TPCH ตั้งเป้ารายได้กำไรปี 61 โตตามกำลังการผลิตเพิ่ม 30% จากรับรู้ฯ 6 โรงไฟฟ้าเต็มปี,รู้ผลประมูลโรงไฟฟ้าขยะ Q2/61

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday March 22, 2018 14:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเชิดศักดิ์ วัฒนวิจิตรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง (TPCH) เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้ารายได้กำไรปี 61 เติบโตกว่าปีก่อนตามกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นราว 30% จากการรับรู้รายได้เต็มปีจาก 2 โครงการที่เริ่มดำเนินงานเชิงพาณิชย์เมื่อกลางปี 60 และต้นปีนี้ ประกอบกับ โรงไฟฟ้าชีวมวลที่มีการดำเนินงานต่อเนื่องจากปีก่อนทั้ง 4 โครงการ

ขณะเดียวกัน บริษัทอยู่ระหว่างการรอผลประมูลในโครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชน ที่จังหวัดนนทบุรี ขนาดกำลังการผลิต 20 เมกะวัตต์ มูลค่ารวม 4 พันล้านบาท คาดว่าจะรู้ผลภายในไตรมาส 2/61 และมีกำหนดจ่ายกระแสไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ในไตรมาส 3/61

บริษัทคาดว่ามีโอกาสได้เข้าร่วมโครงการค่อนข้างสูง จึงต้องมีการเตรียมพร้อมแหล่งเงินทุน โดยจะมีสัดส่วนจากการกู้เงิน 30% และเงินทุนหมุนเวียน 70% ซึ่งจะช่วยผลักดันให้บริษัททำได้ตามแผนในการตั้งเป้ามีการพัฒนาโรงไฟฟ้าขยะชุมชนกำลังการผลิตรวม 50 เมกะวัตต์

นอกจากนี้ บริษัทอยู่ระหว่างการรอภาครัฐประกาศเปิดให้เข้าร่วมโครงการโรงไฟฟ้าประชารัฐ สำหรับพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กำลังการผลิตรวม 300 เมกะวัตต์ด้วย

นางกนกทิพย์ จันทร์พลังศรี ประธานกรรมการบริหาร TPCH เปิดเผยว่า ปัจจุบันบริษัทฯ มีโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลรวม 110 เมกะวัตต์ และโครงการโรงไฟฟ้าจากพลังงานขยะอีก 10 เมกะวัตต์ รวมทั้งสิ้น 120 เมกะวัตต์ โดยบริษัทได้วางเป้าหมายระยะสั้นไว้ 3 ปีข้างหน้าคือมีกำลังผลิตจากโรงไฟฟ้าชีวมวลเพิ่มเป็น 200 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าขยะรวมเป็น 50 เมกะวัตต์ ซึ่งบริษัทมีความมุ่งมั่นอย่างยิ่งที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายภายในกรอบระยะเวลาที่ตั้งไว้

ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมเข้าร่วมประมูลโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในแบบ VSPP Semi-Firm สำหรับประเภทพลังงานหมุนเวียนชีวมวลและชีวภาพเ ซึ่งคาดว่าจะมีการเปิดให้เข้าร่วมประมูลโครงการทั่วประเทศประมาณ 269 เมกะวัตต์ในปีนี้ โดยบริษัทตั้งเป้าที่จะเข้าร่วมโครงการราว 90 เมกะวัตต์

นางกนกทิพย์ กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทมีโครงการโรงไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างทั้งหมด 4 โครงการ ประกอบด้วย 1.โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล ปัตตานี กรีน (PTG) กำลังการผลิตติดตั้งรวมทั้งสิ้นขนาด 23 เมกะวัตต์ จำหน่ายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าในระบบ Adder ซึ่งขณะนี้ได้ทำการถมที่และปรับหน้าดินเป็นที่เรียบร้อยแล้ว พร้อมตอกเสาเข็ม 2.โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล TPCH1 กำลังการผลิตติดตั้งรวมทั้งสิ้นขนาด 9.9 เมกะวัตต์ โดยจำหน่ายให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคในระบบ Feed-in Tariff (FiT)

3.โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล TPCH2 กำลังการผลิตติดตั้งรวมทั้งสิ้นขนาด 9.9 เมกะวัตต์ โดยจำหน่ายให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคในระบบ Feed-in Tariff (FiT) และ 4.โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล TPCH5 กำลังการผลิตติดตั้งรวมทั้งสิ้นขนาด 6.3 เมกะวัตต์ โดยจำหน่ายให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคในระบบ Feed-in Tariff (FiT)

นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนาอีก 1 โครงการ คือโครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชน สยาม พาวเวอร์ (SP) กำลังการผลิตติดตั้งขนาด 9.5 เมกะวัตต์ โดยจำหน่ายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้านครหลวงในระบบ Feed-in Tariff (FiT) ซึ่งทางบริษัทได้ทำการยื่นคำร้องและข้อเสนอขายไฟฟ้าเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานจะประกาศรายชื่อผู้ที่ผ่านการพิจารณาตามความพร้อมภายในวันที่ 30 เม.ย.61

สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลที่มีการดำเนินงานเต็มปีในปีที่ผ่านมาทั้ง 4 โครงการ ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าชีวมวลช้างแรก ไบโอเพาเวอร์ (CRB) ,โรงไฟฟ้าชีวมวลแม่วงศ์ เอ็นเนอยี่ (MWE), โรงไฟฟ้าชีวมวลมหาชัย กรีน เพาเวอร์ (MGP) และโรงไฟฟ้าชีวมวลทุ่งสัง กรีน (TSG ) นั้น โดยแต่ละโครงการมีค่าเฉลี่ยของ Sale Capacity Factor เกิน 90% ทุกโครงการ

ส่วนอีก 2 โครงการที่เริ่มดำเนินงานเชิงพาณิชย์เมื่อกลางปีที่ผ่านมา คือ โรงไฟฟ้าชีวมวล พัทลุง กรีน เพาเวอร์ (PGP) และต้นปี 61 คือโรงไฟฟ้าชีวมวลสตูล กรีน เพาเวอร์ (SGP) ก็มีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นเรื่อยๆ ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม บริษัทได้เล็งเห็นโอกาสที่ดีในการลงทุนในอนาคต เนื่องจากเป็นการเปิดประมูลรับซื้อไฟฟ้าประเภทชีวมวลที่ทางบริษัทมีความเชี่ยวชาญและเป็นการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (VSPP) เป็นโครงการขนาดไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นขนาดที่ทางบริษัทมีความชำนาญในการลงทุนและดำเนินการ ณ ปัจจุบันแล้ว

นอกจากนี้ บริษัทยังวางเป้าหมายที่จะลดต้นทุนในแต่ละโครงการ เพื่อให้มีผลกำไรที่ดีขึ้น โดยบริษัทได้ศึกษาและเพาะปลูกพืชพลังงานเพื่อนำมาเป็นเชื้อเพลิงสำหรับโรงไฟฟ้าที่ดำเนินการในปัจจุบัน ซึ่งจะส่งผลให้ค่าดำเนินการในแต่ละโครงการนั้นลดลง

"พืชพลังงานที่ทางบริษัทฯได้ศึกษาและทำการเพาะปลูกนั้นเป็นพืชที่มีความแข็งแรงทนต่อทุกสภาพอากาศอีกทั้งยังสามารถเจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่แห้งแล้ง ทำให้บริษัทฯ สามารถพัฒนาพืชพลังงานได้ในทุกพื้นที่เป้าหมาย อีกทั้งยังได้มีการพัฒนาและนำเข้าเทคโนโลยีใหม่เข้ามาในแต่ละโครงการ โดยมุ่งเน้นที่จะนำทรัพยากรทางธรรมชาติที่มีอยู่แล้วมาก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับโครงการซึ่งจะส่งผลดีในอนาคตให้กบบริษัทฯ รวมทั้งนักลงทุนด้วย" นางกนกทิพย์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ