(เพิ่มเติม) TISCO ตั้งเป้าสินเชื่อปีนี้โต 0-5% จากปีก่อน 11% มองการเมืองยังเป็นปัจจัยเสี่ยง,รักษา NPL ไม่เกิน 2.3%

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday January 16, 2018 13:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป (TISCO) ตั้งเป้าสินเชื่อปี 61 เติบโต 0-5% จากปีก่อนเติบโตราว 11% และตั้งเป้ารักษาหนี้สงสัยจะสูญ (NPL) ในปีนี้อยู่ในระดับไม่เกิน 2.3% โดยคาดว่าปีนี้การตั้งสำรองหนี้ลดลงและไม่ได้รับผลกระทบจากมาตรฐานบัญชีใหม่ ทำให้บริษัทมั่นใจว่าในปีนี้ผลประกอบการปรับตัวดีขึ้นจากปีก่อนตามรวมภาพเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว จากการลงทุนภาครัฐเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ แต่ยังมองว่าการเมืองเป็นปัจจัยเสี่ยง

นายสุทัศน์ เรืองมานะมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มทิสโก้ เปิดเผยว่า การเติบโตของสินเชื่อในปีนี้จะมาจากสินเชื่อรายใหญ่จะเติบโตมากกว่า 5% ขณะที่สินเชื่อรายย่อยอาจทรงตัว หรือ หดตัว เนื่องจากฐานที่สูงขึ้นมากในปี 60

กลยุทธ์การดำเนินธุรกิจของกลุ่มทิสโก้ในปี 61 ยังคงเดินหน้าขยายการเติบโตในทุกกลุ่ม ทั้งกลุ่มลูกค้ารายย่อย กลุ่มลูกค้าธนบดีธนกิจ และกลุ่มลูกค้าบรรษัท ด้วยการนำเสนอบริการทางการเงินที่ตอบโจทย์ลูกค้าในทุกมิติ ผ่านการนำเสนอสินค้าและบริการภายในกลุ่ม (Cross-Selling) และขยายไปยังตลาดใหม่ๆ ที่มีการเติบโต รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่มีคุณภาพให้กับลูกค้า เช่น การพัฒนาช่องทางการบริการไปยังเครือข่ายดิจิทัล เป็นต้น

ทั้งนี้ กลุ่มทิสโก้มองว่าภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในปี 61 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะมีการลงทุนจากภาครัฐและภาคเอกชนเพิ่มขึ้น ซึ่งจะมีส่วนกระตุ้นการขยายตัวของสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบให้ขยายตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งกลุ่มทิสโก้ได้เตรียมตัวเองให้พร้อมในทุกด้านสำหรับโอกาสที่กำลังจะมาถึงภายใต้จุดยืนในการเป็น Advisory House หรือผู้ให้คำแนะนำทางการเงินที่ดีของลูกค้า

นายสุทัศน์ กล่าวว่า แม้เศรษฐกิจจะดีขึ้น แต่บางจุดยังมีปัญหาที่ต้องระวัง โดยเฉพาะหนี้เสียของรายย่อยและธุรกิจขนาดเล็กที่ยังมีอัตราสูงขึ้น คาดว่าหนี้เสียทั้งระบบจะแตะจุดสูงสุดช่วงกลางปีนี้ ดังนั้น ธนาคารจึงต้องปล่อยสินเชื่ออย่างระมัดระวัง ซึ่งเป็นแรงกดดันต่อการบริโภค

อย่างไรก็ตาม คาดว่าการลงทุนภาครัฐจะเป็นตามแผนที่วางไว้ โดยเฉพาะโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐาน และ ขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ ที่จะช่วยกระจายการลงทุนสู่รากหญ้ามากขึ้น และอานิสงส์จะส่งมาถึงภาคเอกชนให้มีการลงทุนตาม ทำให้สินเชื่อรายใหญ่มีโอกาสเติบโตมากกว่ารายย่อย

ปัจจุบัน ธนาคารมีสัดส่วนสินเชื่อรายย่อยอยู่ที่ 75% โดยมีพอร์ตสินเชื่อคงค้าง 1.8 แสนล้านบาท สินเชื่อรายใหญ่ และ สินเชื่อเอสเอ็มอี อยู่ในสัดส่วนราว 25% มีพอร์ตคงค้าง 7 หมื่นล้านบาท โดยคาดว่าพอร์ตสินเชื่อคงค้างโดยรวมสิ้นปีนี้จะอยู่ที่ 2.6 แสนล้านบาท จากสิ้นปี 60 อยู่ที่ 2.5 แสนล้านบาท

ด้านหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของธนาคารสิ้นปีนี้จะรักษาไว้ไม่ให้เกิน 2.3% หรือ คิดเป็นเม็ดเงิน 5,829 ล้านบาท ซึ่งเป็นระดับเดียวกับปัจจุบัน ส่วนการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญปีนี้คาดว่าจะลดลงจากปี 60 ที่ตั้งไปทั้งสิ้น 3,140 ล้านบาท หลังประเมินแนวโน้ม NPL จะปรับตัวดีขึ้น

ขณะที่อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อหนี้เสีย(coverage ratio) ปัจจุบันสูงถึง 197% ซึ่งเพียงพอต่อระบบมาตรฐานบัญชีใหม่ (IFRS9) จึงไม่น่าจะเกิดผลกระทบต่อผลประกอบการของธนาคาร

ด้านนายชาตรี จันทรงาม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส สายควบคุมการเงินและบริหารความเสี่ยง กล่าวว่า ธนาคารจะเดินทางไปโรด์โชว์ให้ข้อมูลกับสถาบันต่างประเทศที่สิงค์โปร์กับดอยซ์แบงก์ โดยปัจจุบันสัดส่วนสถาบันต่างชาติถือหุ้น 60% ผ่านไทยเอ็นวีดีอาร์ (NVDR) สถาบันในประเทศ 20% และ รายย่อย 20% คาดว่าสัดส่วนจะไม่เปลี่ยนแปลง เพราะนักลงทุนส่วนใหญ่จะถือหุ้นในระยะยาว แต่อาจมีการขายทำกำไรบ้าง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ