AOT ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ Sister Airport Agreement กับสนามบินเบลเยี่ยม

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday January 30, 2018 12:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ. ท่าอากาศยานไทย (AOT) หรือ ทอท. ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างท่าอากาศยาน (Sister Airport Agreement) กับบริษัท Liege Airport S.A. ผู้บริหารท่าอากาศยาน Liege Airport S.A. ราชอาณาจักรเบลเยียม

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ AOT กล่าวว่า ทอท.ได้จัดพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างท่าอากาศยาน (Sister Airport Agreement) กับบริษัท Liege Airport S.A. ผู้บริหารท่าอากาศยาน Liege S.A. ราชอาณาจักรเบลเยียม ซึ่งเป็นท่าอากาศยานที่มุ่งเน้นการให้บริการด้านการขนส่งสินค้าทางอากาศเป็นหลัก และเป็นท่าอากาศยานที่มีปริมาณการขนส่งสินค้าทางอากาศเป็นอันดับ 8 ของทวีปยุโรปเพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและพัฒนาธุรกิจร่วมกัน

ทอท.มีโครงการความร่วมมือระหว่าง ทอท.และท่าอากาศยานต่างประเทศในลักษณะ Sister Airport เพื่อสนับสนุนวิสัยทัศน์ของ ทอท.ที่จะเป็นผู้ดำเนินการและจัดการท่าอากาศยานที่ดีระดับโลก ซึ่งมุ่งเน้นคุณภาพการให้บริการโดยคำนึงถึงความปลอดภัย และสร้างรายได้อย่างสมดุล รวมทั้งสนับสนุนยุทธศาสตร์ของ ทอท.ในด้านนโยบายการต่างประเทศ โดยมีการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างท่าอากาศยาน เพื่อแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันอย่างฉันมิตรเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนข่าวสารข้อมูล (Exchange of Information) การดำเนินโครงการร่วมกัน (Joint Work Activities) การตลาดและการส่งเสริมการขายร่วมกัน (Joint Marketing and Promotion) รวมถึงการจัดให้มีการประชุมร่วมกันเป็นประจำ (Regular Meeting)

โครงการลงนามบันทึกข้อตกลงฯ เป็นการดำเนินงานที่สอดคล้องกับแผนแม่บทด้านกิจการระหว่างประเทศของ ทอท. (AOT International Business Development Master Plan) ปีงบประมาณ 2561 – 2567 ในด้านการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยสามารถสร้างประโยชน์แก่ ทอท.ใน 3 รูปแบบ คือ ด้านการแลกเปลี่ยนข้อมูลการดำเนินงาน ด้านการพัฒนาขีดความสามารถท่าอากาศยาน และด้านเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ ซึ่ง ทอท.ได้จัดกลุ่มพันธมิตรท่าอากาศยานที่ลงนามบันทึกข้อตกลงฯ ร่วมกับ ทอท.ทั้งสิ้น 11 องค์กร ใน 8 ประเทศ ครอบคลุมท่าอากาศยานนานาชาติ 15 แห่ง

โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ (1) ท่าอากาศยานที่เป็นพันธมิตรในการแบ่งปันข้อมูล (Data Sharing Partners) เพื่อเปรียบเทียบความสามารถและนำข้อมูลมาพัฒนาท่าอากาศยานของ ทอท.ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ได้แก่ กลุ่มท่าอากาศยานแนวหน้าหรือเทียบเท่า ทอท.หรือท่าอากาศยานที่ตั้งไกลออกไป เช่น ท่าอากาศยานออสติน-เบิร์กสตอร์ม มลรัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา ท่าอากาศยานนานาชาติเซี่ยงไฮ้ผู่ตง สาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นต้น

(2) ท่าอากาศยานที่เป็นแหล่งการเรียนรู้ของแนวทางการปฏิบัติที่ดีที่สุด (Sources of Best Practice) เพื่อนำแนวทางการปฏิบัติที่ดีที่สุดมาพัฒนาขีดความสามารถของ ทอท.ได้แก่ ท่าอากาศยานแนวหน้าที่มีความใกล้เคียงกับ ทอท.และไม่ใช่คู่แข่งโดยตรง เช่น ท่าอากาศยานมิวนิค สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ท่าอากาศยานอินชอน สาธารณรัฐเกาหลี ท่าอากาศยานนาริตะ ประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น

(3) ท่าอากาศยานที่เป็นกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย (Potential Future Clients) เพื่อพัฒนาความสัมพันธ์สำหรับโอกาสทางธุรกิจในอนาคต เช่น การฝึกอบรมและบริการให้คำปรึกษา ได้แก่ ท่าอากาศยานที่มีความต้องการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรและพัฒนาขีดความสามารถของท่าอากาศยาน โดย ทอท.มุ่งเน้นที่ท่าอากาศยานในกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง (CLMV) เช่น ท่าอากาศยานเนปิดอว์ และท่าอากาศยานย่างกุ้ง สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ เป็นต้น

นายนิตินัย กล่าวว่า การร่วมลงนามกับ Liege Airport S.A. จะทำให้ ทอท.ได้มีโอกาสหารือเกี่ยวกับการเตรียมโครงสร้างพื้นฐานเฉพาะของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ในด้านการขนส่งสินค้าทางอากาศไปยังทวีปยุโรป เพื่อลดความเสี่ยงจากการถูกส่งสินค้ากลับจากประเทศปลายทาง ตลอดจนสอดคล้องกับความตั้งใจของ ทอท.ที่จะจัดตั้งศูนย์กลางการขนส่งสินค้าทางอากาศที่ได้รับการรับรอง (Certified Hub) ศูนย์กลางด้านการค้าทางอิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce Hub) และศูนย์กลางขนส่งสินค้าเน่าเสียง่าย (Perishable Hub) ในอนาคต เพื่อให้สามารถรองรับความท้าทายและแนวโน้มทางธุรกิจในอุตสาหกรรมการขนส่งทางอากาศ

รวมทั้งสภาพแวดล้อมและบริบททางธุรกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา อีกทั้งยังสนับสนุนการดำเนินงานของ ทอท.ที่ตระหนักถึงบทบาทการเป็นรัฐพาณิชย์ที่จะสร้างความมั่นคง และมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ