"โอสถสภา"ยื่นไฟลิ่งขาย IPO 603.75 ล้านหุ้น เข้า SET ใช้ขยายธุรกิจทั้งใน-ตปท., คืนเงินกู้

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday April 18, 2018 10:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.โอสถสภา ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล (ไฟลิ่ง) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญแก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 603,750,000 หุ้น ประกอบด้วย หุ้นสามัญเพิ่มทุนที่เสนอขายโดยบริษัทจำนวนไม่เกิน 506,750,000 หุ้น และหุ้นสามัญเดิมที่เสนอขายโดย Orizon Limited จำนวนไม่เกิน 67,000,000 หุ้น รวมถึงหุ้นสามัญเดิมที่เสนอขายโดย Y Investment Ltd จำนวนไม่เกิน 30,000,000 หุ้น รวมทั้งหมดคิดเป็นสัดส่วนไม่เกิน 20.10% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทภายหลังการออกและเสนอขายหุ้น IPO โดยมี บล.ภัทร และ บล.บัวหลวง เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน

บริษัทจะขอเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) โดยมีวัตถุประสงค์ใช้เงินที่ได้จากการระดมทุนเพื่อเป็นเงินทุนสำหรับการขยายธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงการพัฒนาปรับปรุงการผลิต การจัดจำหน่ายสินค้า ประสิทธิภาพสินค้าและการดำเนินธุรกิจภายในของบริษัท นอกจากนั้น ยังจะใช้ชำระคืนเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงาน

โอสถสภา ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค โดยมีกลุ่มผลิตภัณฑ์หลักได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องดื่ม และกลุ่มผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนบุคคล และธุรกิจให้บริการผลิตสินค้า บรรจุภัณฑ์ และจัดจำหน่ายสินค้า ด้วยประวัติความเป็นมาที่ยาวนานกว่า 125 ปี

สำหรับโครงการในอนาคต บริษัทอยู่ระหว่างดำเนินโครงการด้านกลยุทธ์เพื่อเพิ่มรายได้จากการขายและเพิ่มประสิทธิภาพโดยเน้นในเรื่องผลตอบแทนการลงทุน โดย ณ วันที่ 31 มี.ค.61 บริษัทฯ คาดว่าจะมีรายจ่ายฝ่ายทุนสำหรับโครงการที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัทให้เริ่มดำเนินการแล้วในปี 61 จำนวนประมาณ 2,668 ล้านบาท และในปี 62 อีกประมาณ 2,613 ล้านบาท

บริษัทกำหนดโครงการหลักตามแผนกลยุทธ์ 4 โครงการ ได้แก่ 1.การก่อสร้างโรงงานผลิตเครื่องดื่มแห่งใหม่ในเมียนมา คาดว่าจะใช้เงินทุนในระยะ 1 ราว 2,000 ล้านบาท จะแล้วเสร็จภายในไตรมาส 4/62 ซึ่งในปีนี่จะใช้งบลงทุนราว 569 ล้านบาท และปี 62 ใช้เงินลงทุนราว 1,431 ล้านบาท ขณะที่บริษัทมีแผนจะลงทุนเพิ่มเติมสำหรับระยะที่สองของโครงการดังกล่าว ขึ้นกับอุปสงค์ของตลาดในผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มของบริษัทในเมียนมา

2.การเปลี่ยนเตาหลอมแก้วใหม่ที่โรงงานผลิตขวดแก้ว คาดว่าจะใช้เงินลงทุนทั้งหมด 868 ล้านบาท ซึ่งลงทุนไปในปี 60 เท่ากับ 152 ล้านบาท และคาดว่าในปีนี้ตจะลงทุนอีก 716 ล้านบาท โดยเตาหลอมแก้วใหม่ช่วยให้บริษัทขยายอายุการดำเนินงานโรงงานผลิต ออกไป และปรับปรุงคุณภาพและประสิทธิภาพของสายการผลิตให้ดีขึ้น และทำให้สามารถผลิตขวดแก้วน้ำหนักเบาสำหรับบรรจุเครื่องดื่มอันเป็นการใช้วัตถุดิบให้ได้ประโยชน์มากยิ่งขึ้น รวมถึงช่วยลดต้นทุนการผลิต

3.การสร้างเตาหลอมแก้วใหม่ที่โรงงานผลิตขวดแก้วในสวนอุตสาหกรรมโรจนะ คาดว่าจะใช้เงินลงทุนทั้งหมด 1,800 ล้านบาท ในช่วงปี 61 และ 62 เท่ากับ 618 ล้านบาท และ 1,182 ล้านบาทตามลำดับ โดยบริษัทจะปิดเตาหลอมสองเตาในโรงงานสมุทรปราการหลังจากเริ่มดำเนินการเตาหลอมแก้วใหม่นี้ และบริษัทยังได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีตามบัตรส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน

4.การเพิ่มสายการผลิตสินค้าตราซี-วิตใหม่อีก 44 ล้านขวด/ปีในปี 61 คาดว่าจะใช้เงินลงทุน 80 ล้านบาท ซึ่งจะใช้ในปีนี้จะใช้เงินลงทุนเท่ากับ 80 ล้านบาท (โดยส่วนหนึ่งเป็นรายจ่ายฝ่ายทุนที่ยกมาจากปี 60)

นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนลงทุนในปีนี้ที่จะใช้เพื่อซ่อมบำรุงเครื่องจักรและอุปกรณ์ 206 ล้านบาท และลงทุน 85 ล้านบาทในการใช้เศษแก้วในกระบวนการผลิตขวดแก้วให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นและการปรับปรุงที่ดินและสิ่งปลูกสร้างสำหรับโรงงานผลิตและอาคารสำนักงานของบริษัท 248 ล้านบาท และรายจ่ายลงทุนอื่น ๆ อีก 146 ล้านบาท รวมถึงโรงงานต้นแบบ (Pilot Plant) ที่ใช้ในการทดลองผลิตผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อทดสอบคุณภาพของผลิตภัณฑ์ และให้ผู้บริโภคทดลองก่อนที่จะมีการผลิตเชิงพาณิชย์

ผลการดำเนินงานของบริษัทในปี 60 มีรายได้จากการขาย 25,026.8 ล้านบาท รายได้จากการให้บริการ 850.7 ล้านบาท ส่งผลให้มีรายได้รวม 26,210.7 ล้านบาท จากปี 59 ที่บริษัทมีรายได้รวม 33,003.7 ล้านบาท ขณะที่บริษัทมีค่าใช้จ่ายรวม 22,850.3 ล้านบาท ทำให้บริษัทมีกำไร 2,939.2 ล้านบาท จากปี 59 ที่มีกำไร 2,980.5 ล้านบาท โดยอัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นเป็น 32.6% จากปีก่อนหน้าอยู่ที่ 30% ส่วนอัตรากำไรสุทธิเพิ่มขึ้นเป็น 11.2% จากปีก่อนหน้าอยู่ที่ 9%

ณ สิ้นปี 60 บริษัทมีสินทรัพย์รวม 15,197.6 ล้านบาท หนี้สินรวม 11,758.2 ล้านบาท ส่วนของผู้ถือหุ้นรวม 3,439.4 ล้านบาท

บริษัทชี้แจงว่าในปี 60 รายได้รวมลดลง 6,793.0 ล้านบาท หรือ 20.6% จากการลดลงของรายได้บริการบริหารจัดการด้านซัพพลายเชน 4,252.4 ล้านบาท เนื่องจากบริษัทเลิกธุรกิจจัดจำหน่ายสินค้าของยูนิชาร์ม และการลดลงของยอดขายผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนบุคคลจำนวน 876.7 ล้านบาท เนื่องจากดำเนินโครงการปรับหน่วยสินค้า (SKU Rationalization) ของผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนบุคคล ในปี 60 รวมถึงการลดลงของรายได้จากการขายผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มจำนวน 649.1 ล้านบาท

อย่างไรก็ดี กำไรสุทธิลดลง 41.3 ล้านบาท หรือ 1.4% ขณะที่อัตรากำไรสุทธิเพิ่มขึ้น เนื่องจากโครงการ SKU Rationalization และมาตรการปรับลดต้นทุนการผลิตโดยรวมเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ขณะที่อัตรากำไรจากการดำเนินงานก็ได้รับผลกระทบในทางบวกจากอัตรากำไรขั้นต้นที่ดีขึ้นจากการลดลงของค่าใช้จ่ายในการขายและการบริหารภายหลังจากการปรับโครงสร้างองค์กร และการใช้จ่ายด้านการโฆษณาและส่งเสริมการขายที่ระมัดระวังมากขึ้น

ปัจจุบัน บริษัทมีทุนจดทะเบียนจำนวน 3,003.75 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวน 3,003,750,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท และมีทุนชำระแล้วจำนวน 2,497 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวน 2,497,000,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท ภายหลังเสนอขาย IPO บริษัทจะมีทุนชำระแล้วเป็นจำนวนไม่เกิน 3,003.75 ล้านบาท

ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท ประกอบด้วย นายนิติ โอสถานุเคราะห์ ถือหุ้น 624,250,000 หุ้น คิดเป็น 25% ภายหลังจากเสนอขาย IPO แล้วจะลดสัดส่วนการถือหุ้นลงเหลือ 20.78%, Orizon Limited ถือหุ้น 604,148,600 หุ้น คิดเป็น 24.19% จะลดการถือหุ้นลงเหลือ 537,148,600 หุ้น คิดเป็น 17.88%, นายเพชร โอสถานุเคราะห์ ถือหุ้น 149,735,700 หุ้น คิดเป็น 6% จะลดสัดส่วนการถือหุ้นลงเหลือ 4.98%

ทั้งนี้ บริษัทมีนโยบายจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นไม่น้อยกว่า 40% ของกำไรสุทธิตามงบการเงินรวมของบริษัทหลังหักทุนสำรองต่าง ๆ ทุกประเภทที่กฎหมายและข้อบังคับของบริษัท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ