(เพิ่มเติม) SCB เผยยกเลิกค่าธรรมเนียมธุรกรรมออนไลน์กระทบรายได้ราว 1 พันลบ. ,ยัน PACE ยังมีสถานะเป็นลูกหนี้ปกติ

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday April 5, 2018 18:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) เปิดเผยว่า รายได้ของธนาคารได้รับผลกระทบเล็กน้อยจากโปรโมชั่นฟรีค่าธรรมเนียมธุรกรรมออนไลน์ เนื่องจากรายได้ดังกล่าวมีสัดส่วนน้อยกว่า 5% ของรายได้ค่าธรรมเนียมและค่าบริการรวม หรือคิดเป็นผลกระทบต่อรายได้ประมาณ 1 พันล้านบาท

ขณะที่ธนาคารมั่นใจว่าปีนี้จะสามารถคุมหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ตามเป้าหมายไม่เกิน 3% จากสิ้นปีก่อนอยู่ที่ระดับ 2.8% แม้ลูกค้าสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) และสินเชื่อบ้านมีหนี้เสียเพิ่มขึ้นบ้าง

นายอาทิตย์ นันทวิทยา กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของ SCB กล่าวว่า ผลกระทบของการยกเว้นค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมผ่านช่องทางดิจิทัลทั้ง Mobile Banking และ Internet Banking จะส่งผลกระทบต่อรายได้ของธนาคารเล็กน้อย เนื่องจากรายได้ค่าธรรมเนียมในส่วนที่ธนาคารยกเลิกไปคิดเป็นสัดส่วนน้อยกว่า 5% ของรายได้ค่าธรรมเนียมและค่าบริการรวม หรือรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยที่ปีก่อนอยู่ที่ 3.6 หมื่นล้านบาท โดยผลกระทบจากการยกเว้นค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมผ่านช่องทางดิจิทัลดังกล่าวจะมีผลกระทบต่อรายได้ของธนาคารตั้งแต่ปีนี้ราว 1 พันล้านบาท

แม้ว่าธนาคารจะใช้กลยุทธ์ยกเว้นค่าธรรมเนียมดังกล่าวจะส่งผลต่อรายได้ที่หายไปบางส่วนนั้น ธนาคารก็ได้มีแผนรับมือเพื่อหารายได้จากช่องทางอื่น ๆเข้ามาทดแทน อีกทั้งยังเป็นการกระตุ้นให้ลูกค้าหันมาใช้ช่องทางการทำธุรกรรมผ่าน Mobile Banking และ Internet Banking ซึ่งถือเป็นการลดต้นทุนทางการเงินของธนาคารมากกว่ารายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยที่หายไป และการสนับสนุนลูกค้าเข้าสู่สังคมไร้เงินสดด้วยบริการผ่านช่องทางดิจิทัล

"การยกเว้นค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมผ่านช่องทางดิจิทัลของธนาคาร ถือเป็นการสร้างปรากฏการณ์ในวงการธนาคารไทย และไม่คิดว่าธนาคารอื่น ๆ จะทำตามเรา แต่แผนดังกล่าวอยู่ในแผนของธุรกิจแบบ upside down ของธนาคารที่วางไว้ และทำให้สิ่งที่เราลงทุนไปเกิดประโยชน์ รวมถึงช่วยลดต้นทุนธนาคารลง ไม่ว่าจะเป็นแผนการลดสาขาของธนาคารเป็นไปตามแผนที่วางไว้ ซึ่งปีนี้วางแผนลดสาขาลงอีก 200 สาขา โดยที่ต้นทุนทางการเงินของสาขาอยู่ในระดับสูงถึง 40-50 เท่าเมื่อเทียบกับช่องทางบริการ Mobile Banking ธนาคารยังยืนยันว่าการปรับลดสาขาจะเป็นในลักษณะทยอยลดในพื้นที่ที่มีคนใช้บริการน้อย ส่วนพนักงานก็เช่นกันจะมีการปรับโยกย้ายไปในส่วนที่ต้องการเป็นหลักโดยไม่มีนโยบายไล่พนักงานออก แต่โดยเฉลี่ยต่อปีจะมีพนักงานลาออกเนื่องจากสาเหตุเกษียณอายุและลาออกเองประมาณ 2,000-3,000 คน"นายอาทิตย์ กล่าว

นายอาทิตย์ กล่าวว่า ส่วนรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยในปีนี้ยังมั่นใจว่าจะไม่ติดลบอย่างเช่นปีก่อนที่ติดลบ 2.2% เพราะการยกเว้นค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมผ่านดิจิทัลอยู่ในแผนธุรกิจที่ธนาคารวางไว้แต่แรกแล้ว ซึ่งเธนาคารยังคงเป้าหมายรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยในปีนี้จะยังคงเติบโตในช่วง 0-5% ตามเป้าหมาย ซึ่งได้รวมผลกระทบจากบริการทำธุรกรรมพร้อมเพย์ไว้แล้ว

สำหรับสัดส่วน NPL ในปีนี้ยังมั่นใจว่าจะควบคุมได้ตามเป้าหมายไม่เกิน 3% จากปีก่อนที่ 2.8% แม้ว่าจะยังได้รับผลกระทบจากลูกค้าสินเชื่อเอสเอ็มอีและสินเชื่อบ้านที่ NPL ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว แต่ธนาคารก็ยังคงติดตามและให้ความช่วยเหลือลูกค้า เพื่อรักษารักษาระดับ NPL ไม่ให้เพิ่มขึ้น ประกอบกับการป้องกันความเสี่ยงของธนาคารยังคงมีระดับของอัตราการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ (Coverage ratio) อยู่ในระดับสูง ซึ่งตั้งเป้าหมายรักษาไม่ให้ต่ำกว่า 130% จากสิ้นปีก่อนอยู่ที่ 137%

"การตั้งสำรองในปีนี้จะยังคงอยู่ในระดับปกติ ไม่มีการตั้งสำรองฯพิเศษเพิ่มเติม เพราะปัจจุบันเรามีสำรองส่วนเกินอยุ่ในระดับสูงมากกว่าเกณฑ์แบงก์ชาติที่กำหนด"นายอาทิตย์ กล่าว

ส่วนภาพรวมของการเติบโตของสินเชื่อในปีนี้ที่ธนาคารตั้งเป้าเติบโต 6-8% จากปีก่อนที่เติบโต 4.9% โดยมีสัดส่วนของสินเชื่อแต่ละประเภท แบ่งเป็น สินเชื่อรายย่อย 46% สินเชื่อผู้ประกอบการขนาดใหญ่ 37% และเสินเชื่อเอสเอ็มอี 18% โดยเป็นกลุ่มลุกค้าเอสเอ็มอีขนาดกลาง-ใหญ่ ที่มียอดขายตั้งแต่ 100 ล้านบาท/ปีขึ้นไป

สำหรับกรณีที่นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง ระบุให้ธนาคารปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อให้เอสเอ็มอีขนาดเล็กได้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้นนั้น นายอาทิตย์ กล่าวว่า ในมุมมองของธนาคารจะต้องดูปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับภาวะอุตสาหกรรมที่จะมีผลต่อความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจของลูกค้าและความเสี่ยงในแง่หนี้เสียของธนาคารที่มีโอกาสเกิดขึ้นมาประกอบ ทำให้ปัจจุบันธนาคารยังไม่มีแผนการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ดังกล่าวลง

ส่วนลูกหนี้รายใหญ่อย่างกรณีของ บมจ.เพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น (PACE) ที่ธนาคารให้กู้ยืมไปกว่า 1 หมื่นล้านบาทนั้น ปัจจุบัน PACE ยังดำเนินธุรกิจตามปกติและยังไม่ถูกจัดชั้นเป็นหนี้เสีย ซึ่งปัจจุบันโครงการคอนโดมิเนียมมหานครได้มีการโอนไปแล้ว 60% สร้างรายกลับมาให้กับ PACE อย่างไรก็ตามที่ผ่านมามีปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องของ PACE ซึ่งมาจากความไม่เชื่อและความกังวลของการผิดนัดชำระคืนหนี้ตั๋วสัญญาแลกเงินระยะสั้น (B/E) ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯหลายแห่ง ทำให้กระทบต่อ PACE ที่มีการใช้เงินจากการออกตั๋ว B/E เช่นกัน แต่ล่าสุด PACE ได้ทำการเพิ่มทุน 3-4 พันล้านบาท โดยธนาคารก็ได้เพิ่มทุนเข้าไป 200 ล้านบาท ทำให้ PACE มีสภาพคล่องเพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจได้ต่อไป

ด้านกรณีของบมจ.สหวิริยาสตีลอินดัสตรี (SSI) ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการนั้น โดยใช้ระยะเวลาภายใน 12 ปีเพื่อชำระหนี้คืนหนี้ทั้ง 3 ธนาคาร คือ SCB, ธนาคารกรุงไทย (KTB) และธนาคารทิสโก้ ในกลุ่มบมจ.ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป (TISCO) โดยที่ SCB จะได้รับเงินชำระหนี้คืนจาก SSI ราว 8 พันล้านบาท ภายใน 12 ปี หรือคิดเป็น 40% ของมูลค่าหนี้รวมในส่วนของธนาคาร 2.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งหลังจากเริ่มเข้าแผนฟื้นฟูจนถึงปัจจุบันธนาคารได้รับเงินชำระหนี้คืนมาแล้ว 1.24 พันล้านบาท

ขณะที่ล่าสุดธนาคารได้เข้าถือหุ้นใน SSI จำนวน 4.5 พันล้านหุ้น หรือคิดเป็นสัดส่วน 40.90% ซึ่งการดำเนินงานของ SSI ได้กลับมาฟื้นตัวขึ้น โดยมีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ,ภาษี ,ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) จำนวน 2.88 พันล้านบาท ทำให้ SSI สามารถทยอยชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้ทั้ง 3 ธนาคารได้ โดยธุรกิจของ SSI เฉพาะในประเทศไทยยังมีการเติบโตได้ และแนวทางหลังจากที่ SSI พ้นจากระบวนการฟื้นฟู ธนาคารยังสามารถขายหุ้นที่ถืออยู่ให้กับนักลงทุนที่สนใจ ซึ่งจะทำให้ไม่ส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินโดยรวมของธนาคาร

"กรณีของ PACE ไม่เหมือนกับ SSI เพราะ PACE ยังดำเนินธุรกิจอยู่ ไม่ได้รับผลกระทบจนทำให้บริษัทดำเนินธุรกิจไม่ได้แบบ SSI ที่กระบวนการไปถึงแผนฟื้นฟูแล้ว ซึ่งผมไม่ขอพูดถึงรายละเอียดของ PACE เพราะจะไปกระทบการดำเนินงานของลูกค้า แต่อยากให้นักลงทุนเชื่อว่า PACE ยังเป็นลูกหนี้ปกติของธนาคาร"นายอาทิตย์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ