ฟิทช์ ชี้มาตรการจูงใจควบรวมส่งผลภาพรวมอุตฯแบงก์เปลี่ยนแปลงคาดแบงก์ใหญ่ 1-2 รายมาร์เก็ตแชร์พุ่ง

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday April 23, 2018 14:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด มองว่า มาตรการจูงใจด้านภาษีที่สนับสนุนให้ธนาคารไทยควบรวมกิจการ อาจส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญต่อสภาวะอุตสาหกรรมธนาคาร โดยธนาคารที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศเพียง 1 หรือ 2 ราย อาจครองส่วนแบ่งทางการตลาดในประเทศในระดับที่สูงมากเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมโดยรวม แต่ทั้งนี้ธนาคารชั้นนำขนาดใหญ่ในประเทศไทยน่าจะมีสถานะที่แข็งแกร่งขึ้นในการรับมือกับการแข่งขันจากธนาคารต่างชาติ ซึ่งการแข่งขันน่าจะรุนแรงขึ้นในอนาคต ตามความคืบหน้าของแนวทางการรวมตัวภาคการธนาคารอาเซียน (ASEAN Banking Integration Framework หรือ ABIF)

ประเทศไทยกำลังอยู่ระหว่างการเจรจาทวิภาคีกับประเทศมาเลเซีย ประเทศอินโดนีเซีย และประเทศพม่า ภายใต้กรอบการรวมตัวภาคการธนาคารอาเซียน ซึ่งจะช่วยลดข้อจำกัดด้านการขอใบอนุญาตในการประกอบกิจการธนาคารระหว่างประเทศ และสร้างโอกาสในการขยายกิจการสำหรับธนาคารที่มีความแข็งแกร่ง ตามกรอบการรวมตัวภาคการธนาคารอาเซียนดังกล่าว ธนาคารที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ธนาคารอาเซียน (Qualified ASEAN Banks) จะได้รับอนุญาตให้ดำเนินกิจการได้อย่างอิสระมากขึ้นในอาเซียน อย่างไรก็ตามความคืบหน้าของการเจรจาและการดำเนินตามนโนบายดังกล่าว น่าจะเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปและอาจขึ้นอยู่กับบรรยากาศทางการเมือง

ธนาคารพาณิชย์ไทยขนาดใหญ่มีเครือข่ายธุรกิจและฐานลูกค้าที่แข็งแกร่ง ผลิตภัณฑ์และแหล่งรายได้จากธุรกิจที่มีความหลากหลาย และมีศักยภาพในการทำกำไรตลอดวัฏจักรธุรกิจ (business cycle) ที่ดีกว่าเมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์ขนาดกลางและขนาดเล็กในประเทศ ทั้งนี้สะท้อนได้จากอันดับเครดิตของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ที่อยู่ในระดับสูงกว่า

อย่างไรก็ตาม ธนาคารพาณิชย์ไทยขนาดใหญ่ ยังคงมีขนาดสินทรัพย์ที่เล็กกว่าเมื่อเทียบกับธนาคารของประเทศสิงคโปร์ 3 แห่ง และธนาคารขนาดใหญ่ของประเทศมาเลเซีย 2 แห่ง ในขณะที่มีขนาดสินทรัพย์ของธนาคารขนาดใหญ่ไทยเทียบเคียงได้กับธนาคารขนาดใหญ่ของประเทศอินโดนีเซีย โอกาสในการเติบโตจากการขยายกิจการจากการดำเนินงานตามปกตินับว่าค่อนข้างจำกัด เนื่องจากการชะลอตัวของสภาวะเศรษฐกิจในช่วงปีที่ผ่านมา โดยภาคธนาคารไทยมีอัตราการเติบโตของสินเชื่อเพียง 2.4% ในปี 2559 และ 4.6% ในปี 2560 แต่อย่างไรก็ตามแนวโน้มการเติบโตของสินเชื่อมีสัญญาณว่าน่าจะปรับตัวดีขึ้นในปี 2561

รัฐบาลไทยได้ชี้แจงถึงมาตรการจูงใจด้านภาษีใหม่ดังกล่าวว่ามีเป้าหมายเพื่อให้ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ในประเทศมีขนาดใหญ่มากขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับภูมิภาค ทั้งนี้ ฟิทช์ มองว่านโยบายดังกล่าวเป็นนโยบายที่เอื้ออำนวยและช่วยสนับสนุนธนาคารพาณิชย์ไทยขนาดใหญ่ ซึ่งนับว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงทิศทางของนโยบายหลังจากที่รัฐบาลไทยอนุญาตให้ธนาคารต่างประเทศเข้ามาซื้อกิจการธนาคารในประเทศหลายแห่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยรายล่าสุดคือธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ซึ่งถูกซื้อกิจการโดยธนาคารแห่งโตเกียว – มิตซูบิชิยูเอฟเจ (Bank of Tokyo-Mitsubishi UFJ)

ธนาคารขนาดใหญ่น่าจะได้รับประโยชน์จากการมีขนาดที่ใหญ่ขึ้น (economies of scale) และมีความสามารถมากขึ้นในการให้บริการแก่ลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ เนื่องจากธนาคารจะสามารถให้สินเชื่อแก่ลูกค้ารายใหญ่ได้ในระดับที่สูงขึ้นตามเกณฑ์การกำกับลูกหนี้รายใหญ่ (large exposure limits)

การที่ธนาคารในประเทศมีขนาดใหญ่ขึ้นอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อความมั่นคงของระบบเศรษฐกิจและการเงินในกรณีที่ธนาคารไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ อย่างไรก็ตามธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีการประกาศกรอบการกำกับดูแลกิจการที่เข้มงวดขึ้นและกำหนดเกณฑ์เงินทุนขั้นต่ำที่สูงขึ้น สำหรับธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศ (หรือ D-SIB) เมื่อเดือนกันยายน 2560 ซึ่งเป็นความก้าวหน้าอีกขั้นในการดำเนินการตามหลักเกณฑ์สากลในการกำกับดูแลสถาบันการเงินตามเกณฑ์ Basel III ทั้งนี้ธนาคารพาณิชย์ไทยขนาดใหญ่ที่สุด 5 ราย ได้รับการประกาศสถานะเป็น D-SIB และทุกรายมีอัตราส่วนเงินกองทุนที่สูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำใหม่ที่จะทะยอยเพิ่มขึ้นจนถึงปี 2563 อยู่ค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตามเกณฑ์อัตราส่วนเงินกองทุนขั้นต่ำของ D-SIB ในประเทศไทย ยังต่ำกว่าเกณฑ์ของประเทศอื่นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ทั้งนี้ มาตรการจูงใจด้านภาษีดังกล่าว รวมถึงการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีการโอนทรัพย์สิน อากรแสตมป์ภาษีเงินได้สำหรับผู้ถือหุ้นของธนาคารพาณิชย์ และภาษีธุรกิจเฉพาะ นอกจากนี้ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการควบรวมกิจการจะสามารถหักภาษีได้ในอัตราที่ขึ้นอยู่กับสินทรัพย์ของธนาคารหลังจากการควบรวมกิจการ โดยอยู่ในช่วงตั้งแต่ 1.25 เท่าของค่าใช้จ่าย สำหรับธนาคารที่มีสินทรัพย์ในช่วง 1-2 ล้านล้านบาท (3.2-6.4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ) ถึง 2 เท่าของค่าใช้จ่าย สำหรับธนาคารที่มีสินทรัพย์มากกว่า 4 ล้านล้านบาท (1.28 แสนล้านเหรียญสหรัฐ)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ