KBANK มั่นใจลงทุนพื้นที่ EEC-Digital Economy หนุนสินเชื่อรวมปีนี้โตตามเป้า 6-8%,รายได้ค่าธรรมเนียมโต 2-5%

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday February 21, 2018 11:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุวัฒน์ เตชะวัฒนวรรณา รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เปิดเผยว่า แนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจในปีนี้ยังขยายตัวได้จากสัญญาณการฟื้นตัวของประเทศคู่ค้าของไทย การเติบโตของตัวเลขการส่งออก การขยายตัวของการท่องเที่ยวที่ดีเกินคาดต่อเนื่องจากปีที่แล้ว และยังมีปัจจัยสนับสนุนด้านเงินลงทุนจากภาครัฐที่มีความชัดเจนและเป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยเฉพาะเม็ดเงินลงทุนในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่เชื่อว่าจะเป็นฟันเฟืองสำคัญของการลงทุนในปี 61 นี้ โดยปัจจุบันมีความคืบหน้าไปแล้วในหลายด้าน

การที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ผ่านความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ. เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก จะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญด้านการสร้างความเชื่อมั่นของนักลงทุนภาคเอกชน ซึ่งส่งผลต่อเนื่องถึงความคึกคักด้านการลงทุนขนาดใหญ่ในระยะยาวในแถบพื้นที่ EEC โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ประมาณการว่า แรงกระตุ้นจากพ.ร.บ. จะทำให้การขอรับการส่งเสริมการลงทุนจะขยับจาก 283,000 ล้านบาท ในปี 60 ไปแตะ 4 แสนล้านบาท ภายในปี 65

นอกจากนี้ Digital Economy ยังเป็นแรงกระตุ้นเศรษฐกิจที่สำคัญอีกกระแสหนึ่งที่ลูกค้าธุรกิจให้ความสนใจเป็นอย่างมาก โดยธนาคารได้เข้าไปมีบทบาทเชื่อมโยงลูกค้าธุรกิจกับลูกค้าบุคคลเข้าไว้ด้วยกันบนโลกดิจิทัล โดยดึงพันธมิตรหรือลูกค้าธุรกิจต่าง ๆ เข้ามาร่วมสนับสนุนเพื่อสร้างประโยชน์สูงสุดในวงจรธุรกิจ ทั้งลูกค้าธุรกิจ คู่ค้า และลูกค้าบุคคล ผ่านเครื่องมือทางการเงินดิจิทัล เช่น เครื่อง EDC, QR Payment, และแอป K PLUS เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์แก่ลูกค้าทุกกลุ่ม

ทั้งนี้ จากคาดการณ์ดังกล่าว ส่งผลให้เศรษฐกิจน่าจะปรับตัวดีขึ้นในปีนี้ ประกอบกับปัจจัยสนับสนุนที่ดีอย่าง EEC และ Digital Economy ธนาคารจึงมั่นใจว่าจะสามารถช่วยสนับสนุนให้ลูกค้าเติบโตอย่างต่อเนื่อง และตามเป้าหมายที่วางไว้ คือ สินเชื่อรวมเติบโตที่ 6-8% และมีรายได้ค่าธรรมเนียมเติบโตที่ 2-5%

สำหรับผลการดำเนินงานของสายงานธุรกิจลูกค้าบรรษัทที่ดูแลลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ปี 60 มียอดสินเชื่อรวม 573,521 ล้านบาท เติบโต 12% จากปี 59 มีรายได้รวม 24,882 ล้านบาท เติบโต 8% และมีรายได้ค่าธรรมเนียม 12,153 ล้านบาท เติบโต 9% โดยยอดสินเชื่อที่เติบโตได้เกินเป้าหมายนี้มีแรงสนับสนุนจากอุตสาหกรรมเด่นในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ก่อสร้าง อาหารและเครื่องดื่ม

นายภานพ อังศุสิงห์ ผู้บริหารสายงานวาณิชธนกิจ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการที่ประเทศไทยมีการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ตามแนวรถไฟฟ้า และลงทุนเพื่อสร้างและขยายธุรกิจขนาดใหญ่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ภาคธุรกิจต้องการการระดมทุนหลากหลายรูปแบบ ทั้งการออกกองรีท สินเชื่อร่วม สินเชื่อโครงการ การระดุมทุนเพื่อเข้าซื้อกิจการ การหาผู้ร่วมทุนในกิจการ และการเข้าตลาดหุ้น ซึ่งปีนี้ภาวะการระดมทุนในรูปแบบต่าง ๆ ดังกล่าว ยังเป็นที่สนใจต่อภาคธุรกิจต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยในปีที่ผ่านมา ลูกค้าของธนาคารฯ มีการเสนอขายหุ้นแก่นักลงทุนทั่วไปครั้งแรก (IPO) สูงเป็นอันดับหนึ่งของตลาดถึง 54,000 ล้านบาท

ด้านนายศีลวัต สันติวิสัฎฐ์ รองกรรมการผู้จัดการ เสริมว่า ธนาคารพยายามส่งเสริมและเชื่อมโยงช่องทางการรับ-จ่ายเงินของลูกค้าด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมชั้นนำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพทางการแข่งขันให้กับลูกค้า สอดรับกับนโยบาย National e-Payment ของรัฐบาล และพฤติกรรมของผู้บริโภคที่กำลังก้าวสู่สังคมไร้เงินสด (Cashless Society)

ทั้งนี้ เห็นได้จากปริมาณธุรกรรมที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องของบริการทางอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ เช่น บริการธนาคารอิเล็กทรอนิกส์มีผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นถึง 60%, บริการการค้าระหว่างประเทศอิเล็กทรอนิกส์มีผู้ใช้งานเพิ่มขึ้น 20%, บริการหนังสือค้ำประกันอิเล็กทรอนิกส์ก็มียอดธุรกรรมผ่านระบบสูงขึ้น 21%, ปริมาณการรับชำระเงินของลูกค้าธุรกิจที่ทำผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ (E-Collection) เช่น รับเงินจาก ATM, K Cyber Banking, K PLUS เพิ่มขึ้นถึง 57% ทำให้เห็นทิศทางการใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์สูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในปี 2561 เพราะลูกค้าจะสามารถเชื่อมโยงข้อมูลธุรกรรมได้สะดวก มีประสิทธิภาพ

ประกอบกับลูกค้ารายย่อยก็เริ่มที่จะหันมาใช้การทำธุรกรรมผ่านโทรศัพท์มือถือ เช่น K PLUS, QR Code กันมากขึ้น ยิ่งจะเป็นแรงส่งให้ลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ต้องหันมาใช้เทคโนโลยี เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้า Cashless Society ตลอดจนสร้างรายได้และโอกาสใหม่ ๆ ให้ได้มากยิ่งขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ