BBL เผยกำไร Q1/61 เพิ่มขึ้น 8.4% จากงวดปีก่อน จากรายได้ดอกเบี้ย-ค่าธรรมเนียมเพิ่ม แม้เงินให้สินเชื่อลดลง

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday April 20, 2018 07:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารกรุงเทพ (BBL) เผยกำไรสุทธิไตรมาส 1/61 อยู่ที่ระดับ 9,005 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.4 จากไตรมาส 1/60 จากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.2 มาที่ 17,123 ล้านบาท และส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิอยู่ที่ร้อยละ 2.34 สำหรับรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยมีจำนวน 14,414 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 31.8 สาเหตุหลักจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิและกำไรสุทธิจากเงินลงทุน โดยรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิเพิ่มขึ้นส่วนใหญ่จากค่าธรรมเนียมบริการกองทุนรวม และค่าธรรมเนียมจากการอำนวยสินเชื่อ

สำหรับค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานมีจำนวน 12,594 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.6 ขณะที่อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้จากการดำเนินงานลดลงเป็นร้อยละ 39.9

ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2561 ธนาคารมีเงินให้สินเชื่อจำนวน 1,978,511 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 1.3 จากสิ้นปี 2560 จากสินเชื่อลูกค้าธุรกิจ สินเชื่อลูกค้าบุคคล และสินเชื่อกิจการต่างประเทศ สำหรับอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อรวม (NPL) อยู่ที่ร้อยละ 3.8 ขณะที่เงินสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญของธนาคารมีจำนวน 146,807 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในระดับที่เพียงพอรองรับความไม่แน่นอนและกฎเกณฑ์ใหม่ที่จะเกิดขึ้น ตามหลักการตั้งสำรองด้วยความระมัดระวัง

ด้านเงินกองทุน หากนับกำไรสุทธิงวดกรกฎาคมถึงธันวาคม 2560 และกำไรสุทธิในไตรมาส 1/61 หักด้วยเงินปันผลที่จะจ่ายในเดือนพฤษภาคม 2561 เข้าเป็นเงินกองทุน อัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้น อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของ และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารและบริษัทย่อยจะอยู่ในระดับประมาณร้อยละ 18.7 ร้อยละ 17.2 และร้อยละ 17.2 ตามลำดับ ซึ่งอยู่ในระดับที่สูงกว่าอัตราส่วนเงินกองทุนขั้นต่ำตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนด สำหรับส่วนของเจ้าของ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2561 มีจำนวน 405,462 ล้านบาท มูลค่าตามบัญชีเท่ากับ 212.41 บาทต่อหุ้น เพิ่มขึ้น 1.96 บาท จากสิ้นปี 2560

ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมามีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากการส่งออกสินค้าและภาคการท่องเที่ยว สอดคล้องกับการขยายตัวของอุปสงค์ต่างประเทศ โครงสร้างเศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านไปยังเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม นอกจากนี้ยังมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของรัฐบาลที่มีแผนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ของภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ พัฒนาการดังกล่าวสอดคล้องกับแนวโน้มสำคัญสามประการที่ธนาคารตระหนัก และใช้เป็นแนวทางในการดำเนินกิจการในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ได้แก่ การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาค การขยายตัวของเมือง และการเข้าสู่ยุคดิจิทัล ขณะเดียวกัน ธนาคารยังคงแนวทางการบริหารฐานะการเงินด้วยความรอบคอบและระมัดระวัง ควบคู่กับการรักษาสภาพคล่องและเงินกองทุนให้อยู่ในระดับที่สามารถรองรับการขยายธุรกิจในอนาคตและความไม่แน่นอนที่อาจจะเกิดขึ้น เพื่อให้ธนาคารมีเสถียรภาพทางการเงินที่ยั่งยืน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ