(เพิ่มเติม) BCP ตั้งงบลงทุนทั้งกลุ่ม 5 ปี รวม 1.1 แสนลบ.ดัน EBITDA แตะ 2.5 หมื่นลบ.,เล็งตั้งนิคมฯใน EEC รองรับธุรกิจชีวภาพ-แบตเตอรี่

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday February 1, 2018 14:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP) เปิดเผยว่า บริษัทและบริษัทในกลุ่ม ตั้งงบลงทุนรวม 5 ปี (61-65) ประมาณ 1.13 แสนล้านบาท เพื่อใช้ขยายธุรกิจหลักและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยใช้เทคโนโลยี ดิจิทัล และนวัตกรรมด้านพลังงานที่ทันสมัยมาต่อยอดธุรกิจ โดยประมาณ 1 ใน 3 ของเงินลงทุนจะใช้ในพื้นที่พัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่มีแผนจะตั้งนิคมอุตสาหกรรม ในจ.ฉะเชิงเทรา รองรับการลงทุนในธุรกิจชีวภาพและแบตเตอรี่ในอนาคต

ทั้งนี้ เป็นการเตรียมพร้อมในทุกมิติเพื่อสอดรับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจไทยในยุค 4.0 พร้อมกำหนดทิศทาง กลยุทธ์ในการเพิ่มขีดความสามารถ มุ่งสู่กลุ่มบริษัทนวัตกรรมสีเขียวชั้นนำในเอเชียที่มีบรรษัทภิบาลที่ดีและดำเนินธุรกิจด้วยแนวทางแบบมีส่วนร่วมและยั่งยืน

"การที่จะขยายธุรกิจในพื้นที่ EEC ซึ่งจะรวมศูนย์ที่ฉะเชิงเทรา ซึ่งก็อาจจะเป็นไปได้ที่จะมีนิคมฯที่ฉะเชิงเทรา เพื่อตอบโจทย์ Bio-Based Products ,Food Supplement , Bio-Based Material รวมถึง Energy Stroage"นายชัยวัฒน์ กล่าว

นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า การจัดตั้งนิคมฯจะมีความชัดเจนมากขึ้นภายในปีนี้ โดยการลงทุนจะมีพันธมิตรในกลุ่มนิคมฯเข้ามาร่วมทุนด้วย ซึ่งบริษัทก็จะเตรียมยื่นขอรับสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ EEC จากภาครัฐบาลด้วย โดยการลงทุนในส่วนของธุรกิจชีวภาพ เป็นการดำเนินการโดยบริษัท บีบีจีไอ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ที่ปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษารูปแบบผลิตภัณฑ์ที่จะเข้าลงทุน

ส่วนการผลิตระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Stroage) นั้น ปัจจุบันบริษัทร่วมลงทุนถือหุ้นราว 16% ในบริษัท Lithium Americas Corp (LAC) ผู้ผลิตแร่ลิเทียม ซึ่งการผลิตแร่ลิเทียมในเหมืองที่อาร์เจนตินา คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในราวไตรมาส 3-4 ของปี 62 โดยบริษัทได้รับโควตาแร่ลิเทียม 2,500 ตัน/ปีในปี 63 ซึ่งปริมาณลิเทียมดังกล่าวสามารถที่จะผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด ได้ราว 1.5 แสนคัน/ปี และแบตเตอรี่มือถือจำนวนมาก ทำให้บริษัทมองถึงโอกาสในการลงทุนธุรกิจแบตเตอรี่ในอนาคต ดังนั้น บริษัทก็พร้อมที่จะลงทุนเพิ่มใน LAC ทั้งในรูปแบบของเงินลงทุนหรือการเพิ่มสัดส่วนถือหุ้น

ด้านธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันก็ยังอยู่ในระหว่างการขยายกำลังการผลิตด้วยเทคโนโลยี Continuous Catalyst Regeneration (CCR) ซึ่งเป็นหน่วยที่จะเพิ่มผลิตภัณฑ์น้ำมันใส และ Hydrocracker Unit (HCU) รวมถึงจะมีการเพิ่มกำลังกลั่นแบบ Debottlenecking ซึ่งจะทำให้กำลังการกลั่นเพิ่มเป็น 1.33-1.4 แสนบาร์เรล/วันในปี 63 จากระดับ 1.2 แสนบาร์เรล/วันในปัจจุบัน

ด้านธุรกิจการตลาด จะสร้างระบบนิเวศน์สีเขียวและประสบการณ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Eco System) เพิ่มความทันสมัยในทำเลยุทธศาสตร์ในรูปแบบ Greenovative Experience และจะนำระบบดิจิทัลมาใช้ในสถานีบริการน้ำมันบางจาก เพื่อเพิ่มความสะดวกรวดเร็วในการรับบริการ รวมถึงมีแผนขยายธุรกิจร้าน SPAR Supermarket และนำผลิตภัณฑ์ชุมชนจากเกษตรกรไทยไปจำหน่ายในร้าน SPAR ในสาขาต่างประเทศ และการขยายร้านกาแฟอินทนิล รวมถึงสถานีบริการน้ำมันเข้าไปยังกลุ่มประเทศ CLMV ด้วย

ส่วนธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติและพัฒนาธุรกิจใหม่ จะพัฒนาธุรกิจนวัตกรรม และธุรกิจ Start up ผ่านศูนย์ Bangchak Initiative and Innovation Center (BIIC) ของบริษัท โดยมุ่งเน้นนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีพลังงานสะอาดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การบริหารจัดการพลังงาน และเทคโนโลยีชีวภาพ โดยในปัจจุบันบริษัท ได้ร่วมเป็นสมาชิกของ Plug & Play Tech Center เพื่อมองหา (Scout) ธุรกิจ Start up ที่น่าลงทุนจาก 3 แหล่งการลงทุนที่มีศักยภาพ ทั้ง Silicon valley ประเทศสหรัฐอเมริกา, TEL Aviv ประเทศอิสราเอล และประเทศจีน โดยมีเป้าหมายจะเงินลงทุนใน Start up ประมาณ 5 ล้านเหรียญสหรัฐ/ปี

ทั้งนี้ ภายใน 5 ปีข้างหน้าวางเป้าหมายที่จะมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย,ภาษี,ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) เติบโตเฉลี่ยปีละ 14% มาที่ 2.5 หมื่นล้านบาทในปี 65 จากระดับ 1.14 หมื่นล้านบาทในปี 59 โดยจะมีสัดส่วน EBITDA ของธุรกิจโรงกลั่น เหลือ 35% จาก 50% ,ธุรกิจการตลาด เหลือ 20% จาก 22% , ธุรกิจไฟฟ้า เพิ่มเป็น 24% จาก 22% ,ธุรกิจ Bio-Based Products อยู่ที่ 9% จาก 3% ,ธุรกิจ Resource เป็น 7% จาก 3% เป็นต้น

สำหรับเงินลงทุนของทั้งกลุ่ม จะมาจากเงินสดจากการดำเนินงาน และการระดมทุนในรูปแบบต่าง ๆ ของกลุ่มบริษัทที่มีศักยภาพ

นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า สำหรับแผนธุรกิจในปี 61 บริษัทคาดว่าจะมียอดขายราว 2 แสนล้านบาท จากประมาณ 1.5-1.6 แสนล้านบาทในปีที่แล้ว หลังคาดว่าราคาน้ำมันดิบมีทิศทางที่สูงขึ้นมาที่เฉลี่ย 60-70 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จากราว 52 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลในปีที่แล้ว ขณะที่ยังมีรายได้จากธุรกิจเสริมอื่นๆของกลุ่มบริษัทเข้ามาร่วมด้วย แม้ว่าในภาพรวมของกำลังการกลั่นน้ำมันในปีนี้จะทำได้ราว 1.02 แสนบาร์เรล/วัน ต่ำกว่าระดับประมาณ 1.11 แสนบาร์เรล/วันในปีที่แล้ว เพราะมีแผนปิดซ่อมบำรุงใหญ่เป็นเวลา 45 วัน ระหว่างวันที่ 30 เม.ย.-15 มิ.ย.61


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ