แบงก์ธนชาต จับมือ"BCEL"ลาวร่วมพัฒนาการใช้มาตรฐาน QR Code ผ่านพร้อมเพย์ข้ามแดนครั้งแรก

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday March 20, 2018 16:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอนุวัติร์ เหลืองทวีกุล รองกรรมการผู้จัดการ เครือข่ายลูกค้ารายย่อยและธุรกิจขนาดเล็ก ธนาคารธนชาต ในกลุ่มบมจ.ทุนธนชาต (TCAP) กล่าวว่า ธนาคารต่อยอดนำระบบพร้อมเพย์มาพัฒนาในการใช้มาตรฐาน QR Code สำหรับธุรกรรมชำระเงินผ่านระบบพร้อมเพย์ข้ามประเทศครั้งแรก โดยร่วมมือกับธนาคารการค้าต่างประเทศลาว หรือ BCEL (Banque Pour Le Commerce Exterieur Lao Public) ซึ่งเป็นธนาคารชั้นนำระดับประเทศของลาว ที่ธนชาตมีความสัมพันธ์อันดีมายาวนาน และมีบริการโมบายแอพพลิเคชั่น เพื่อทำรายการภายในประเทศอยู่แล้ว โดยร่วมกันพัฒนาโมบายแอพพลิเคชั่นให้สามารถสแกน QR Code ชำระค่าสินค้าและบริการข้ามประเทศได้เป็นครั้งแรก

ภายใต้ความร่วมมือดังกล่าว ธนชาตจะทำหน้าที่เป็นตัวแทนชำระเงิน (Sponsor Bank) ในประเทศไทยให้กับ BCEL เมื่อลูกค้าของ BCEL เดินทางมาประเทศไทย สามารถใช้โมบายแอพฯ สแกนซื้อสินค้าในไทยร้านใดก็ได้ที่รับชำระด้วยมาตรฐาน QR Code ไม่ว่าร้านค้านั้นจะเป็นลูกค้าของ ธนาคารใดก็ตาม โดยธนชาตจะทำหน้าที่ชำระเงินให้แก่ร้านค้านั้น ๆ ผ่านระบบพร้อมเพย์ ซึ่งมีมาตรฐาน ความปลอดภัยสูงสุด เพิ่มความสะดวกรวดเร็วให้แก่ผู้จ่ายและผู้รับ ลดภาระการถือเงินสด ลดความเสี่ยง ในการแปลงสกุลเงินตราต่างประเทศ โดยคาดว่าจะเริ่มให้บริการได้ในไตรมาส 2 ของปี 2561

"ในช่วงเฟสแรก ธนชาตจะร่วมมือกับ BCEL ก่อน จากนั้นมีแผนจะขยายความร่วมมือในการให้บริการไปยังกลุ่มประเทศ CLMV เนื่องจากเป็นบ้านใกล้เรือนเคียงที่เข้ามาท่องเที่ยวและทำงานในไทยแต่ละปีเป็นจำนวนมาก ตัวเลขจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาระบุว่าปี 2560 มีนักท่องเที่ยวจากกลุ่มประเทศ CLMV เข้ามาราว 3.7 ล้านคน มียอดใช้จ่ายราว 113,738 ล้านบาทและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี จากนั้นในเฟส 2 ธนชาตจะร่วมมือ กับธนาคารพาณิชย์ไทยรายอื่น ๆ พัฒนาโมบายแอพฯ เพื่อให้คนไทยสามารถจับจ่ายซื้อสินค้า ในประเทศเพื่อนบ้าน โดยชำระผ่าน QR Code ได้เช่นเดียวกัน โดยคาดว่าจะเกิดขึ้นในไตรมาส 3 ของปี 2561" นายอนุวัติร์ กล่าว

นายคำเซี่ยน มิ่งบุปผา รองผู้อำนวยการใหญ่ BCEL กล่าวว่า BCEL และธนชาตมีความร่วมมือทางธุรกิจกันมายาวนานตั้งแต่ปี 2552 ในหลายด้าน อาทิ บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ เงินฝากกระแสรายวัน และการโอนเงินระหว่างประเทศ อีกทั้ง BCEL ได้ส่งพนักงานมาเรียนรู้งานในด้านต่างๆ จากธนชาต เพื่อเพิ่มพูนความรู้ความสามารถให้แก่พนักงานด้วย ซึ่งปัจจุบันบริการทางการเงิน ในระบบดิจิทัลมีบทบาทสำคัญมากขึ้นในชีวิตประจำวัน จะเห็นได้จากในประเทศลาวเอง มียอดผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นปีละ 54% และธุรกรรมทางการเงินผ่าน e-Banking เพิ่มขึ้น 85% ปีต่อปี

เมื่อต้นปี BCEL ได้เปิดให้บริการ BCEL One Pay ซึ่งเป็นบริการชำระค่าสินค้าและบริการผ่าน QR Code เป็นครั้งแรกใน สปป.ลาวซึ่งได้รับการตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี โดยฟังก์ชั่นนี้อยู่ในโมบายแอพฯ BCEL One ที่ธนาคารเปิดตัวไปเมื่อปี 2559 ดังนั้น เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น BCEL จึงร่วมมือกับธนชาต พัฒนาบริการชำระเงินผ่าน QR Code ข้ามประเทศขึ้นเพื่อให้ลูกค้าของ BCEL หรือลูกค้าชาวลาวที่ต้องการซื้อสินค้าและบริการในประเทศไทยสามารถจ่ายด้วยการสแกน QR Code ผ่าน BCEL One Pay ได้อย่างสะดวกสบาย โดยมีธนชาตเป็นตัวแทนชำระเงินให้ร้านค้าในประเทศไทย ซึ่งถัดจากโครงการนี้ ทั้ง 2 ธนาคารจะร่วมมือกันพัฒนาบริการทางการเงินให้ทันสมัยยิ่งขึ้นเพื่อลูกค้าต่อไป

นางฤชุกร สิริโยธิน รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ความร่วมมือการใช้มาตรฐาน QR Code สำหรับการชำระเงิน ผ่านระบบพร้อมเพย์ข้ามประเทศครั้งแรก ถือเป็นการพัฒนาต่อยอดการใช้มาตรฐาน QR Code เพื่อช่วยสนับสนุนให้เกิดการเชื่อมโยงระบบการเงินระหว่างไทยกับ สปป.ลาว สอดคล้องกับหลักการนำมาตรฐานสากลมาใช้ให้เกิดประโยชน์ร่วมกัน ทำให้การพัฒนาการเชื่อมโยงระหว่างประเทศได้ง่ายและรวดเร็ว เป็นการเพิ่มช่องทางการชำระเงินที่สะดวก ปลอดภัย ด้วยต้นทุนที่ต่ำ อีกทั้งเป็นรากฐานในการต่อยอดนวัตกรรมทางการเงินที่หลากหลายต่อไป

นายสอนไซ ซิดพะไซ รองผู้ว่าธนาคารแห่ง สปป.ลาว กล่าวว่า สปป.ลาว พยายามดำเนินตามพิมพ์เขียวการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Blueprint) ให้สำเร็จลุล่วง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำเนินการทางการเงินระหว่างอาเซียน และเชื่อมั่นว่าการร่วมมือกัน ครั้งนี้จะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับธนาคารพาณิชย์ในลาวที่จะก้าวไปข้างหน้าเพื่อให้บริการด้านการธนาคารที่ทันสมัยและเป็นไปตามมาตรฐานสากลโดยลำดับ ถือเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับ การเชื่อมโยงและนำเสนอบริการทางการเงินที่หลากหลายและทันสมัยเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า เชื่อว่าความสำเร็จจากการร่วมมือในครั้งนี้จะสามารถส่งเสริมการค้า และสนับสนุนการชำระเงินระหว่างสองประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ