห่ง ซึ่งรวมถึงโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำหลายแห่งในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์อีก 1 แห่งในประเทศพม่า ทั้งนี้บริษัทมีภาระต้องจ่ายเงินประมาณ 267 ล้านบาทในการลงทุนสัดส่วน 15% ในบริษัท พลังงานเพื่อโลกสีเขียว (ประเทศไทย) จำกัด (GEPT) ซึ่งดำเนินธุรกิจในการถือหุ้นในโครงการมินบู ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศพม่าด้วยขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 220 เมกะวัตต์ ณ ปัจจุบันบริษัทได้จ่ายเงินไปแล้วรวมประมาณ 202 ล้านบาท เงินลงทุนส่วนที่เหลือจะชำระเมื่อบริษัทผู้ดำเนินโครงการได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขต่าง ๆ ตามที่ระบุไว้ในสัญญาแล้ว ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งมีความเห็นว่า มีความเป็นไปได้สูงที่การปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าวจะไม่บรรลุเป้าหมาย ในการนี้ บริษัทมีสิทธิ์ที่จะยกเลิกการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าแห่งนี้และขายหุ้นทั้งหมดคืนให้แก่ผู้ขาย

ในมุมมองของทริสเรทติ้งเห็นว่าการขยายไปสู่ธุรกิจใหม่จะช่วยเพิ่มฐานรายได้และเสริมสถานะทางธุรกิจของบริษัทให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น แต่อีกด้านหนึ่งก็ทำให้บริษัทมีความเสี่ยงจากการดำเนินโครงการที่ไม่เป็นไปตามแผน อีกทั้งประวัติผลงานในธุรกิจผลิตไฟฟ้าของบริษัทก็มีจำกัด ในขณะที่แผนการลงทุนในโครงการต่างประเทศก็มีความเสี่ยง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความเสี่ยงของประเทศที่ไปลงทุน รวมถึงความเสี่ยงด้านกฎระเบียบ และความเสี่ยงด้านเครดิตของผู้รับซื้อไฟฟ้าด้วยเช่นกัน

ภายใต้สมมติฐานขั้นพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากการจำหน่ายหม้อแปลงไฟฟ้าจะเติบโตเล็กน้อยประมาณ 5%-7%ต่อปีในช่วง 3 ปีข้างหน้าโดยอยู่ที่ระดับ 900-1,000 ล้านบาท อัตรากำไรขั้นต้นจะฟื้นตัวเล็กน้อยอยู่ที่ระดับ 15% ซึ่งยังคงต่ำกว่า 24%-28% ที่บริษัทเคยทำได้ในช่วงปี 2555-2558 ผลประกอบการโดยรวมของบริษัทจะดีขึ้นจากกำไรจากธุรกิจผลิตไฟฟ้า อีกทั้งคาดว่า บริษัท แอล โซลาร์ 1 จะมี EBITDA ประมาณ 130 ล้านบาทต่อปีจนถึงสิ้นปี 2564

ด้วยขนาดของเงินเพิ่มทุนก้อนใหม่ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะลงทุนเพิ่มเติมในโครงการโรงไฟฟ้าอีกหลายโครงการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีการยกเลิกโครงการมินบู ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะลงทุนในระดับสูงในช่วงปี 2562-2563 เพื่อเติบโตในธุรกิจพลังงาน การลงทุนจำนวนมากจะส่งผลกดดันต่อสถานะทางการเงินของบริษัทในระยะใกล้ แต่ก็จะช่วยให้บริษัทมีรายได้ที่สม่ำเสมอซึ่งจะช่วยลดทอนผลกระทบจากกำไรที่อ่อนแอของธุรกิจหม้อแปลงไฟฟ้าลงได้ ระดับหนี้สินของบริษัทจะสูงขึ้นในขณะที่อัตราส่วนกระแสเงินสดต่อภาระหนี้จะอ่อนแอลง ทั้งนี้ คาดว่าบริษัทจะบริหารจัดการโครงสร้างเงินทุนอย่างระมัดระวังโดยอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนคาดว่าจะอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 50% ในช่วงขยายการลงทุน

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงความคาดหวังว่าบริษัทจะยังคงรักษาความสามารถในการแข่งขันในตลาดหม้อแปลงไฟฟ้าต่อไปได้ ตลอดจนได้รับคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น และอัตรากำไรน่าจะปรับตัวสูงขึ้นเมื่อตลาดฟื้นตัว ทั้งนี้ โอกาสในการปรับเพิ่มอันดับเครดิตหรือแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทมีค่อนข้างจำกัดในช่วงของการลงทุน ในทางตรงกันข้าม อันดับเครดิตหรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจถูกปรับลดลงหากผลการดำเนินงานของบริษัทอ่อนตัวลงกว่าที่คาดไว้ หรือบริษัทมีการลงทุนในระดับที่สูงมากจนทำให้มีภาระหนี้เพิ่มขึ้นและสภาพคล่องของบริษัทอ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ