(เพิ่มเติม) TTCL คาดนำ"TTCL Power Holding"เข้าตลาดหุ้นอย่างเร็ว พ.ย.นี้ระดมทุนสร้างโรงไฟฟ้า Ahlone เฟส 2 ในเมียนมา

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday March 15, 2018 10:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกอบชัย ธนสุกาญจน์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้บริหารสายงานการเงินและบัญชี บมจ.ทีทีซีแอล (TTCL) เปิดเผยว่า การนำ TTCL Power Holding Pte. Ltd. (TTPHD) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ลงทุนในธุรกิจไฟฟ้า เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในแผนระดมทุนสร้างโรงไฟฟ้าโครงการ Ahlone เฟส 2 ขนาด 356 เมกะวัตต์ (MW) ในเมียนมานั้น จะดำเนินการได้อย่างเร็วที่สุดภายในเดือน พ.ย. นี้ หรือช้าสุดตามกรอบระยะเวลาจะอยู่ในช่วงไตรมาส 2/62

สำหรับแผนการจัดหาแหล่งเงินทุนในโครงการ Ahlone เฟส 2 ที่มีมูลค่าลงทุน 1.2 หมื่นล้านบาทนั้น จะใช้เงินกู้ 70% และส่วนทุน 30% โดยในส่วนเงินกู้นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจากับธนาคารหลายแห่งทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งติดต่อเข้ามาหลายราย แม้กลุ่ม Toyo Engineering Corporation จะขายหุ้นออกไปก่อนหน้านี้ และกระทบต่อราคาหุ้นของบริษัทที่ปรับลดลงมาก ก็เชื่อว่าจะไม่มีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในการกขอสินเชื่อ ขณะเดียวกันบริษัทอาจใช้เครื่องมือทางการเงินอื่น ๆ เพื่อให้ดอกเบี้ยการกู้อยู่ในระดับต่ำที่สุดด้วย

ส่วนการก่อสร้างโรงไฟฟ้า Ahlone เฟส 2 คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ปลายปี 62 และบริษัทจะได้รับงานก่อสร้าง ซึ่งมูลค่างานก่อสร้างคิดเป็น 70-75% ของมูลค่าโครงการ 1.2 หมื่นล้านบาท

นายกอบชัย กล่าวว่า บริษัทวางแผนระดมทุนเพื่อใช้ก่อสร้างโรงไฟฟ้า Ahlone เฟส 2 ซึ่งจะต้องใช้ส่วนทุน 30% หรือราว 3.6 พันล้านบาท โดยมีแนวทางระดมทุนในหลายแนวทาง ซึ่งเตรียมจะเสนอต่อที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2561 ในวันที่ 27 เม.ย.นี้ โดยจะมีการนำ TTPHD เข้าตลาดหุ้น ใช้เกณฑ์ Primary Listing เนื่องจากเป็นบริษัทที่จดทะเบียนการค้าอยู่ในสิงคโปร์

ทั้งนี้ TTPHD จะขายหุ้นสามัญแก่ประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ในสัดส่วน 40% ของทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วทั้งหมด โดยจะให้สิทธิในการจองซื้อแก่ผู้ถือหุ้นของบริษัทตามสัดส่วนการถือหุ้น (Pre-emptive right) ไม่น้อยกว่า 20% ซึ่งที่ปรึกษาทางการเงินประเมิน P/E อ้างอิงของธุรกิจโรงไฟฟ้าในตลาดหุ้นอยู่ที่ 15 เท่า และบริษัทจะให้ส่วนลดประมาณ 25% ในการเสนอขายหุ้น IPO

ปัจจุบัน TTPHD มีโรงไฟฟ้าพลังงานร้อนร่วมกังหันก๊าซฯ 121 เมกะวัตต์ที่เปิดดำเนินการมาแล้ว 4 ปี โดยมีกำไรสุทธิในปี 60 อยู่ที่ 277 ล้านบาท ลดลงจากปี 59 ที่มีกำไร 305 ล้านบาท เนื่องจากมีการปิดซ่อมโรงไฟฟ้าบางส่วน และยังมีโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ญี่ปุ่น 20-25 เมกะวัตต์ คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จปี 63

นอกเหนือจากแผนการนำ TTPHD เข้าตลาดหุ้นแล้ว ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเมื่อวานนี้ (14 มี.ค.) อนุมัติการเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 896 ล้านบาท จาก 560 ล้านบาท โดยออกหุ้นใหม่ 336 ล้านหุ้น พาร์หุ้นละ 1 บาท โดยจะจัดสรรหุ้น 112 ล้านหุ้นเพื่อรองรับการใช้สิทธิใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญ (วอร์แรนต์) ครั้งที่ 1 หรือ TTCL-W1 ที่จะออกจำนวน 112 ล้านหน่วย แจกฟรีแก่ผู้ถือหุ้นเดิมสัดส่วน 5 หุ้นเดิมต่อ 1 วอร์แรนต์ อายุ 3 ปี อัตราการใช้สิทธิ 1 วอร์แรนต์ต่อ 1 หุ้นใหม่ ที่ราคา 18 บาท

ส่วนหุ้นเพิ่มทุนที่เหลือ 224 ล้านหุ้น เป็นการมอบอำนาจแบบทั่วไป (General Mandate) ซึ่งจะจัดสรรให้กับผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วน (RO) ไม่เกิน 168 ล้านหุ้น หรือไม่เกิน 30% และบุคคลในวงจำกัด (PP) ไม่เกิน 56 ล้านหุ้น หรือไม่เกิน 10%

นายกอบชัย กล่าวว่า การออกวอร์แรนต์ให้ฟรีกับผู้ถือหุ้นครั้งนี้ หากมีการใช้สิทธิแปลงสภาพทั้งหมดก็คาดว่าจะระดมทุนได้กว่า 2 พันล้านบาท ส่วนการเพิ่มทุนแบบ General Mandate จำนวน 224 ล้านหุ้นนั้นถือเป็นแผนสำรองหากเกิดกรณีที่เงินระดมทุนจาก IPO ของ TTPHD ไม่เพียงพอต่อการลงทุนโรงไฟฟ้าในอนาคต เช่น ค่าเงินบาทผันผวนทำให้มูลค่าหุ้นลดลงจากการแปลงอัตราแลกเปลี่ยน บริษัทจึงได้ขออนุมัติการเพิ่มทุนแบบมอบอำนาจทั่วไป โดยอาจไม่จำเป็นต้องเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนในส่วนนี้ หากมีเงินลงทุนเพียงพอจากการ IPO แล้ว

อย่างไรก็ตาม หากมีการขายหุ้นเพิ่มทุนให้กับ PP บริษัทก็จะให้ความสำคัญกับกลุ่มทุนที่ช่วยต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจของบริษัท ซึ่งขณะนี้มีผู้สนใจจำนวนมาก ซึ่งแม้ราคาหุ้นจะปรับตัวลดลงจากความวิตกของนักลงทุนตามกระแสข่าวเชิงลบที่ออกมา แต่นักวิเคราะห์ยังประเมินมูลค่าเหมาะสมของหุ้น TTCL ให้อยู่ที่ 15 บาท/หุ้น

ส่วนความคืบหน้าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่รัฐ kayin เมียนมา ขนาด 1,280 เมกะวัตต์ มูลค่าโครงการกว่า 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ อยู่ระหว่างการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งยังเป็นโครงการที่ต้องใช้ระยะเวลาเจรจาและศึกษา

นายกอบชัย ยังกล่าวถึงแผนการดำเนินงานปี 61 ว่า บริษัทคาดว่ารายได้จะเติบโต 20% เนื่องจากอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเริ่มฟื้นตัวมีการลงทุนก่อสร้างมากขึ้นสร้างโอกาสการรับงานของบริษัท โดยปัจจุบันมีงานในมือ (Backlog) 9 พันล้านบาท ซึ่งจะรับรู้เป็นรายได้ในปีนี้ 70% ขณะที่คาดหวังจะได้งานเพิ่มในปีนี้อีกราว 700-800 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งจะเริ่มทยอยเข้ามาช่วงไตรมาส 2 เป็นต้นไป

"เราอยากขอความสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นให้เห็นชอบมติที่ประชุม เพราะแนวทางที่ได้นำเสนอ จะช่วยสร้างผลประโยชน์ระยะยาวให้กับบริษัทเป็นอย่างดี ส่วนประเด็นราคาหุ้นที่ตกลงในช่วงที่ผ่านมา ประเมินว่าเกิดจากความตระหนกข่าวเชิงลบของบริษัท ซึ่งขอยืนยันว่าธุรกิจของ TTCL มีโอกาสการเติบโต และมีโครงการที่ช่วยสร้างผลประโยชน์ที่ดีในอนาคต"นายกอบชัย กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ