โบรกฯเชียร์"ซื้อ"KBANK เล็งกำไรปีนี้ฟื้นตัวจากตั้งสำรองฯลดลง-เริ่มเห็นสัญญาณชะลอตัวลงของ NPL

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday March 22, 2018 16:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

โบรกเกอร์เชียร์"ซื้อ"หุ้นธนาคารกสิกรไทย (KBANK) มองกำไรปีนี้ฟื้นตัวจากการตั้งสำรองหนี้ฯที่คาดว่าจะลดลง หลังจากที่ปีก่อนได้ตั้งสำรองไว้มากพอที่จะรองรับเกณฑ์ใหม่ และคุณภาพหนี้ที่ดีขึ้นมาก โดยคาดว่ากำไรสุทธิปีนี้จะอยู่ในช่วง 3.98-4.5 หมื่นล้านบาท เติบโตจากปีที่แล้วที่มีกำไรสุทธิ 3.43 หมื่นล้านบาท ซึ่งลดลงจากปี 2559

ทั้งนี้ คาดสินเชื่อปีนี้จะเติบโตราว 6% ขณะที่ตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ก็น่าจะทรงตัวราว 3.3-3.4% โดย NPL ได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว และหลังจากนี้จะเริ่มเห็นสัญญาณที่ชะลอตัวลง อย่างไรก็ดี ยังต้องระมัดระวังเพราะยังอยู่ในช่วงของปรับตัวตามมาตรฐานบัญชีใหม่

นอกจากนี้ ได้เห็น Upside ของประมาณการหากเกิดเหตุการณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งน่าจะทำให้ธนาคารปรับขึ้นอัตรา MLR และ MRR ตาม และการลดลงของต้นทุนความเสี่ยงจากการให้สินเชื่อ (Credit cost) ซึ่งปัจจุบันอัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage Ratio) ก็อยู่ในระดับที่น่าพอใจแล้ว

ราคาหุ้น KBANK อยู่ที่ 219 บาท ลดลง 3.00 บาท (-1.35%) ขณะที่ SET +0.12%

          ฟินันเซีย ไซรัส                  ซื้อ                      264.00
          เอเอสแอล                     ซื้อ                      262.00
          หยวนต้า (ประเทศไทย)           ซื้อ                      260.00
          บล.โนมูระ พัฒนสิน               ซื้อ                      256.00
          อาร์เอชบี (ประเทศไทย)          ซื้อ                      250.00
          เคทีบี (ประเทศไทย)             ซื้อ                      246.00

นายธนเดช รังษีธนานนท์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.อาร์เอชบี (ประเทศไทย) ให้เหตุผลที่แนะ"ซื้อ"หุ้น KBANK เนื่องจากกำไรปีนี้คาดว่าจะฟื้นตัวขึ้น หลัก ๆ มาจากการตั้งสำรองหนี้ฯที่ลดลง เนื่องจากปีที่แล้วตั้งสำรองฯไว้จำนวนมาก ซึ่งเตรียมไว้พอควรแล้วสำหรับเกณฑ์ใหม่ โดยคาดว่าสินเชื่อของ KBANK ในปีนี้จะเติบโตประมาณ 6% เช่นเดียวกับที่ธนาคารตั้งเป้าหมายการเติบโตสินเชื่อปีนี้ไว้ที่ 6-7%

ขณะที่ตัวเลข NPL ในปีนี้ก็คาดว่าจะปรับตัวขึ้นในอัตราที่ช้าลง เนื่องจากทางธนาคารมีการจัดการที่ดี โดยอาจจะตัดจำหน่ายหนี้สูญ หรือขายออกมา ทำให้ตัวเลข NPL ในปีนี้คาดว่าจะอยู่ประมาณ 3.3% เช่นเดียวกับที่ธนาคารตั้งเป้าไว้ 3.3-3.4% สำหรับรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยปีนี้คาดว่าจะเติบโต 1.5% ซึ่งเติบโตในอัตราที่ช้าลง ส่วนรายได้ที่มาจากดอกเบี้ยสุทธิคาดว่าจะเติบโต 2.4% อย่างไรก็ดี ยังต้องระมัดระวังเพราะยังอยู่ในช่วงของปรับตัวตามมาตรฐานบัญชีใหม่

พร้อมคาดการณ์กำไรสุทธิปี 2561 ไว้ที่ 3.98 หมื่นล้านบาท เติบโต 16% จากปี 2560 ที่มีกำไรสุทธิ 3.43 หมื่นล้านบาท ซึ่งลดลงจากระดับกำไรสุทธิ 4.02 หมื่นล้านบาทในปี 2559

ด้านบล.ฟินันเซีย ไซรัส ระบุในบทวิเคราะห์ฯแนะ"ซื้อ"หุ้น KBANK จากแนวโน้มการฟื้นตัวของผลกำไรในปี 2561 และคุณภาพหนี้ที่ดีขึ้นมาก โดยยังคงประมาณการสินเชื่อเติบโต 6% , ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) 3.41% , Credit cost ที่ 1.85% และ Cost to income ratio ที่ 43% พร้อมคาดการณ์กำไรสุทธิปี 2561 ที่ 4.08 หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ตาม เห็น Upside ของประมาณการหากเกิดเหตุการณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งน่าจะทำให้ธนาคารปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย MLR และ MRR ตาม และการลดลงของ Credit cost ซึ่งปัจจุบัน Coverage ratio อยู่ในระดับที่น่าพอใจแล้ว

ส่วน บล.เคทีบี (ประเทศไทย) ยังคงคำแนะนำ "ซื้อ" หุ้น KBANK เนื่องจากการตั้งสำรองได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้วและมีแนวโน้มที่จะปรับตัวลดลงได้ในปี 2561 ซึ่งจะส่งผลดีต่อกำไรสุทธิในปี 2561 ที่จะกลับมาเติบโตได้โดดเด่นถึง 15% จากปีก่อน มาอยู่ที่ 4 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ NPL ได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว และหลังจากนี้จะเริ่มเห็นสัญญาณที่ชะลอตัวลง โดยคาดว่า NPL จะอยู่ที่ระดับ 3.3%-3.4%

สำหรับบล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ยังคงประมาณการกำไรสุทธิในปี 2561 ของ KBANK ที่ 4.5 หมื่นล้านบาท เติบโต 32% จากปีที่แล้ว เด่นสุดในกลุ่มธนาคาร จากสินเชื่อภาคธุรกิจขยายตัวดีตามแผนลงทุนภาครัฐ และ Credit cost ผ่านจุดสูงสุดแล้วในไตรมาส 4/60 จากการเร่งตั้งสำรอง ขณะที่คุณภาพสินทรัพย์ดีขึ้นภาระนี้จะลดลงในปีนี้

ด้าน บล.โนมูระ พัฒนสิน จัดให้หุ้น KBANK เป็น Top pick จากคาดผลประกอบการเติบโตโดดเด่นในนี้เพิ่มขึ้น 28% จากปีก่อน เมื่อเทียบกับกลุ่มที่คาดว่าจะมีอัตราเติบโต 14% จากปีก่อน กอปรกับคาดว่าปัญหาคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารจะค่อย ๆ ดีขึ้น และหากปัญหา NPL จบลงได้ โดยคาด KBANK จะเป็นธนาคารที่มีการเติบโตแบบยั่งยืนได้ดีที่สุด จากการลงทุนด้านเทคโนโลยีที่ทำมาอย่างต่อเนื่องรวมถึงกลยุทธ์ customer centric ทำให้สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ และสามารถเป็นธนาคารหลักของลูกค้าเกือบทุกกลุ่ม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ