โบรกฯ มองโอกาสเห็นแบงก์พาณิชย์ควบรวมยังยาวไปอีก 3-5 ปี อาจมีแค่ดีลซื้อพอร์ตบางส่วน

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday April 17, 2018 15:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธนเดช รังษีธนานนท์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.อาร์เอชบี (ประเทศไทย) กล่าวว่า หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.)อนุมัติมาตรการภาษีและค่าธรรมเนียมเพื่อสนับสนุนการควบรวมกิจการธนาคารพาณิชย์ มองว่าในระยะยาวมากกว่า 3-5 ปีมีโอกาสเห็นการควบรวมกิจการธนาคารพาณิชย์เกิดขึ้น โดยเฉพาะการที่ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เป็นผู้ที่ควบรวมธนาคารพาณิชย์ขนาดเล็กที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งปัจจุบันธนาคารพาณิชย์บางแห่งอยู่ระหว่างศึกษาแนวทางดังกล่าว หลังจากที่ธนาคารหลายแห่งเริ่มได้รับผลกระทบจากการแข่งขันยกเว้นค่าธรรมเนียม และการที่เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการทำธุรกิจ

อย่างไรก็ตาม การควบรวมกิจการของธนาคารพาณิชย์เป็นเรื่องที่มีความยุ่งยาก เพราะจะต้องมีการปรับปรุงระบบ การโยกย้ายพนักงาน และการปรับปรุงสาขา ซึ่งมีผลต่อต้นทุนในการควบรวมกิจการ แต่รูปแบบที่ธนาคารพาณิชย์ต่างมีความสนใจที่จะทำมากที่สุด คือ การซื้อพอร์ตของธนาคารอื่นๆ เข้ามาบริหาร ซึ่งเป็นประเภทธุรกิจที่ธนาคารนั้นๆ ยังไม่มี หรือเป็นส่วนธุรกิจที่ต้องการขยายงาน เช่น กรณีของธนาคารทิสโก้ซื้อพอร์ตรายย่อยของธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ไทย มาก่อนหน้าที่จะขายพอร์ตลูกค้าบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลไปให้แก่ซิตี้แบงก์

ทั้งนี้ ในระยะสั้นมองว่ารูปแบบการซื้อพอร์ตของธนาคารอื่นๆ โดยเฉพาะธนาคารขนาดเล็กที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โดยเป็นกลุ่มธนาคารที่มีผลิตภัณฑ์เน้นกลุ่มลูกค้ารายย่อย มีโอกาสที่จะมีดีลการซื้อขายเกิดขึ้นมากที่สุด ซึ่งบางธนาคารจะนำมาเสริมพอร์ตของตนเองให้มีขนาดใหญ่ขึ้น และเป็นการกระจายกลุ่มลูกค้าไปสุ่กลุ่มลูกค้ารายใหม่ที่ธนาคารยังไม่เคยมีมาก่อน และเพื่อเสริมความแข็งแกร่งของธนาคารนั้นๆรองรับการเติบโตในอนาคต

"การที่แบงก์จะควบรวมกันก็ยังมองว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นยากและไม่ได้เกิดขึ้นได้รวดเร็ว เพราะเป็นดีลขนาดใหญ่และหลังจากควบรวมแล้วก็ต้องมีการเชื่อมโยงและปรับปรุงระบบให้เข้ากัน มีการโยกย้ายพนักงาน มีสาขาที่ต้องเข้ามาดูแลเพิ่มอีก ซึ่งเป็นแนวทางที่แบงก์ในปัจจุบันไม่น่าจะทำ แต่แนวทางที่หลายแบงก์สนใจ คือ การซื้อพอร์ตบางส่วนเข้ามา เพื่อต้องการเสริมในสิ่งที่ตัวเองไม่มีมากกว่า นโยบายนี้น่าจะจูงใจในเรื่องนี้ได้ เพราะปัจจุบันแบงก์เล็กที่อยู่นอกตลาดยอมรับว่าการแข่งขันกับแบงก์ที่อยู่ในตลาดก็แข่งขันได้ยาก

ส่วนการควบรวมกิจการของธนาคารใดๆก็คงอาจจะได้เห็นในอีกระยะยาว แต่ก็ตอบไม่ได้ว่าธนาคารใดบ้าง โดยมาตรการที่ออกมาทำให้มองว่านโยบายของภาครัฐก็คงมองไปในอนาคตแล้วว่าการที่แบงก์จะควบรวมกันก็เป็นเรื่องที่ทำให้ธนาคารในระบบมีความแข็งแกร่ง และมีฐานที่ใหญ่ขึ้น เพื่อทำให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นในระบบธนาคารพาริชย์ไทยมากขึ้น เพราะหากระบบธนาคารพาณิชย์ของไทยเกิดมีปัญหาขึ้นมา จะเป็นสิ่งแรกที่ประชาชนจะเกิดความกังวลและไม่มั่นใจ"นายธนเดช กล่าว

สำหรับการควบรวมระหว่างธนาคารขนาดใหญ่ของไทยนั้น เชื่อว่าเป็นเรื่งที่เกิดขึ้นได้ยาก เพราะทั้ง 5 อันดับธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ของไทย ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารกรุงศรีอยุธยา ถือว่ามีความแข็งแกร่งอย่างมาก และเป็นผู้นำตลาดในปัจจุบันและมีจุดเด่นที่แตกต่างกัน

ส่วนโอกาสที่ธนาคารกรุงไทยและธนาคารทหารไทยจะควบรวมกันตามที่เคยมีการคาดการณ์กันไว้นั้น เป็นสิ่งที่ตอบได้ยาก เพราะทั้ง 2 ธนาคารมีการดำเนินธุรกิจที่แตกต่างกัน มีฐานลูกค้าที่แตกต่างกัน ประกอบกับ โครงสร้างและวัฒนธรรมองค์กรของทั้ง 2 ธนาคารยังมีความแตกต่างกันมาก ซึ่งจะต้องเป็นเรื่องในอนาคตว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่ หรืออาจจะมีโอกาสที่ธนาคารพาณิชย์ของรัฐได้ควบรวมกัน หรือในอีกมุมมองเพื่อเป็นการรองรับการหาพันธมิตรใหม่ของธนาคารอิสลาม โดยที่มาตรการของภาครัฐที่ออกมาจะเป็นตัวที่วางรากฐานไว้ และทำให้ธนาคารพาณิชย์มีการแข่งขันที่ลดลง เพื่อไม่กระทบผลการดำเนินงานที่ปัจจุบันเริ่มมีการเติบโตในอัตราที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งธนาคารพาณิชย์ของไทยและต่างประเทศที่จดทะเบียนในประเทศไทยปัจจุบันมีอยู่เกือบ 30 ธนาคาร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ