รมว.พลังงาน หนุน PTT ซื้อ LNG แหล่งโมซัมบิก แต่ห้ามนำมาคำนวณในระบบ pool gas หวั่นกระทบภาพรวมต้นทุนค่าไฟ

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday April 20, 2018 16:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานยังสนับสนุนให้บมจ.ปตท. (PTT) ซื้อก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จากแหล่งโมซัมบิกเพื่อนำมาค้าขายในพอร์ตการค้าของ ปตท.เอง เพื่อให้เกิดการแข่งขันในประเทศ และจะทำให้ราคาก๊าซธรรมชาติในประเทศถูกลง โดยไม่ให้นำมาคำนวณในระบบการซื้อขายก๊าซธรรมชาติรวม (pool gas) ที่จะมีการส่งผ่านมายังค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ เนื่องจากปัจจุบัน ปตท.มีสัญญาซื้อ LNG ระยะยาวจากกาตาร์ ,เชลล์ ,บีพี และเปโตรนาส รวม 5.2 ล้านตัน/ปี ที่นำมาคำนวณในระบบ pool gas อยู่แล้ว

ขณะที่ปัจจุบันรัฐบาลมีแผนจะเปิดเสรีธุรกิจก๊าซธรรมชาติทั้งระบบ ซึ่งเบื้องต้นเปิดให้บุคคลที่ 3 เข้ามาใช้คลังและท่อก๊าซฯของ ปตท. (Third Party Access) พร้อมกับอนุญาตให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นผู้นำเข้า LNG จำนวน 1.5 ล้านตัน/ปี ซึ่งจะเริ่มในปีนี้ และต่อเนื่องระยะยาวตั้งแต่ปี 62 เพื่อเป็นเชื้อเพลิงป้อนให้กับโรงไฟฟ้าของ กฟผ. โดยราคานำเข้า LNG ของกฟผ.ก็จะไม่ถูกนำมารวมในระบบ pool price เช่นเดียวกัน

"ดังนั้น จึงมีนโยบายควรจะไม่ผูกพันรัฐ ในเรื่องการจัดหา LNG ที่เข้าไปในส่วนของ pool gas เพิ่มเติมจากที่ปัจจุบันมีอยู่แล้ว 5.2 ล้านตัน และควรดำเนินนโยบายเช่นเดียวกับที่เราให้ กฟผ.ดำเนินการ คือไม่รวมราคาการจัดหา LNG เพิ่มเติมจากนี้เป็นส่วนของ pool gas แต่เป็นการจัดหาแยก และเป็นการค้าขายที่แข่งขันกัน จึงมีนโยบายว่าจะไม่รวมก๊าซโมซัมบิกเป็นส่วนการจัดหาที่รวมในราคา pool gas แต่ก็จะสนับสนุนให้ปตท.จัดหาไปทำการค้า LNG ที่จัดซื้อจากโมซัมบิก ซึ่งเป็นการลงทุนของกลุ่ม ปตท.เพื่อเป็นการเพิ่มการค้าขายใน portfolio เช่นเดียวกับผู้ค้าในตลาดสากลที่มี portfolio ไม่ว่าเปโตรนาส เชลล์ บีพี ที่มีการค้าขาย LNG ในตลาดสากล เราก็สนับสนุนให้ ปตท.ไปแข่งขันในตลาดนั้น"นายศิริ กล่าว

นายศิริ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันรัฐบาลเปิดกว้างให้ผู้ประกอบการรายใหม่ สามารถเข้ามาใช้คลัง LNG ที่ปัจจุบัน ปตท.มีอยู่ 1 แห่งในมาบตาพุด ขนาด 11.5 ล้านตัน/ปี และกำลังจะสร้างเพิ่มเติมในพื้นที่หนองแฟบ จ.ระยอง อีก 1 แห่งขนาด 7.5 ล้านตัน/ปี รวมถึงในส่วนคลัง LNG ในรูปแบบเรือลอยน้ำ FSRU (Floating Storage Regisification Unit :FSRU) ที่ กฟผ.จะดำเนินการในอนาคตนั้น ก็จะเปิดให้มีการแข่งขันให้บริการแก่รายอื่นได้ ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) อย่างเสมอภาค ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีรายใหม่เข้ามาใช้บริการ จึงได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์และผลักดันให้ กฟผ.เข้ามาทดลองใช้บริการเพื่อให้สามารถปฎิบัติการได้ ซึ่งเมื่อ กฟผ.เข้ามาใช้บริการได้ก็เชื่อว่าจะสามารถเชิญชวนผู้ประกอบการอื่นเข้ามาใช้บริการได้เพิ่มขึ้น

อนึ่ง ปตท.อยู่ระหว่างการผลักดันที่จะทำสัญญาซื้อขาย LNG กับโมซัมบิกในระยะยาว เนื่องจากเห็นว่าเป็นราคาที่ดีมาก ต่ำกว่าสัญญาการซื้อ LNG ระยะยาวทุกแหล่งที่ไทยทำสัญญานำเข้ามาแล้ว ขณะที่แหล่ง LNG ดังกล่าวจะมาจากโครงการโมซัมบิก โรวูมา ออฟชอร์ แอเรีย วัน ที่ปัจจุบัน บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) ถือหุ้นอยู่ 8.5% ซึ่งมีปริมาณสำรองปิโตรเลียมมากกว่า 75 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต (ลบ.ฟ.) และอยู่ระหว่างการจัดหาสัญญาซื้อขาย LNG กอ่นที่จะพิจารณาตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย (Final Investment Decision:FID) คาดว่าจะมีขึ้นในช่วงครึ่งหลังปีนี้ และน่าจะเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในปี 66 กำลังการผลิตระยะแรก 12 ล้านตัน/ปี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ