(เพิ่มเติม) KKP ตั้งเป้าสินเชื่อธุรกิจโต 5% จากปีก่อนอยู่ที่ 4.42 หมื่นลบ.พร้อมอนุมัติสินเชื่อใหม่ 3.35 หมื่นลบ.

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday February 12, 2018 13:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสำมิตร สกุลวิระ ประธานสายสินเชื่อธุรกิจ ธนาคารเกียรตินาคิน (KKP) เปิดเผยว่า ธนาคารฯ ตั้งเป้าสินเชื่อธุรกิจปีนี้เติบโตราว 5% จากปีก่อนมียอดสินเชื่อธุรกิจรวมอยู่ที่ 4.42 หมื่นล้านบาท และวางเป้าหมายสินเชื่อใหม่ที่ประมาณ 3.35 หมื่นล้านบาท โดยเชื่อว่าการให้บริการลูกค้าด้วยความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และมุ่งเน้นความสำเร็จของลูกค้าเป็นสำคัญ จะส่งผลให้การทำงานบรรลุเป้าหมายตามที่ได้วางไว้

ทั้งนี้ ด้วยทิศทางเศรษฐกิจและความต้องการของลูกค้าในปีนี้ ธนาคารฯ ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบและการทำงาน เพื่อตอบความต้องการของลูกค้าและสนับสนุนความสำเร็จของธุรกิจ ด้วยแนวทางการดำเนินงาน 4 ด้าน ประกอบด้วย 1.เจาะกลุ่มผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ในทุกเซกเมนต์ ส่วนกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีมุ่งขยายธุรกิจไปยังลูกค้ากลุ่มเดิม 2.เป็นธนาคารที่มีความเชี่ยวชาญพิเศษในกลุ่มอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ด้วยประสบการณ์ยาวนานของทีมงาน

3. ขยายฐานลูกค้าไปสู่กลุ่มที่มีความมั่งคั่งสูง (high net worth) ในกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร โดยมุ่งให้บริการทางการเงินแก่กลุ่มคนดังกล่าวที่ส่วนใหญ่เป็นนักธุรกิจและเจ้าของกิจการให้ประสบความสำเร็จทางธุรกิจอย่างยั่งยืน และ 4.ชูแพลตฟอร์มการเป็น Financial Solution Expert โดยพัฒนาบุคลากร ผลิตภัณฑ์ และบริการที่ครอบคลุมความต้องการทางธุรกิจของลูกค้า ตลอดจนนำเสนอเครื่องมือทางการเงินที่เหมาะสมกับผู้ประกอบการและสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับกิจการ

นายสำมิตร มองแนวโน้มการขยายตัวของธุรกิจธนาคารพาณิชย์ในปี 61 คาดว่าจะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา ตามทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่มีปัจจัยสนับสนุนหลักจากภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวที่สามารถขยายตัวได้ต่อเนื่องตามการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก รวมถึงการลงทุนภาครัฐที่คาดว่าจะขยายตัว 9% ต่อปีจากมาตรการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยผลักดันการฟื้นตัวของภาคการลงทุนและการบริโภคภายในประเทศ

สำหรับทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบาย คาดว่าจะทรงตัวในระดับ 1.5% ต่อไปจนถึงสิ้นปี 61 และดอกเบี้ยฝั่งธนาคารพาณิชย์ก็น่าจะยังไม่ปรับขึ้นมาก ทั้งดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้

ขณะที่ในด้านเงินฝากแม้ว่าดอกเบี้ยในตลาดการเงินโลกอาจปรับขึ้น แต่ทิศทางค่าเงินบาทที่แข็งค่าลดแรงจูงใจของนักลงทุนไทยในการไปลงทุนในต่างประเทศ ทำให้ไม่กระทบกับสภาพคล่องในระบบธนาคารพาณิชย์ ดอกเบี้ยเงินฝากจึงน่าจะอยู่ใกล้เคียงระดับเดิม ส่วนดอกเบี้ยเงินกู้ (MLR) ก็ไม่น่าจะปรับขึ้นจากระดับปัจจุบันเช่นกัน เนื่องจากสินเชื่อของทั้งระบบธนาคารพาณิชย์ในปีนี้ยังขยายตัวได้ใกล้เคียงกับปีที่แล้ว

ส่วนภาพรวมตลาดที่อยู่อาศัยมีแนวโน้มที่จะปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง จากปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ ได้แก่ การเริ่มกลับมาให้ความสำคัญในสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารพาณิชย์ ,มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ,ภาวะเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัว ทำให้รายได้ของประชาชนเริ่มปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางถึงบน และแนวโน้มดอกเบี้ยในตลาดการเงินยังอยู่ในระดับต่ำ รวมถึงการกลับมาเร่งประมูลโครงการโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลในปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะโครงการรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ส่งผลบวกต่อการกระตุ้นตลาดที่อยู่อาศัยในพื้นที่รอบข้างของโครงการ

นายสำมิตร กล่าวว่า ปีที่ผ่านมานับเป็นปีสำคัญของสายสินเชื่อธุรกิจ ที่สามารถทำวงเงินสินเชื่ออนุมัติใหม่ได้สูงที่สุดเท่าที่เคยทำมา จากการที่ธนาคารได้เริ่มขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มลูกค้าขนาดใหญ่ โดยที่ผ่านมาสายสินเชื่อธุรกิจ มุ่งเน้นทำตลาดในอุตสาหกรรมที่ธนาคารมีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ ได้แก่ สินเชื่อกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์รายกลางรายเล็ก,สินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอี ,สินเชื่อธุรกิจอพาร์ตเม้นต์และโรงแรม ,สินเชื่อธุรกิจขนส่ง ,สินเชื่อพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม และสินเชื่อเพื่อเครื่องจักรและวัสดุก่อสร้าง

ในปี 60 สินเชื่อธุรกิจมียอดสินเชื่อรวม 4.42 หมื่นล้านบาท ขยายตัวที่ 7% จากสิ้นปี 59 แบ่งเป็น สินเชื่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 2.12 หมื่นล้านบาท สินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอี (สินเชื่อธุรกิจอพาร์ตเม้นต์และโรงแรม สินเชื่อธุรกิจขนส่ง สินเชื่อพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม และสินเชื่อเพื่อเครื่องจักรและวัสดุก่อสร้าง) 2.3 หมื่นล้านบาท

นายสำมิตร เปิดเผยอีกว่า ในช่วงเดือน ม.ค.61 ธนาคารได้มีการอนุมัติสินเชื่อใหม่ในกลุ่มของสินเชื่อธุรกิจไปแล้ว 6 พันล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ ที่มีการลงทุนพัฒนาโครงการใหม่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งกลยุทธ์ของธนาคารในการปล่อยสินเชื่อธุรกิจจะหันมาปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่มากขึ้นเพื่อลดความเสี่ยงของหนี้เสียให้ลดลง จากเดิมที่ธนาคารปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการรายเล็กและรายกลางเป็นส่วนใหญ่ ส่งผลให้สัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของสายธุรกิจสินเชื่ออยู่ในระดับที่สูง

"ตอนนี้กลุ่มสินเชื่อธุรกิจของธนาคารเกียรตินาคินเข้าถึงผู้ประกอบการอสังหาฯรายใหญ่มากขึ้น เช่น แสนสิริ พฤกษา ศุภาลัย แลนด์ แอนด์เฮาส์ และคิวเฮาส์ แม้ว่าเราเน้นปล่อยกลุ่มเดเวลอปเปอร์ขนาดใหญ่ ซึ่งเน้น Top10 ในตลาดเป็นหลัก แต่ Yield ที่เราทำก็จะไม่ต่ำกว่าดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารที่ 0.5-0.75% ต่อปี แม้ว่า Yield จะไม่มากแต่ก็เป็นการลดความเสี่ยงด้านหนี้เสียให้กับธนาคารได้"นายสำมิตร กล่าว

ขณะที่สัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในปีนี้ธนาคารจะลดให้เหลืออยู่ที่ 10% จากสิ้นปีก่อนที่ 13.7% จากการที่ธนาคารเน้นกลุ่มลูกค้าผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่มากขึ้น และพยายามช่วยแก้ปัญหาให้ลูกค้าเดิมที่เผชิญกับปัญหาให้หมดไป หรือลูกค้ารายเดิมที่ไม่สามารถทำธุรกิจไปได้แล้ว ธนาคารจะให้ลูกค้าประเมินมูลค่าสินทรัพย์และคืนกลับมาให้กับธนาคารเป็นสินทรัพย์รอการขาย ทอดตลาด (NPA) เพื่อทำให้ลูกค้าไม่เป็นหนี้เสีย และธนาคารไม่มีหนี้เสียเพิ่ม โดย NPL ของกลุ่มสินเชื่อธุรกิจของธนาคารส่วนใหญ่มาจากสินเชื่อผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์รายกลางและเล็กที่เคยปล่อยสินเชื่อให้ในอดีต

ทั้งนี้ ธนาคารมองว่าหากภาพรวมของภาวะเศรษฐกิจและการลงทุนต่างๆเป็นไปได้ด้วยดีมองว่าโอกาสที่การเติบโตของสินเชื่อธุรกิจในปีนี้มีโอกาสเติบโตได้มากกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้เติบโต 5% หรือมียอดสินเชื่อคงค้างในสิ้นปี 61 อยู่ที่กว่า 4.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งมีโอกาสแตะ 5 หมื่นล้านบาทในช่วงสิ้นปีนี้

โดยธนาคารจะต้องพยายามรักษายอดสินเชื่อคงค้างซึ่งจะต้องปล่อยสินเชื่อใหม่เฉลี่ยเดือนละ 1.5 พันล้านบาท/เดือน หรือปีละ 1.8 หมื่นล้านบาท เพื่อมาทดแทนสินเชื่อเดิมที่ลูกค้าชำระคืนมา ซึ่งสินเชื่อที่เข้ามาเป็นสินเชื่อคงค้างจะเป็นกรณีที่ลูกค้ามีการเบิกใช้วงเงิน ใน 1 เดือนที่ผ่านมามีลูกค้าเบิกใช้วงเงินไปแล้ว 2 พันล้านบาท เป็นวงเงินที่ธนาคารปล่อยให้กับลูกค้าในปีก่อน พอร์ตสินเชื่อธุรกิจของธนาคารส่วนใหญ่เป็นกลุ่มสินเชื่อผู้ประกอบการอสังหาริทารัพย์ 65% และสินเชื่อลูกค้าเอสเอ็มอี 35%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ