(เพิ่มเติม) KBANK พัฒนา "KADE" แพลตฟอร์ม AI ช่วยเข้าถึงบริการการเงินที่ตรงใจ ตอบโจทย์ลูกค้า

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday March 13, 2018 12:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมคิด จิรานันตรัตน์ ประธาน กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) เปิดเผยว่า ปัจจุบันธนาคารกสิกรไทยมีการทำธุรกรรมผ่านช่องทางดิจิทัลมากกว่า 80% ของธุรกรรมทั้งหมด แต่เนื่องจากข้อจำกัดในการเข้าถึงบริการรูปแบบเดิม ธนาคารจึงนำเทคโนโลยีและความรู้ที่มีอยู่มาสร้างโอกาสให้กับคนทุกกลุ่ม โดยได้พัฒนา "เกด" (KADE: K PLUS AI-Driven Experience) ประสบการณ์ใหม่ของบริการทางการเงินแห่งอนาคตที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) หรือ AI ถือเป็นก้าวกระโดดจากการให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลในปัจจุบัน ไปสู่โลกของบริการทางการเงินอันชาญฉลาดเป็นครั้งแรกของสถาบันการเงินในประเทศไทย ภายใต้แนวคิด "From Digital to Intelligence" ที่เป็นการสร้างประสบการณ์รูปแบบใหม่ให้ลูกค้ารู้สึกเสมือนมีคู่หูอัจฉริยะคอยช่วยคิดและนำเสนอสิ่งดี ๆ ที่ตรงใจอยู่เสมอในทุกที่ทุกเวลา

KADE เป็นนวัตกรรมทางการเงินแห่งอนาคตที่เกิดจากการผสมผสานประสบการณ์ทางการเงินของธนาคารกสิกรไทย โดยการผสานเข้ากับวิสัยทัศน์และความเชี่ยวชาญทางเทคโนโลยีและการออกแบบของ KBTG อันประกอบด้วย Machine Intelligence กลไกอัจฉริยะที่ใช้ AI เป็นตัวจักรสำคัญในการสร้างความฉลาดให้กับบริการต่างๆใน K PLUS ให้สามารถเข้าใจและเข้าถึงความต้องการของลูกค้าในทุกด้าน ทุกระดับ ทุกที่ และทุกเวลา ซึ่งความอัจฉริยะนี้จะเปลี่ยน K PLUS ให้เป็น K PLUS Intelligence Platform ที่รวบรวมการให้บริการอันรู้ใจในรูปแบบต่าง ๆ ไว้ในที่เดียวกันและทำให้ KADE เป็นคู่หูครบวงจรที่สามารถตอบโจทย์การใช้ชีวิตของลูกค้าได้อย่างแท้จริง

KADE สามารถเรียนรู้รูปแบบการใช้ชีวิต (Life Style) ของลูกค้า ตลอดจนความต้องการทางการเงินทั้งในด้านธุรกิจและชีวิตส่วนตัว และทำหน้าที่เป็นคู่หูผู้รู้ใจคอยเติมเต็มชีวิตทางการเงินของลูกค้า เช่น เตือนให้ลูกค้าไม่ลืมที่จะทำธุรกรรมที่จำเป็น ช่วยนำเสนอสินค้าและบริการที่เหมาะสมกับลูกค้าแต่ละท่านที่มีความ "ถูกใจ ทุกที่ ทุกเวลา" นอกจากนั้นยังสามารถแนะนำการใช้จ่ายและการลงทุนที่จะเพิ่มศักยภาพทางการเงินและโอกาสทางธุรกิจให้กับลูกค้าในขั้นสุดได้อีกด้วย โดยในอนาคตอันใกล้นี้ KADE จะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ธนาคารสามารถนำเสนอบริการในรูปแบบที่ตรงใจและหลากหลายเป็นรายคน (Segment of One) ช่วยตอบโจทย์การใช้ชีวิตและความต้องการที่แตกต่างของลูกค้าแต่ละคนได้อย่างโดนใจ พร้อมทั้งสามารถขยายขอบเขตการให้บริการไปยังลูกค้าทุกกลุ่ม อันรวมไปถึงกลุ่มลูกค้าที่ยังเข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน (Unbanked) ถือเป็นการสร้างโอกาสและยกระดับการเข้าถึงบริการทางการเงินของคนไทยอย่างทัดเทียม

"ความอัจฉริยะนี้ จะเปลี่ยน K PLUS ให้เป็น K PLUS Intelligence Platform ที่รวบรวมการให้บริการอันรู้ใจในรูปแบบต่าง ๆ ไว้ในที่เดียวกันและทำให้ KADE เป็นคู่หูครบวงจรที่สามารถตอบโจทย์การใช้ชีวิตของลูกค้าได้อย่างแท้จริง" นายสมคิด กล่าว

นายสมคิด กล่าวว่า ในช่วง 3 ปีนี้ (61-63) ตั้งเป้าจะพัฒนาแอพพลิเคชั่น K Plus ให้เป็น Digital Banking อย่างเต็มรูปแบบ โดยใช้เงินลงทุนราว 5 พันล้านบาท เพื่อให้ลูกค้าธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ที่ใช้แอพลิเคชั่น K Plus มีความสะดวกในการทำธุรกรรมผ่านช่องทางดิจิทัล รวมถึงจะมีการนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่างๆของธนาคารกสิกรไทยผ่าน K Plus โดยจะใช้ "KADE" ซึ่งเป็น AI ที่ KBTG พัฒนาเข้ามาเป็นพื้นฐานสำคัญในการวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์ต่างๆที่ตอบโจทย์กับลูกค้าแต่ละราย โดยในช่วงปลายปีนี้ KBTG จะพัฒนาฟังก์ชั่นการทำงานของ "KADE" ให้สามารถโต้ตอบกับผู้ใช้ได้ ผ่านการทำงานต่างๆ

KBTG ยังเล็งเห็นถึงโอกาสในการต่อยอดการให้บริการด้านสินเชื่อแก่ลูกค้าที่ใช้ K Plus โดยเฉพาะในส่วนของสินเชื่อรายย่อยที่เป็นกลุ่มลูกค้าหลักที่ใช้บริการ K Plus ซึ่งในช่วงแรกจะมีการให้บริการในส่วนของสินเชื่อบุคคลวงเงิน 30,000-500,000 บาท โดยลูกค้าสามารถเลือกระยะเวลาการชำระได้ตามตัวเลือกที่ธนาคารกำหนดให้ ซึ่งกระบวนการอนุมัติสินเชื่อและส่งมอบเงินสินเชื่อให้กับลูกค้าจะใช้การวิเคราะห์ของเทคโนโลยี AI ทั้งหมด โดยจะพิจารณาข้อมูลพฤติกรรมการเงินของลูกค้าและข้อมูลทางการเงินของลูกค้ามาประกอบ ซึ่งหลังจากอนุมัติและเซ็นสัญญาแล้ว ลูกค้าจะได้รับเงินสินเชื่อภายในไม่เกิน 1 นาที นอกจากนี้ KBTG ยังมองไปถึงการให้บริการสินเชื่อรายย่อยในวงเงินที่ต่ำกว่า 30,000 บาท เพื่อเป็นการขยายฐานลูกค้า และทำให้ลูกค้าที่ต้องการใช้เงินจำนวนไม่มากและมีความสามารถในการชำระหนี้เข้าถึงการให้บริการด้านสินเชื่อมากขึ้น ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสแก่ลูกค้าบุคคลรายย่อยให้กว้างมากขึ้น ในขณะที่การควบคุมด้านคุณภาพหนี้ของการพิจารณาการให้สินเชื่อมองว่าเทคโนโลยี AI มีการพิจารณาข้อมูลเพื่อเลือกวงเงินให้สินเชื่อที่เหมาะสมกับลูกค้าแต่ละราย แต่เรื่องของคุญภาพหนี้เป็นสิ่งที่ไม่สามารถควบคุมได้ เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในอนาคต ซึ่ง AI จะมีการประเมินความเสี่ยงในเบื้องต้นซึ่งเป็นไปตามพฤติกรรมของลูกค้าแต่ละราย ทำให้ความเสี่ยงด้านการให้สินเชื่อแก่ลูกค้าจะไม่สูงมาก "การต่อยอดการให้สินเชื่อจากการนำ KADE มาใช้ เพื่อเปิดโอกาสการเข้าถึงบริการต่างๆ รวมถึงการเข้าถึงบริการด้านสินเชื่อใหม่กับลูกค้ารายเล็กๆมีโอกาสมากขึ้น ซึ่งเรามองว่าการที่หลายๆคนเข้าถึงสินเชื่อได้เป็นหารเปิดโอกาสในการทำธุรกิจ การใช้จ่ายต่างๆ ทำให้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้ดีขึ้น และถ้าเศรษฐกิจดีขึ้นเราก็เชื่อว่าหนี้เสียก็จะลดลง ในแง่ของธนาคารก็เป็นการต่อยอดการให้บริการและการนำเสนอผลิตภัณฑ์แก่ลูกค้า รวมถึงการ Transform K Plus เป็น Digital Banking เต็มรูปแบบใน 3 ปี"นายสมคิด กล่าว ทั้งนี้ KBTG ตั้งเป้าเพิ่มฐานผู้ไช้แอพพลิเคชั่น K Plus เพิ่มเป็นมากกว่า 20 ล้านคน ภายใน 5 ปี หรือภายในปี 65 โดยคาดว่าภายในสิ้นปี 61 จะมีฐานลูกค้าที่ใช้ K Plus เพิ่มเป็น 10 ล้านคน จากปัจจุบันอยู่ที่ 8 ล้านคน พร้อมกับในปีนี้ธนาคารกสิกรไทยจะมีการเปิดตัวอาคาร K Plus ซึ่งเป็นอาคารที่ให้บริการการทำธุกรรมทางการเงินแก่ลูกค้าธนาคารกสิกรไทยในรูปแบบ Digital Platform เต็มรูปแบบ เพื่อตอกย้ำการเข้าสู่ยุคดิจิทัลของการให้บริการทางการเงิน และการทำงานควบคู่กับสาขาของธนาคารกสิกรไทยในปัจจุบันที่เปิดให้บริการ โดยที่ธนาคารกสิกรไทยยังคงให้ความสำคัญกับการทำงานแบบคู่ขนานระหว่างการให้บริการแบบเดิม โดยใช้คนในการให้บริการ และการให้บริการผ่านดิจิทัล เพื่อการให้บริการลูกค้าทุกระดับประทับใจมากที่สุด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ